คนไทยเตรียมอ่วมจากของแพงอีกครั้ง นอกจากอาหารขึ้นราคา น้ำมันดีดตัวสูง หลังจากนี้ อาจจะต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นกว่าเดิม โดยต้องจ่ายที่ 4 บาท/หน่วย แพงกว่าราคาเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียน
เพราะล่าสุด กกพ. มีมติขึ้นค่าไฟเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ ที่ให้ราคาไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 4 บาท/หน่วย จากข้อมูลของนักวิชาการในเวทีเสวนาออนไลน์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตโดย อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ว่าการปรับค่าไฟขึ้นครั้งนี้ กพพ. แม้อ้างว่าเกิดจากการเพิ่มราคาต้นทุนการผลิต แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปจากการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด
ค่าไฟไทย อยู่ตรงไหนของอาเซียน
น่าสนใจว่า ข้อมูลจาก 2 แหล่งชี้ให้เห็นตรงกันว่าค่าไฟของไทยแพงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ระบุว่า หากมีการปรับราคาขึ้น ค่าไฟต่อหน่วยที่คนไทยต้องจ่ายอยู่ที่ 4 บาท ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของค่าไฟอาเซียนอยู่ที่ 2 บาท
นอกจากนี้ ข้อมูลบนเว็บไซต์ Global Petro Price ก็ยืนยันตรงกันว่าค่าไฟต่อหน่วยของไทยอยู่ที่ราวๆ 3.77 บาท ซึ่งถ้าหากมีการปรับราคาขึ้น 23.38 สตางค์ เท่ากับว่าค่าไฟต่อหน่วยของไทยจะอยู่ที่ราวๆ 4 บาท เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ค่าไฟเฉลี่ยบนเว็บไซต์ Global Petro Price ของประเทศในอาเซียน 9 ประเทศ ยกเว้นบรูไน อยู่ที่ 3.4 บาท แม้ว่าตัวเลขจะคลาดเคลื่อนกัน แต่ก็ยังสามารถตอกย้ำได้ว่า ค่าไฟไทยแพงกว่าค่าไฟเฉลี่ยของอาเซียน
ค่าไฟต่อหน่วยของประเทศในอาเซียน (ปัดทศนิยมตำแหน่งที่ 3) จาก Global Petro Price มีดังนี้
- สิงคโปร์ 5.90 บาท
- ฟิลิปปินส์ 5.33 บาท
- กัมพูชา 5.04 บาท
- ไทย 3.77 บาท (+0.23 บาท หากมติของ กพพ. ผ่าน)
- อินโดนีเซีย 3.37 บาท
- เวียดนาม 2.74 บาท
- มาเลเซีย 1.76 บท
- ลาว 1.50 บาท
- เมียนมาร์ 1.14 บาท
- บรูไน ไม่พบข้อมูล
ทั้งนี้ นักวิชาการได้สรุปสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าเพื่อนบ้านอาเซียนเอาไว้ 3 ข้อ อ้างอิงจากงานเสวนาวิชาการออนไลน์ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม คือ
- ไทยมีไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็น
ไทยมียอดใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยสูงสุด (พีคไฟฟ้า) ที่ 30,000 เมกะวัตต์ ซึ่งโดยปกติจะมีการสำรองไฟฟ้าที่ 15% หรือ 4,500 เมกะวัตต์ แต่ในกรณีของไทยกลับมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมที่ 46,136.4 เมกะวัตต์ (มาจาก กฟผ. 33.64% ส่วนที่เหลือมาจากภาคเอกชนและการนำเข้าไฟฟ้า) เกินกว่าความต้องการเกือบ 12,000 เมกะวัตต์
ดังนั้น หลายโรงงานจึงต้องหยุดการผลิตนานกว่า 2 ปี แต่เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขว่าไม่ว่าจะเดินเครื่องผลิตหรือไม่ก็ต้องมีการประกันค่าตอบแทน ทำให้คนไทยต้องแบกรับต้นทุนส่วนนี้ประมาณ 2,000 บาท/คน/ปี จากภาระค่าไฟฟ้าส่วนเกิน 48,929 ล้านบาทต่อปี
- การจัดสรรราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรม
ช่วงต้นปี 2564 พบว่า ปตท. นำก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในคลังสำรองจำนวนมากส่งออกไปจำหน่ายในญี่ปุ่นซึ่งสามารถสร้างผลกำไรได้สูงมาก และในช่วงปลายปี 2564 พบว่า ไทยประสบปัญหามีก๊าซธรรมชาติสำรองไม่เพียงพอ ประกอบกับปริมาณการผลิตของแท่นก๊าซในอ่าวไทยลดลงกว่าปกติประมาณร้อยละ 5 ส่งผลให้ กฟผ. จำเป็นต้องสั่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศซึ่งเป็นช่วงที่ราคาทะยานสูงขึ้นมากประมาณ 800 บาทต่อล้านบีทียูในขณะที่ช่วงต้นปี 64 มีราคาเพียงแค่ 180 ล้านบาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น
จากการเข้าไปสำรวจข้อมูลทางเว็บไซต์ของ กฟผ. พบว่า มีการซื้อก๊าซจาก ปตท. ที่ราคา 390 บาทต่อล้านบีทียูเพื่อนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ในขณะที่ราคาก๊าซในตลาดโลกมีราคาแค่ 150 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้นซึ่งต่างกันถึง 3 เท่า
สอดคล้องกับข้อมูลของเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงที่พบว่าราคาก๊าซอยู่ที่ 190 บาทต่อล้านบีทียู จึงทำให้ตนต้องย้อนกลับไปดูข้อมูลและพบว่ามีประกาศของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่มีการระบุเงื่อนไขราคารับซื้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาปากหลุมประมาณ 2 เท่า ซึ่งน่าจะเป็นการใช้สูตรการคำนวณราคาดังกล่าวในการคิดราคาซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก
- การคิดค่าผ่านท่อที่แปรผันตามราคาก๊าซ แม้ต้นทุนไม่มีความผันแปร
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่อง ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติที่แม้ไม่ได้ใช้ก็ยังต้องจ่ายเงินให้เอกชน ทั้งยังกำหนดเงื่อนไขให้ปรับราคาเพิ่มตามราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะการสร้างท่อเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวจึงไม่ควรกำหนดเช่นนี้
โดยเห็นจากการที่รัฐต้องจ่ายค่าผ่านท่อให้แก่โรงงานผลิตไฟฟ้า 6 แห่ง ช่วงมกราคม – เมษายน 2565 สูงเกือบ 3,000 ล้านบาททั้งที่ไม่มีการผลิตไฟฟ้าแต่อย่างใด จากข้อมูลของ ผศ.ประสาท มีแต้ม
ท้ายที่สุด นักวิชาการในเวทีเสวนาได้วิพากษ์ไปถึงปัญหาหลักของเรื่องนี้ว่า “แทนที่รัฐจะเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่ต้นเหตุแต่เลือกที่จะบอกให้ประชาชนประหยัดการใช้ไฟซึ่งเป็นปลายเหตุแทน”
ที่มา – TCC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา