เศรษฐกิจไทย ปี 64 ฟื้นตัว 3.5% ใช้เวลา 2 ปีจะกลับมาเติบโตเท่าก่อนโควิด

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ เศรษฐกิจไทย ปี 64 ฟื้นตัวที่ 3.5-4.5% ช่วงครึ่งปีหลังการท่องเที่ยวดีขึ้น การส่งออกขยายตัวในกลุ่มสินค้าที่ได้ประโยชน์จากโควิด รัฐมีงบประมาณเพียงพอต่อการเยียวยา สัดส่วนหนี้สาธารณะยังไม่เกินกรอบ 60% ของ GDP คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิดภายใน 2 ปี

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดงานเสวนาออนไลน์พูดคุยทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 64 โดยพูดถึงทิศทางเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน การส่งออกและการท่องเที่ยว มาตรการสนับสนุนสภาพคล่องธุรกิจ และทิศทางค่าเงินบาท ในปี 2564 รวมถึงมาตรการการดำเนินนโยบายของแต่ละภาคส่วนหลังจากจบเหตุการณ์โควิด

เศรษฐกิจไทย โควิด
BANGKOK, THAILAND – SEPTEMBER 26: Thai job seekers wait in line for Job Expo Thailand on September 26, 2020 in Bangkok, Thailand. Thailand hosts Job Expo 2020, an effort by the Thai government and companies to boost the economy by offering nearly 1 million jobs to Thai people. Approximately 260,000 jobs are guaranteed to recent graduates while many other companies are focused on hiring elderly and disabled people. While Thailand has confirmed only two locally transmitted cases of COVID-19 in over three months, the economic impact of the virus has left millions unemployed. (Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

ภาพรวม เศรษฐกิจไทย ปี 62-63

ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพการผลิตของประเทศ โดยเติบโตเพียงแค่ 2.4% จากตัวเลขศักยภาพการผลิตโดยรวมของประเทศคือ 3.7% เนื่องจากภาวะการส่งออกที่ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลก

ในปี 2563 การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยจากมาตรการล็อคดาวน์และมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ระงับกลไกการเติบโตทางเศรษฐกิจและทำให้ภาคธุรกิจขาดสภาพคล่อง ทำให้การผลิตและรายได้ลดลง เกิดภาวะการว่างงานมากขึ้น

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยรวม 3 ไตรมาสติดลบอยู่ที่ 6.7% และคาดการณ์ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปี 63 อยู่ที่ลบ 6% เกิดภาวะว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนคน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 75% เป็น 84% GDP สร้างแรงกดดันให้กับเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ นอกจากนี้ระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจากการออก พรก. กู้เงินฉุกเฉินของรัฐยังทำให้เกิดความกังวลต่อระดับหนี้สาธารณะและฐานะการคลังของไทยอีกด้วย

เศรษฐกิจไทย ท่องเที่ยว

เศรษฐกิจไทย ปี 64 ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งออกขยายตัว ท่องเที่ยวเริ่มกลับมา

ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 64 นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์การว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวที่ 3.5-4.5% โดยเป็นผลมาจาก

  • การปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคและการลงทุนในประเทศจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 63 และความสามารถในการควบคุมการระบาดในระยะแรกของรัฐบาล
  • การขยายตัวของการส่งออก ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการขยายตัวในกลุ่มสินค้าประเภทยา เวชภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยาง และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์โควิดและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไป work from home
  • การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในปีหน้า

ช่วงครึ่งปีหลังของปี 64 การท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของทิศทางเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวและสามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นหลังจากที่คนในประเทศเริ่มได้รับวัคซีนเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยคาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 5.5 ล้านคนและการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่อีกครั้งในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวได้มากถึง 23 ล้านคน

อย่างไรก็ตามแม้ทิศทางทางเศรษฐกิจของปี 64 และ 65 จะมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นแต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจนี้เป็นแค่การฟื้นตัวเพื่อชดเชยเศรษฐกิจที่ติดลบไปในช่วงของการระบาดเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยจะต้องใช้เวลานานถึง 2 ปีเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้สามารถกลับมาเติบโตได้ในระดับเดียวกับช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19

Bangkok Workers COVID-19 แรงงาน
ภาพจาก Shutterstock

แนวโน้มหนี้สาธารณะของไทย

การอนุมัติพรก.กู้เงินเพื่อใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาทสร้างความกังวลต่อระดับหนี้สาธารณะและฐานะทางการเงินของไทยในวงกว้างจากการที่ระดับหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 42% ในช่วงก่อนโควิดเป็น 49.5% GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมในอนาคต

อย่างไรก็ตาม พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลัง ระบุว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 ไทยมีระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำ อยู่ที่ 42% GDP ทำให้พอมีการระบาดสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของหนี้ไม่มาก เพิ่มแค่ 7-8% เมื่อเทียบจากการประเมินของ IMF ที่ประเมินว่ารัฐบาลทั่วโลกจะมีระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 18% GDP จากสถานการณ์การระบาดครั้งนี้ นอกจากนี้ยังระบุว่าการนิยามหนี้สาธารณะของไทยได้มีการรวมรัฐวิสาหกิจเข้าไปด้วย ทำให้หนี้ของรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ อย่างปตท. AOT และ กฟผ. ก็จะถูกนับรวมอยู่ใน 49.5% นี้ด้วย

สำหรับทิศทางหนี้สาธารณะประเมินว่าภายใน 3-5 ปีข้างหน้าสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยจะยังไม่เกินกรอบ 60%GDP และมีแนวโน้มลดลงตามสัดส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจไทย 64 นโยบายหลังโควิด
BANGKOK, THAILAND – MARCH 27: People walk through a crowded alleyway marketplace as Thailand imposed a state of emergency to combat the spread of the coronavirus (COVID-19) on March 27, 2020 in Bangkok, Thailand. Thailand’s Department of Disease Control has confirmed 91 new cases of the virus and are advising people to stay home. (Photo by Allison Joyce/Getty Images)

ทิศทางการดำเนินนโยบายหลังจบโควิด

แม้เศรษฐกิจในปี 64-65 จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นจนคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้เท่ากับช่วงก่อนการระบาดภายใน 2 ปี แต่หากมองย้อนกลับไปในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจของประเทศก็ค่อนข้างอ่อนแอจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งในแง่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและด้านทักษะความสามารถของแรงงาน

อัตราการว่างงานตามธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ที่ผ่านมาสะท้อนถึงศักยภาพการผลิตและศักยภาพของแรงงานที่ต่ำลง โดยเฉพาะความสามารถในการผลิตสินค้ามูลค่าสูงและสินค้าประเภทนวัตกรรมที่เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลต่อการอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าแรงในตลาดแรงงาน

เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทิศทางการดำเนินนโยบายหลังการระบาดของโควิด มีดังนี้

  • พัฒนาทุนมนุษย์และทักษะแรงงาน โดยการเพิ่มคุณภาพการศึกษาและทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการโดยเฉพาะการพัฒนาทักษะดิจิทัล
  • พัฒนาเทคโนโลยีด้านการชำระเงิน ให้เป็น cashless society มากขึ้นเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มศักยภาพในการออกมาตรการให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นจากฐานข้อมูลการใช้เงิน
  • ลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดการเติบโตอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น

***

สรุปจากงานเสวนาออนไลน์เรื่อง ‘จับตาเศรษฐกิจไทย ปี 2564’ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจไทย หนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน การส่งออกและการท่องเที่ยว มาตรการสนับสนุนสภาพคล่องธุรกิจ และทิศทางค่าเงินบาท ในปี 2564 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยมีวิทยากรทั้งหมด 3 ท่าน คือ ดร.อานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, คุณวศิน โรจยารุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย, ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลัง ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา