นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ เศรษฐกิจไทย ปี 64 ฟื้นตัวที่ 3.5-4.5% ช่วงครึ่งปีหลังการท่องเที่ยวดีขึ้น การส่งออกขยายตัวในกลุ่มสินค้าที่ได้ประโยชน์จากโควิด รัฐมีงบประมาณเพียงพอต่อการเยียวยา สัดส่วนหนี้สาธารณะยังไม่เกินกรอบ 60% ของ GDP คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิดภายใน 2 ปี
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดงานเสวนาออนไลน์พูดคุยทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 64 โดยพูดถึงทิศทางเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน การส่งออกและการท่องเที่ยว มาตรการสนับสนุนสภาพคล่องธุรกิจ และทิศทางค่าเงินบาท ในปี 2564 รวมถึงมาตรการการดำเนินนโยบายของแต่ละภาคส่วนหลังจากจบเหตุการณ์โควิด
ภาพรวม เศรษฐกิจไทย ปี 62-63
ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพการผลิตของประเทศ โดยเติบโตเพียงแค่ 2.4% จากตัวเลขศักยภาพการผลิตโดยรวมของประเทศคือ 3.7% เนื่องจากภาวะการส่งออกที่ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลก
ในปี 2563 การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยจากมาตรการล็อคดาวน์และมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ระงับกลไกการเติบโตทางเศรษฐกิจและทำให้ภาคธุรกิจขาดสภาพคล่อง ทำให้การผลิตและรายได้ลดลง เกิดภาวะการว่างงานมากขึ้น
การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยรวม 3 ไตรมาสติดลบอยู่ที่ 6.7% และคาดการณ์ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปี 63 อยู่ที่ลบ 6% เกิดภาวะว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนคน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 75% เป็น 84% GDP สร้างแรงกดดันให้กับเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ นอกจากนี้ระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจากการออก พรก. กู้เงินฉุกเฉินของรัฐยังทำให้เกิดความกังวลต่อระดับหนี้สาธารณะและฐานะการคลังของไทยอีกด้วย
เศรษฐกิจไทย ปี 64 ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งออกขยายตัว ท่องเที่ยวเริ่มกลับมา
ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 64 นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์การว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวที่ 3.5-4.5% โดยเป็นผลมาจาก
- การปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคและการลงทุนในประเทศจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 63 และความสามารถในการควบคุมการระบาดในระยะแรกของรัฐบาล
- การขยายตัวของการส่งออก ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการขยายตัวในกลุ่มสินค้าประเภทยา เวชภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยาง และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์โควิดและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไป work from home
- การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในปีหน้า
ช่วงครึ่งปีหลังของปี 64 การท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของทิศทางเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวและสามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นหลังจากที่คนในประเทศเริ่มได้รับวัคซีนเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยคาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 5.5 ล้านคนและการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่อีกครั้งในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวได้มากถึง 23 ล้านคน
อย่างไรก็ตามแม้ทิศทางทางเศรษฐกิจของปี 64 และ 65 จะมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นแต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจนี้เป็นแค่การฟื้นตัวเพื่อชดเชยเศรษฐกิจที่ติดลบไปในช่วงของการระบาดเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยจะต้องใช้เวลานานถึง 2 ปีเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้สามารถกลับมาเติบโตได้ในระดับเดียวกับช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19
แนวโน้มหนี้สาธารณะของไทย
การอนุมัติพรก.กู้เงินเพื่อใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาทสร้างความกังวลต่อระดับหนี้สาธารณะและฐานะทางการเงินของไทยในวงกว้างจากการที่ระดับหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 42% ในช่วงก่อนโควิดเป็น 49.5% GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมในอนาคต
อย่างไรก็ตาม พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลัง ระบุว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 ไทยมีระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำ อยู่ที่ 42% GDP ทำให้พอมีการระบาดสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของหนี้ไม่มาก เพิ่มแค่ 7-8% เมื่อเทียบจากการประเมินของ IMF ที่ประเมินว่ารัฐบาลทั่วโลกจะมีระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 18% GDP จากสถานการณ์การระบาดครั้งนี้ นอกจากนี้ยังระบุว่าการนิยามหนี้สาธารณะของไทยได้มีการรวมรัฐวิสาหกิจเข้าไปด้วย ทำให้หนี้ของรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ อย่างปตท. AOT และ กฟผ. ก็จะถูกนับรวมอยู่ใน 49.5% นี้ด้วย
สำหรับทิศทางหนี้สาธารณะประเมินว่าภายใน 3-5 ปีข้างหน้าสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยจะยังไม่เกินกรอบ 60%GDP และมีแนวโน้มลดลงตามสัดส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้น
ทิศทางการดำเนินนโยบายหลังจบโควิด
แม้เศรษฐกิจในปี 64-65 จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นจนคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้เท่ากับช่วงก่อนการระบาดภายใน 2 ปี แต่หากมองย้อนกลับไปในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจของประเทศก็ค่อนข้างอ่อนแอจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งในแง่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและด้านทักษะความสามารถของแรงงาน
อัตราการว่างงานตามธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ที่ผ่านมาสะท้อนถึงศักยภาพการผลิตและศักยภาพของแรงงานที่ต่ำลง โดยเฉพาะความสามารถในการผลิตสินค้ามูลค่าสูงและสินค้าประเภทนวัตกรรมที่เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลต่อการอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าแรงในตลาดแรงงาน
เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทิศทางการดำเนินนโยบายหลังการระบาดของโควิด มีดังนี้
- พัฒนาทุนมนุษย์และทักษะแรงงาน โดยการเพิ่มคุณภาพการศึกษาและทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการโดยเฉพาะการพัฒนาทักษะดิจิทัล
- พัฒนาเทคโนโลยีด้านการชำระเงิน ให้เป็น cashless society มากขึ้นเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มศักยภาพในการออกมาตรการให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นจากฐานข้อมูลการใช้เงิน
- ลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดการเติบโตอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น
***
สรุปจากงานเสวนาออนไลน์เรื่อง ‘จับตาเศรษฐกิจไทย ปี 2564’ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจไทย หนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน การส่งออกและการท่องเที่ยว มาตรการสนับสนุนสภาพคล่องธุรกิจ และทิศทางค่าเงินบาท ในปี 2564 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยมีวิทยากรทั้งหมด 3 ท่าน คือ ดร.อานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, คุณวศิน โรจยารุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย, ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลัง ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา