นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แต่การส่งออกยังคงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และดัชนีความเชื่อมั่นผุ้บริโภคปรับตัวลดลง รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ในเดือน ก.ค. 2566 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้น 17.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY)
- ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ เพิ่มขึ้น 13.0%YoY
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือน ก.ค. 2566 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 55.6 จากระดับ 56.7 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือน
- ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ก.ค. 2566 ลดลง 10.2%YoY – รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือน ก.ค. 2566 ลดลง 1.6%YoY
ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจาก
- ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือน ก.ค. 2566 เพิ่มขึ้น 6.0%YoY และเพิ่มขึ้น 1.8%
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือน ก.ค. 2566 ลดลง 19.9%YoY
ส่วนการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ก.ค. 2566 เพิ่มขึ้น 5.6%YoY และเพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 6.9%YoY แต่ลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้ายังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- มูลค่าการส่งออกสินค้ารวม (USD) เดือน ก.ค. 2566 อยู่ที่ 22,143.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.2%YoY
- มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัยจะลดลง 2.0%YoY
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าบางหมวดลดลง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย ปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ดี หมวดสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง นมและผลิตภัณฑ์นม และสิ่งปรุงรสอาหาร
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ปรับลดลงตาม อุปสงค์ที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า โดยมองว่ามีหลายตลาดที่ยังคงขยายตัว เข่น อาทิ ตลาดฮ่องกง (9.7%), สหราชอาณาจักร (5.8%), ทวีปออสเตรเลีย (2.4%), และสหรัฐฯ (0.9%)
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน พบว่า ในเดือน ก.ค. 2566 ภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น
- จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม 2.49 ล้านคน เพิ่มขึ้น 119.5%YoY (เพิ่มขึ้น 0.3%เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล)
- ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และเวียดนาม ตามลำดับ
- จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยรวม 19.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 18.1%YoY (เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล)
สำหรับภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือน ก.ค. 2566 เพิ่มขึ้น 2.7%YoY (แต่ลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์และไม้ผล ขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพด ลดลง
ส่วนภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือน ก.ค. 2566 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 92.3 จากระดับ 94.1 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว
เสถียรภาพเศรษฐกิจ ในเดือน ก.ค. 2566 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 0.38%
- อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.86%
- ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2566 อยู่ที่ 61.2% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
- ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ อยู่ที่ 0.61% ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด
ด้านเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 220,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา – กระทรวงการคลัง
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา