SCB EIC: แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 68 ขยายตัวต่ำ หนี้สาธารณะจะชนเพดานในปี 2570

SCB มองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเติบโตชะลอลง หลังจากเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก ภาพรวมปี 2567 ขยายตัว 2.7% มีแนวโน้ม Soft landing ขยายตัวขึ้นเล็กน้อย 2.8% ในปี 2568

Thailand
Photo by Akash Rai on Unsplash

ตลาดเริ่มกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราว่างงานเพิ่มเร็วขึ้นจนเข้าเกณฑ์เศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจโลกมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือ ธนาคารกลางหลักจะทยอยลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อปรับชะลอลง จะช่วยดูแลเศรษฐกิจและลดโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้

ช่วงที่เหลือของปี 2567 และ 2568 ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีแนวโน้มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 200 BPS ธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องรวม 150 BPS หลังลดไป 25 BPS ช่วงเดือนมิถุนายน

อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงจะช่วยให้ความต้องการบริโภคอุปโภคทั้งในและต่างประเทศสูงขึ้น

ปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศจะกดดันให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลงและเปราะบางมากขึ้นในระยะปานกลาง ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อนำไปสู่การปรับห่วงโซ่อุปทานและการค้าโลก รวมทั้งมาตรการกีดกันระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นและจะขยายมิติ

เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำในปี 2567 และปีหน้า 2568 ที่ 2.5% และ 2.6% ตามลำดับ การท่องเที่ยวยังเป็นแรงหนุนหลัก ส่งออกโตต่ำกว่าอดีต การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีข้อจำกัดมากขึ้น มีภาระการคลังสูง กระเป๋าเงินดิจิทัลใช้วงเงินสูง กระตุ้นได้ไม่เต็มที่ ชั่วคราว หนี้สาธารณะไทยจะชนเพดานในปี 2570

นโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนของ ครม. ชุดใหม่ เป็นการสานต่อนโยบายของ ครม. ชุดก่อน

เน้นมากขึ้นที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจกลุ่มเปราะบาง SCB EIC ประเมินว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค การท่องเที่ยว ภาคเกษตร และธุรกิจที่มีแรงงานขั้นพื้นฐานในสัดส่วนสูงจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุน และธุรกิจพลังงานอาจได้รับผลกระทบรายได้

นโยบายส่งเสริมความสามารถการแข่งขัน จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมสอดรับเทรนด์โลก อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ส่วนนโยบายสิ่งแวดล้อมยังเป็นความท้าทายและโอกาสให้หลายธุรกิจปรับตัว

ภาคธุรกิจต้องเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้าง

1) อุตสาหกรรมยานยนต์อาจสูญเสียกำลังการผลิตในประเทศราว 40% หากปรับตัวไม่ทัน

2) ผู้ประกอบการ SME เผชิญแรงกดดันจากกำลังซื้อในประเทศเปราะบาง ทั้งยังถูกซ้ำเติมจากการตีตลาดจากสินค้านำเข้า กระบวนการผลิตและการตลาดล้าสมัย ต้องผลักดันให้ธุรกิจเหล่านี้เติบดตได้อย่างยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว

กนง. มีแนวโน้มเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโบายในเดือนธันวาคมและต่อเนื่องช่วงต้นปีหน้าอยู่ที่ 2% อุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงชัดเจน ภาวะการเงินตึงตัวนาน

ค่าเงินบาทที่ผ่านมาแข็งค่าเร็วหลังเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ราคาทองคำสูงขึ้น ความกังวลการเมืองไทยคลี่คลาย ระยะสั้นเงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยจากปัจจัยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก่อนกลับมาแข็งค่าตาม Easing cycle ของสหรัฐฯ

สิ้นปี 2567 และ 2568 ประเมินว่า เงินบาทอยู่ในกรอบ 34-34.5 และ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

ที่มา – SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา