ส่งออกไทยครึ่งปีแรก 2023 หดตัว 5.4% กสิกร-กรุงไทย คาดภาพรวมทั้งปีนี้ติดลบ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มูลค่าส่งออกของไทย 6 เดือนแรก (ม.ค.- มิ.ย.) ปี 2023 อยู่ที่ 141,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ​ (ราว 4.79 ล้านล้านบาท) หดตัว 5.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่เฉพาะเดือน มิ.ย. หดตัว 6.4%YoY ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 

โดยการหดตัวนี้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซาจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อการผลิตและการบริโภคยังคงตึงตัว ขณะเดียวเศรษฐกิจในประเทศหลักยังไม่เติบโตสูงนัก

ในช่วง 6 เดือนแรก การส่งออกบางตลาดยังคงหดตัว อาทิ

  • สหรัฐฯ หดตัว 3.6%YoY
  • จีน หดตัว 3.7%YoY
  • ญี่ปุ่น หดตัว 1.3%YoY  
  • EU27 หดตัว 2.4%YoY
  • ASEAN5 หดตัว 7.5%YoY

ขณะที่มูลค่าการนำเข้า 6 เดือนแรกอยู่ที่ 147,477.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ​ หดตัว 3.5%YoY สำหรับดุลการค้า 6 เดือนแรกขาดดุลสะสม 6,307.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การส่งออกไทยครึ่งปีแรกนี้ที่หดตัว 5.4%YoY เป็นไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกไทยในเดือน มิ.ย. 2023 ยังถือว่าหดตัวน้อยกว่าคาดที่ 6.4%YoY แม้มีปัจจัยฐานที่อยู่ในระดับสูงของปีก่อนหน้า แต่การส่งออกไปยังตลาดจีน (โดยเฉพาะผลไม้) ที่กลับมาเป็นบวกที่ 4.5%YoY

ทั้งนี้มุมมองในครึ่งปีหลัง 2023 มองว่าการส่งออกไทยยังมีแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง และยังมีความท้าทายอื่น ๆ ที่อาจเข้ามากระทบต่อภาพรวมการส่งออกไทย อาทิ

  • สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร 
  • ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ 
  • ความผันผวนของค่าเงิน 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจัยฐานของการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 มีระดับลดลงโดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้าย จึงอาจเห็นภาพการส่งออกไทยกลับมาเป็นขยายตัวได้บ้าง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงประมาณการภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 หดตัวที่ 1.2%YoY

ด้าน Krungthai COMPASS ประเมินว่า ผู้ส่งออกจะเผชิญกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวได้ หลังจากที่หดตัว 5.4%YoY ในช่วงครึ่งปีแรก 

ส่วนหนึ่งที่ ตัวเลขในครึ่งปีหลัง 2023 จะกลับมาเป็นบวก เนื่องจากผลของฐานต่ำในปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกต่อเดือนอาจฟื้นตัวได้อย่างจำกัดเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มชะลอตัว ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยฯ ที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Manufacturing PMI) ยังอยู่ในระดับหดตัวต่อเนื่อง อีกทั้งเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัวช้ากว่าคาด ส่งผลให้การฟื้นตัวของอุปสงค์โลกในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกของภูมิภาคที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และข้อมูลเร็วการส่งออกของเกาหลีใต้เดือน ก.ค. ใน 20 วันแรกยังหดตัวสูงถึง -16.5%YoY สะท้อนถึงอุปสงค์โลกยังอ่อนแอ

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS คาดว่าการส่งออกของไทย ปี 2023 จะติดลบที่ 1.6% โดยอาจมีการปรับตัวเลขอีกครั้ง หลังจากสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/2023

ที่มา กระทรวงพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย (ณ มี.ค. 2023)

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา