บทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 รวมไปถึงประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามอง

บทวิเคราะห์สำหรับในไตรมาส 2 สำหรับเศรษฐกิจไทย โดยมุมมองจาก SCB EIC ซึ่งมีประเด็นหลายๆ ประเด็นทางเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อไทยที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

ภาพจาก Shutterstock

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่าแม้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะดูดีมากขึ้น แต่ช่วงไตรมาส 2 ก็ยังน่าเป็นห่วง

มองเศรษฐกิจโลกแบบภาพรวม

ยรรยง ได้กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกยังเป็นขาขึ้น ซึ่งดูได้จากปริมาณการค้าโลกที่สูงขึ้น ปริมาณของคนว่างงานน้อยลง ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และรวมไปถึงเรื่องสำคัญอย่างอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นด้วย

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐในตอนนี้อยู่ในช่วง Late Cycle Expansion ซึ่งต่างกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอยู่ในช่วง Early Cycle Expansion ส่วนทางด้านกลุ่มยูโรโซนและรวมไปถึงประเทศญี่ปุ่น ตัวเลขทางการเจริญทางเศรษฐกิจนั้นดูดีมากในรอบหลายปีเลยทีเดียว

สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยคาดว่าทางธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้ง ส่วนทางธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB และรวมไปถึงธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BoJ นั้น ทาง EIC มองว่าไม่น่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้

EIC มอง GDP ไทยปีนี้โต 4%

สำหรับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมนั้นทาง EIC ยังคงให้ประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ 4% ซึ่งได้รับผลมาจากการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ซึ่งการส่งออกคาดว่าปีนี้จะโตได้ถึง 5% และการท่องเที่ยว ซึ่งปีนี้ทาง EIC คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จะโตกว่าปีที่แล้วถึง 7.9%

ด้านการลงทุนจากภาคเอกชนนั้นมีแนวโน้มที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการนำเข้ายานพาหนะและสินค้าทุน ซึ่งมาจากการใข้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก ส่วนการก่อสร้างยังคงมีการชะลอตัว คาดว่าปีนี้น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าเดิม

ข้อมูลจาก SCB EIC

หนี้ครัวเรือนยังกดดัน

หนี้สินภาคครัวเรือนยังเป็นเรื่องกดดันสำหรับภาคการบริโภคภายในประเทศ โดยสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นมาจากไตรมาส 3 ของปีที่ผ่านมาเล็กน้อยมาอยู่ที่ 77.5% ต่อ GDP ของไทย โดยจุดสูงสุดที่ 80.8% ต่อ GDP นั้นในช่วงปลายปี 2015 ถึง ต้นปี 2016

ยรรยง มองว่าสัดส่วนหนี้ในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยอาจเกิดมาจากเรื่องของรถยนต์คันใหม่ (กราฟขวามือ) ซึ่งสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด อาจมาจากกลุ่มผู้มีรายได้สูง ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยนั้นหนี้อาจทรงตัวหรือสูงขึ้นด้วยซ้ำ

ข้อมูลจาก SCB EIC

อัตราการว่างงานยังสูงขึ้นถึงแม้เศรษฐกิจจะเติบโต

นอกจากประเด็นหนี้ครัวเรือนที่กดดันภาคการบริโภคในประเทศ เรื่องของการว่างงานก็เป็นอีกประเด็นที่กดดันทำให้ภาคการบริโภคในประเทศยังอ่อนแอ เพราะว่าทิศทางของการว่างงานยังเป็นขาขึ้น ทั้งๆ ที่การจ้างงานสูงขึ้น และเรื่องของผู้มีงานทำล่วงเวลา หรือ OT นั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงรายได้ลูกจ้างเมื่อเฉลี่ยใน 9 เดือนของปีที่แล้วลดลง 0.2%

ยรรยง มองว่า อาจมีเรื่องของการใช้เรื่องของ Automation อย่างเช่นหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมบ้างแล้ว ทำให้แรงงานว่างงานเพิ่มขึ้น

สำหรับวิธีแก้ปัญหานี้ ยรรยง มองว่ารัฐควรจะร่วมมือกับเอกชนในการพัฒนาฝีมือของแรงงาน เพื่อให้ได้แรงงานที่มีฝีมือมากขึ้น รายได้ของแรงงานก็มากขึ้น แรงกดดันในเรื่องของภาคบริโภคในประเทศก็น่าจะคลี่คลายลง

3 ความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง

ความเสี่ยงที่จะต้องจับตามองในไตรมาสที่ 2 นั้น ทาง EIC แนะนำอยู่ 3 เรื่องสำคัญๆ ถึงแม้ว่า 3 ประเด็นจะไม่กระทบกับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมากนัก แต่ภาคธุรกิจควรจะเพิ่มความระมัดระวัง

  1. ประเด็นสำคัญคือเรื่องของ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน สำหรับเรื่องนี้นั้นไทยอาจได้รับผลกระทบที่จำกัด ซึ่งสินค้าไทยที่ส่งออกไปในรายชื่อที่สหรัฐจะตั้งกำแพงภาษีนั้นน้อยมากๆ ทาง EIC มองว่าเรื่องนี้ในท้ายที่สุดแล้วจะสามารถเจรจาได้ แต่สำหรับสหรัฐนั้นทางผู้นำอย่างทรัมป์ก็คาดเดาได้ลำบาก
  2. การแข็งค่าของเงินบาท เหตุผลหลักๆ มาจากเรื่องของการลงทุนที่ซบเซา ราคาน้ำมันที่ลดลง และรายได้ที่เข้ามาในประเทศมหาศาล เช่น ท่องเที่ยว ล่าสุดค่าเงินบาทแข็งค่าไป 13% แล้ว
  3. ความผันผวนของตลาดการเงิน โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ทางธนาคารกลางสหรัฐกำลังจะกลับมาใช้นโยบายทางการเงินแบบปกติ ทำให้ราคาของสินทรัพย์แต่ละชนิดมีความผันผวนสูง

ที่มาบทวิเคราะห์ฉบับเต็มจาก SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ