ไทยย่ำแย่ เสี่ยงเป็นไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจถดถอยสองปีติด | บทวิเคราะห์ KKP Research

KKP Research วิเคราะห์ ไทยเสี่ยงเป็นไม่กี่ประเทศที่งเศรษฐกิจติดลบ 2 ปี ติดต่อกัน ชี้ นโยบายยังไม่ทะเยอทะยานพอ พร้อมแนะข้อเสนอเชิงนโยบายแก่ภาครัฐ

ไทยย่ำแย่ เสี่ยงเป็นไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจหดตัวสองปีติด

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทรออกรายงาน “นโยบายเศรษฐกิจรับวิกฤตโควิด ทำอย่างไรให้เพียงพอ” เตือน ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเป็นไม่กี่ประเทศในโลกจะมีเศรษฐกิจหดตัวลงต่อเนื่องกันถึงสองปี 

KKP Research ระบุ GDP ในไตรมาส 2 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอต่อเนื่อง แม้จะมีการเติบโตได้ 7.5% เทียบกับปีก่อน แต่เหตุผลหลักเกิดจากฐานที่ต่ำของ GDP ใน ไตรมาส 2 ปีก่อน ที่หดตัวไป 12.1% ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนในประเทศชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด -19 

เศรษฐกิจในประเทศน่าจะหดตัวลงในไตรมาส 3 จากการระบาดของโควิด-19 ที่ยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล และมาตรการล็อกดาวน์ที่ยังคงอยู่ต่อเนื่อง ที่สำคัญ KKP Research ระบุว่าการแพร่ระบาดในปัจจุบันรุนแรงกว่า กว้างขวางกว่า และยาวนานกว่าปีก่อน 

เศรษฐกิจชะงัก กระทบรายได้ อาจบานปลายถึงภาคการผลิตและการส่งออก

ผลกระทบจากโควิด-19 ที่เริ่มต้นจากการหยุดชะงักของรายได้และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจลุกลามไปสู่ปัญหาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานะทางการเงิน กำไร และกระแสเงินสดของธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งจะเป็นต้นตอที่นำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมา เช่น 

  • การจ้างงาน 
  • ปัญหาความสามารถในการชำระหนี้และค่าเช่าของบริษัท จากกระแสเงินสดที่ไม่เพียงพอ 
  • การลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งเพิ่มผลกระทบให้กระจายเป็นวงกว้างกับธุรกิจอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทาน

ประเด็นที่น่ากังวล คือ ผลกระทบต่อความอยู่รอดของธุรกิจและครัวเรือน ในกรณีเลวร้าย ธุรกิจหลายแห่งอาจต้องปิดตัวลงถาวรภายใต้การระบาดที่ยืดเยื้อเช่นในปัจจุบันซึ่งจะสร้างแผลเป็นให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ที่สำคัญการระบาดยังมีแนวโน้มเริ่มลุกลามไปถึงภาคการผลิตและภาคการส่งออก

การระบาดจะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งห่วงโซ่บอบช้ำไปมากกว่านี้ถ้ารัฐยังไม่ยกระดับความช่วยเหลือทางนโยบาย และตอนนี้ KKP Research ก็ยังมองว่านโยบายภาครัฐยังไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับผลกระทบจากการระบาดและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมา 

นโยบายเศรษฐกิจไทยมีปัญหา ทุ่มงบน้อย ไม่หลากหลาย ไม่มองภาพระยะยาว

ตอนนี้นโยบายภาครัฐทุ่มงบประมาณน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ คือ มีมูลค่าประมาณ 10% ของ GDP หรือ 1.5 ล้านล้านบาท ที่สำคัญภาครัฐมีข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบไม่เพียงพอเพราะแรงงานจำนวนมากอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการทำให้นโยบายเศรษฐกิจถูกใช้งานอย่างจำกัด ไม่ครอบคลุม มักอาศัยเครื่องมือแบบเดิมๆ และส่งไปไม่ถึงภาคเศรษฐกิจจริง

kkp research thailand economy policy proposal
ตารางแสดงการใช้นโยบายการคลังของไทย จาก รายงานนโยบายเศรษฐกิจรับวิกฤตโควิด ทำอย่างไรให้เพียงพอ โดย KKP Research

นอกจากนี้นโยบายเศรษฐกิจไทยยังขาดความหลากหลาย มักใช้เครื่องมือเดิมๆ หากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมักจะมีนโยบายการคลังครอบคลุม 4 มิติ คือ

  • เยียวยาผลกระทบ
  • ช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือน
  • กระตุ้นเศรษฐกิจ
  • ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

เมื่อเปรียบเทียบกับไทย เราจะพบว่ามีเพียงนโยบายเยียวยากับนโยบายช่วยเหลือธุรกิจและครัวเรือนเท่านั้น ไม่ได้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป 

kkp research thailand economy policy proposal
ตารางเปรียบเทียบนโยบายเศรษฐกิจของไทยกับประเทศเศรษฐกิจหลัก จากรายงาน นโยบายเศรษฐกิจรับวิกฤตโควิด ทำอย่างไรให้เพียงพอ โดย KKP Research

ข้อเสนอเชิงนโยบายของ KKP Reseach

KKP Research ประเมินว่าในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตและความท้าทายจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 นโยบายการคลังจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการรับมือในหลายมิติ คือ

  1. ในระยะสั้น มีความจำเป็นในการจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอเพื่อเสริมศักยภาพด้านสาธารณสุขในการรับมือการระบาด ไม่ว่าจะเป็นการจัดระบบตรวจคัดกรอง สืบสวนโรค และคัดแยกผู้ติดเชื้อ เพื่อให้สามารถเข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง ลดความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อ และจำกัดผลกระทบจากการปิดเมือง
  2. เร่งจัดหาและกระจายวัคซีนที่คุณภาพซึ่งเป็นทางออกที่สำคัญจากวิกฤตในครั้งนี้ โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อลดความสูญเสีย และเร่งทำให้เศรษฐกิจสามารถกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าต้นทุนของวัคซีนถูกกว่าต้นทุนในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่ากว่ามาก
  3. เมื่อมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจาย มีความจำเป็นต้องออกมาตรการเยียวยา ที่ครอบคลุม เพียงพอ และเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อชดเชยการขาดรายได้โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ มาตรการเยียวยาที่เพียงพอยังช่วยทำให้การล็อกดาวน์ได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามมากขึ้น
  4. เมื่อสถานการณ์ระบาดเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ รัฐยังมีความจำเป็นในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการใช้จ่ายที่ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีประโยชน์ตรงตามความต้องการของพื้นที่ และ เร่งการสร้างงาน เพื่อนำเศรษฐกิจกลับสู่ระดับศักยภาพโดยเร็ว 
  5. นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นในการใช้จ่ายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรับความท้าทายหลังโควิด-19 โดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาทักษะ และคุณภาพของแรงงาน เพื่อรับมือกับการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการลงทุนด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการเรียนรู้ในช่วงที่มีการระบาด

นอกจากนี้ KKP Research มองว่านโยบายการเงินควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัว และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยปรับปรุงนโยบายเดิม และพิจารณาเครื่องมือรูปแบบใหม่ที่ก้าวออกจากกรอบการทำนโยบายการเงินแบบเก่า คือ

  1. พิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ผ่านการลดดอกเบี้ยนโยบาย และ/หรือ การลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน (FIDF fee) เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และส่งผ่านการกระตุ้นไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเสริมและพยุงเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น
  2. รักษาสภาพคล่องในระบบให้มีอย่างเพียงพอ และเตรียมอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม เพื่อชดเชยสภาพคล่องที่อาจหดหายไปจากเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยทำหน้าที่เป็นนโยบายหนุนหลัง (policy backstop) สำหรับตลาดการเงินและเศรษฐกิจ โดยพิจารณาเครื่องมือนโยบายการเงินรูปแบบใหม่ (เช่น การทำ Quantitative Easing – QE) หรือเตรียมมาตรการเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องในภาวะฉุกเฉิน และปรับเงื่อนไขมาตรการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินให้สอดคล้องกับสถานการณ์
  3. มาตรการบรรเทาภาระหนี้ของลูกหนี้ โดยคำนึงถึงการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ในสถานการณ์ปัจจุบัน การเลื่อนการชำระหนี้ ลดภาระหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ มีความจำเป็นเพื่อบรรเทาผลกระทบลูกหนี้ โดยขยายเวลารับรู้ต้นทุนความเสียหายไปในอนาคต และป้องกันไม่ได้เกิดการเรียกคืนหนี้ การฟ้องล้มละลาย และการบังคับหลักประกันพร้อมๆกัน ซึ่งจะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบได้ อย่างไรก็ดี มาตรการที่ใช้ต้องระมัดวังไม่ให้เกิดปัญหาแรงจูงใจที่ผิด (moral hazard) และจำกัดผลกระทบต่อฐานะของสถาบันการเงินที่อาจนำไปสู่ปัญหาความเชื่อมั่นของระบบการเงินได้
  4. มีมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจหยุดชะงัก ผ่านระบบธนาคาร โดย ธปท. อาจพิจารณาใช้มาตรการจัดหาสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำระยะยาว เพื่อสนับสนุนการปล่อยกู้ของธนาคาร โดยมีโครงสร้างการแบ่งรับความเสียหายอนาคตกับรัฐ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการปล่อยกู้เพิ่ม โดยผูกการจัดหาสภาพคล่องเพิ่มเติมกับเงื่อนไข เช่น การรักษาการจ้างงาน เป็นต้น
  5. กฎเกณฑ์ กฎระเบียบของมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้อาจมีความเข้มงวดเกินไปและไม่สร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงิน หรือผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมโครงการได้ มีความจำเป็นต้องแก้ไขให้นโยบายใช้ได้ผลเต็มที่มากขึ้น และการออกกฎเกณฑ์ต่างๆควรพิจารณาถึงผลกระทบข้างเคียงและการบิดเบือนตลาด ที่อาจจะสร้างปัญหาใหม่ๆ ได้

วัคซีนคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้

KKP Research เสนอว่า แม้ว่าในภาวะวิกฤตปัจจุบัน ภาครัฐจำเป็นต้องทำนโยบายเยียวยา กระตุ้น ฟื้นฟู และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนให้เพียงพอและสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว แต่ทางออกที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตในครั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ที่สามารถภูมิคุ้มกัน ป้องกันการป่วยรุนแรง ลดความสูญเสีย และลดแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข

เพื่อให้ภาวะโรคระบาด (pandemic) ในปัจจุบัน กลายเป็นภาวะโรคประจำถิ่น (endemic) ที่สร้างความสูญเสียน้อยลง และทำให้เศรษฐกิจเริ่มกลับสู่ภาวะใกล้เคียงปกติให้ได้เร็วที่สุด หากการจัดหาวัคซีนยังทำได้อย่างล่าช้าและไม่เพียงพอ เศรษฐกิจจะถูกกระทบต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และเพิ่มต้นทุนต่อมาตรการภาครัฐที่ต้องออกมาต่อเนื่องและยาวนานขึ้นโดยไม่จำเป็น เนื่องจากต้นทุนในการเยียวยาจะสูงกว่าต้นทุนของวัคซีนมหาศาล

มีบทเรียนจากหลายประเทศในโลกที่ใช้เครื่องมือนโยบายเศรษฐกิจได้ผล ทำให้เศรษฐกิจในปี 2021 ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ภาครัฐไทยควรเร่งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจช่วงล็อกดาวน์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรต่อระบบเศรษฐกิจ พร้อมกับเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพสูงเพื่อพาไทยออกจากวิกฤตครั้งนี้ให้เร็วที่สุด

ที่มา – KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา