สรุปเทรนด์การจ้างงานปี 2565 ของประเทศไทย ค่าแรงเพิ่ม 4.5% ฝ่ายขาย-วิศวกร-เทคฯ หายากที่สุด

เทรนด์เรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ และการจ้างงาน เป็นอีกกระแสที่น่าจับตาในปี 2565 เพราะตอนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หลายบริษัทพิจารณาเรื่องรับพนักงานเพื่อขยับขยายธุรกิจกันอีกครั้ง 

ภาพรวมตลาดแรงงาน จึงเป็นประเด็นที่คนทำงานที่กำลังพิจารณาอนาคตของตัวเอง ไปจนถึงบริษัทที่กำลังแข่งขันในศึกแย่งชิงคนเก่งต้องติดตามใกล้ชิด

ซึ่งวันนี้ Brand Inside มีโอกาสได้ไปฟัง Mercer ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ระดับโลก เล่าเกี่ยวกับ “รายงานผลสํารวจค่าตอบแทนตลาดแรงงานไทย 2565” ที่เพิ่งออกเมื่อไม่นานมานี้ และเราก็จะมาสรุปรายงานดังกล่าวให้ผู้อ่านทุกท่านได้ติดตามกัน 

เศรษฐกิจฟื้นจ้างงานเพิ่ม

สิ่งที่ทำให้ตลาดแรงงานกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง บริษัทอยากจ้าง คนทำงานอยากย้ายไปหาโอกาสใหม่ ๆ ก็คือเศรษฐกิจที่พูดได้ว่าผ่านพ้นจุดที่เรียกว่าวิกฤติไปได้แล้ว คาดกันว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะโตได้ 3.2% อาเซียนจะโตก้าวกระโดดกว่านั้นที่ 5.3% 

ในขณะที่ GDP ของไทยปี 2565 จะโตที่ 3.3% (ปีก่อน 1.5%) เพราะนักท่องเที่ยวจะเข้ามาเยอะขึ้น การบริโภคเริ่มกลับมาหลังจากอั้นไปนาน ส่วนการส่งออกที่ทำได้ดี 

ค่าแรงเพิ่มขึ้น 4.5% ปีนี้ และปีหน้า

และเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวได้ บริษัทก็อยากจะลงทุนขยายธุรกิจเพิ่ม โดย Mercer ชี้ว่า ปีนี้อัตราค่าตอบแทนแรงงานในไทยจะเพิ่มขึ้นที่ 4.5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่รวมอินเดีย (4.4%) 

ส่วนในประเทศอื่น ๆ ญี่ปุ่นค่าตอบแทนปรับขึ้น 2.2% ส่วนเวียดนามอยู่ที่ 7.1% แต่เงินเฟ้อในประเทศเวียดนามสูงกว่าไทย

บริษัทอยากจ้างแต่คนทำงานอยากออก

สิ่งที่ชัดเจนจากการสำรวจของ Mercer ในปีนี้คือ คนทำงานอยากย้ายงานส่วนนายจ้างอยากได้คนเพิ่ม สวนทางกับเทรนด์ในปีก่อน ๆ ที่คนทำงานกอดงานของตัวเองไว้ในช่วงโควิด ในขณะที่บริษัทปลดคนเพื่อลดค่าใช้จ่าย

เพราะว่าปี 2565 เศรษฐกิจเริ่มกลับมาเปิดกว้าง คนทำงานที่อั้นจากการทำงานที่เดิมมา 2 ปีต้องการออกไปหาความท้าทายรวมถึงค่าตอบแทนที่สูงขึ้นในที่ใหม่ๆ ในขณะที่เหตุผลข้อเดียวกันทำให้บริษัทปลดคนน้อยลง 

การสำรวจของ Mercer พบว่า การลาออกเพื่อหางานใหม่ ๆ (การโยกย้ายภาคสมัครใจ) ช่วงครึ่งแรกปี 2565 สูงถึง 5.5% เทียบกับปีก่อนเต็มปีที่ 9.4% การเลิกจ้าง (การโยกย้ายภาคไม่สมัครใจ) ช่วงครึ่งแรกปี 2565 อยู่ที่ 1.1% เทียบกับปีก่อนเต็มปีที่ 2.6% 

พูดง่าย ๆ คือ คนลาออกเองเพิ่มขึ้นสวนทางกับบริษัทที่ต้องการคน โดยบริษัท 1 ใน 3 บอกอยากจ้างคนเพิ่ม และมีแค่ 1 ใน 10 ที่จะลดคน

ทำไมคนอยากออก?

สาเหตุที่ทำให้คนอยากย้ายงานมากสุดคือค่าตอบแทน (65%) สิทธิประโยชน์อื่น ๆ (42%) และความรู้สึกหมดไฟหรือเหนื่อยล้า (30%)

ซึ่งในประเด็นสุดท้าย Mercer ขยายความว่าอาจเกิดจากการที่คนทำงานต้อง Work From Home มาอย่างต่อเนื่องถึง 2 ปี ทำให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิตและการทำงานพร่าเลือนหรือซ้ำซากจำเจ จึงอย่างได้สภาพแวดล้อมใหม่ ๆ เข้ามาเติมไฟให้ตัวเอง

สำหรับ 3 สายงานที่หาเข้ามาเติมในองค์กรมากที่สุดคือ 1. การขายและการตลาด หรือ การจัดการผลิตภัณฑ์ 2. วิศวกรและวิทยาศาสตร์ 3. เทคโนโลยี โทรคมนาคม และอินเทอร์เน็ต แถมแขนงงานเหล่านี้ก็เป็นยังยากที่จะรักษาให้อยู่ต่อในองค์กรอีกด้วย

องค์กรต้องทำยังไง?

Mercer ให้คำแนะนําว่า ธุรกิจต้องพิจารณาและทบทวนกลยุทธ์การบริหาร ค่าตอบแทนของพนักงานในองค์กร เนื่องจากธุรกิจอาจจะพบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดแรงงานในอนาคต รวมถึงอาจจะประสบความท้าทายในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีทักษะความสามารถไว้

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้คนทำงานไม่ได้พิจารณาเรื่องค่าตอบแทนแค่มิติเดียว แต่ยังมองถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ (เช่น สวัสดิการ) คุณภาพชีวิต วัฒนธรรมการทำงาน ความยืดหยุ่น การทำงานทางไกล คุณค่าที่ส่งมอบให้สังคม ซึ่งตอบโจทย์ชีวิตในองค์รวมมากกว่าเก่า การแข่งขันกันด้วยค่าจ้างแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่ยั่งยืนอีกต่อไป

หมายเหตุ: ผลการสํารวจ Total Remuneration Survey (TRS) ประจําปี 2565 โดย Mercer ได้มาจากการสํารวจกับองค์กร 636 แห่งใน 15 อุตสาหกรรมในประเทศไทย ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2565 (Q2) การปรับค่าตอบแทนมีแนวโน้ม ที่ดีขึ้น จากแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยที่คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 3.8% ในปี 2566 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา 

ที่มา – Mercer

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา