สัมภาษณ์ ดร. ณชา KKP Research: ทำไมคนไทยเสียภาษีแค่ 4 ล้านคน..ที่เหลือไปไหน?

ทำไมคนไทยเสียภาษีฯ แค่ 4 ล้านคน..ที่เหลือไปไหน?

ไขข้อข้องใจ หลังจากที่คนจำนวนมากในบรรดา 4 ล้านคนในไทยรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นคนเสียภาษี และยังมองว่า มีแค่ 4 ล้านคนเท่านั้นที่อุ้มคนไทยกว่า 60 ล้านคนอยู่ แต่จริงๆ แล้วพวกเราล้วนเสียภาษีกันทุกคน!!

ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ ดร. ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKPFG) เผยว่า คำกล่าวที่ว่า มีคนไทยเสียภาษีแค่ 4 ล้านคนนั้นไม่ถูกต้อง นี่คือตัวเลขของผู้เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ซึ่งภาษีมีหลายประเภท มีทั้งภาษีทางตรง เช่น ภาษีที่รัฐจัดเก็บจากรายได้และทรัพย์สินของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

มีทั้งภาษีทางอ้อม คือภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บจากผู้บริโภค เช่น VAT ในอัตรา 7% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ หลายประเทศในเอเชียอยู่ในอัตรา 10%+ ขณะที่ลาตินอเมริกาอยู่ที่ 20%, ภาษีสรรพสามิต (ภาษีฟุ่มเฟือย เช่น น้ำมัน รถยนต์ สุรา)

พูดง่ายๆ ว่า คนไทยมีทั้งหมด 66 ล้านคน แต่วัยแรงงานมีประมาณ 40 ล้านคน มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียง 10-11 ล้านคน แต่มีผู้เสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลแค่ 10%

Nasha Ananchotikul KKP Research
ดร. ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKPFG)

ทำไมคนทำงานอีก 90% ไม่เสียภาษี หรือประมาณ 3 ใน 4 ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี?

คนไทยที่บอกว่า 40 ล้านคนเป็นวัยทำงาน แต่มี 10 ล้านคนที่อยู่ในระบบภาษี ไม่ใช่ว่าทุกคนจะถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษี ดังนั้นจึงเหลือแค่ 4 ล้านคนที่เข้าเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษี ก็ถือว่ารัฐมีฐานรายได้ที่แคบมาก

การสร้างรายได้ให้เขาอยู่ในระดับที่เกินกว่าเส้นของความยากจนหรือเส้นของความเพียงพอต่อการใช้จ่ายที่สามารถหักลดหย่อนได้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นเรื่องของนโยบายภาพใหญ่ของเศรษฐกิจเลยว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเติบโตได้ดีขึ้น ให้ GDP Growth ยกระดับคุณภาพชีวิตคน ยกระดับรายได้คนให้ถึงเกณฑ์ที่จ่ายภาษี แต่นั่นอาจไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของการที่จะสร้างรายได้เพื่อให้เขามาอยู่ในระบบภาษี แต่เป็นไปเพื่อคุณภาพชีวิตของเขาเอง

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีเศรษฐกิจนอกระบบที่เรียกว่าเป็น Informal sector หรือเศรษฐกิจเงา (Shadow economy) อีก ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก นั่นหมายความว่า คนไทยหรือธุรกิจไทยที่มีขนาดเล็ก ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี มีการประเมินว่า น่าจะอยู่ในสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP ที่เป็นเศรษฐกิจนอกระบบ

ข้อมูลจาก Informal Economy Survey โดย World Bank เผยว่า ไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบคิดเป็นสัดส่วนถึง 46.5% ของ GDP เศรษฐกิจนอกระบบสูงมากอันดับต้นๆ ของโลก เป็นอันดับที่ 16 จาก 158 ประเทศทั่วโลกที่มีฐานข้อมูล สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 32.7% และสูงกว่าทุกประเทศในเอเชีย

เราอาจจะคิดถึงแผงลอย ร้านค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซุ้ม ร้านขายของออนไลน์ หรือคนรับจ้างในอาชีพต่างๆ ที่ไม่อยู่ในระบบเกือบ 50% ของ GDP ไทยเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ หมายความว่า รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีหรือหารายได้จากคนเหล่านี้ได้

นอกจากเป็นเศรษฐกิจนอกระบบแล้ว ขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้ก็อาจเข้าไม่ถึงสวัสดิการภาครัฐด้วยเหมือนกัน ถ้ามิติของแรงงาน 40 ล้านคนคือคนวัยทำงาน ครึ่งหนึ่งคือ 20 ล้านคนหรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 52% เป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ใหญ่มากในการออกแบบนโยบายต่างๆ ให้ทั่วถึงทุกคน

มากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานนอกระบบเป็นเกษตรกรอยู่ที่ 55.4% แน่นอนว่า เขาไม่ได้มีความคุ้มครองทางด้านสังคมมาก เวลาที่เขาเจอกับปัญหาสุขภาพต่างๆ เขาไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการที่รัฐจัดให้ได้

ในมิติธุรกิจ เราทราบดีว่า ไทยมี SMEs เยอะมาก ตัวเลขล่าสุดคือ 3.2 ล้านธุรกิจที่เป็น SMEs แต่ว่ามีแค่ 8.4 แสนกว่ารายที่จดทะเบียนนิติบุคคล หรือ 26% เท่านั้น นั่นคือ 1 ใน 4 ของ SMEs ทั้งหมดที่มีการจดทะเบียนในระบบต่างๆ

ส่วน SMEs อีก 3 ใน 4 หรือเกือบ 2.4 ล้านราย หรือ 74% เป็น SMEs ที่ไม่มีข้อมูลงบการเงินในระบบฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ธนาคารพาณิชย์จัดให้ได้ หรืออาจจะต้องเผชิญกับต้นทุนสูงจากการกู้ยืมเพื่อไปทำธุรกิจ

Thailand
ภาพจาก Shutterstock

รัฐจะมีหนทางใดที่ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นบ้าง ถ้าต้องขึ้นภาษีควรขึ้นหรือไม่ จำเป็นไหม?

ประเด็นสำคัญที่ภาครัฐควรลงมือทำ คือการเร่งเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี รวมไปถึงการดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบให้มากขึ้น ระบบในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงระบบภาษีอย่างเดียว

การที่ทางการสามารถรับรู้ความเป็นตัวตนของเขาได้ รู้ว่าเขาหารายได้จากไหน รู้ว่าเขาได้รับสวัสดิการด้านไหน หรือไม่ได้รับสวัสดิการด้านไหนบ้าง ทั้งหมดทั้งปวงนี้จะทำให้การออกแบบนโยบายต่างๆ เพื่อประชาชน รวมถึงการจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

คนที่ไม่ได้จ่ายภาษีอาจจะมีทั้งสองแบบหรืออาจจะมีหลายแบบก็ได้ มีทั้งคนที่ตั้งใจหลีกเลี่ยงที่จะจ่ายภาษีจริงๆ ไม่แสดงรายได้เพราะไม่อยากจ่ายภาษี มีทั้งคนที่อยู่ห่างไกล ไม่มีความรู้ในการเข้าถึงการให้สวัสดิการในระบบของภาครัฐ เขาก็ออกไปนอกระบบเลยและไม่สามารถที่จะสืบค้นข้อมูลได้จากคนเหล่านี้

ถ้าเป็นอย่างแรก..จะทำอย่างไรให้คนพร้อมที่จะจ่ายภาษีให้กับภาครัฐที่ต้องใช้ภาษีของประชาชน เพื่อนำไปดูแลประชาชนให้สวัสดิการคุ้มครองต่างๆ ให้ความคุ้มครองทางสังคมได้ ก็ต้องถามว่าอะไรทำให้คนอยากจ่ายภาษีมากขึ้น อยู่ในระบบภาษีมากขึ้น

ประเทศอื่นเสียภาษีกันอย่างไร?

ประเทศอื่นๆ เก็บภาษีสูงมาก อย่างสหรัฐอเมริกา เก็บภาษีที่ 97% ประชากรในวัยทำงานอยู่ที่ 170 ล้านคน มี 165 ล้านคนอยู่ในระบบภาษี ส่วนประเทศในยุโรปเก็บภาษีเกือบ 100% ยุโรปนี่แทบจะทุกคนเลยที่อยู่ในระบบภาษี ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอาจจะต่ำพอๆ กับเรา

Carrot and Stick

ประเทศพัฒนาแล้วก็มีทั้งการให้ Carrot and Stick โดย Stick ก็คือกฎเกณฑ์ต้องเข้มข้น บังคับว่า ถ้าหลีกเลี่ยงภาษีจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะไม่ได้รับอะไรจากการที่เขาอยู่นอกระบบ หรือว่าบทลงโทษจะเป็นอย่างไร

ส่วน Carrot ก็คือว่า คุณจะทำอย่างไรให้คนมีความรู้สึกพร้อมที่จะจ่ายภาษีมาก เพราะฉันได้อะไรกลับคืนมาที่คุ้มค่า ฉันถึงยอมที่จะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างจากประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ อย่างกลุ่มประเทศนอร์ดิกที่ประกอบไปด้วย นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน เหล่านี้ เขาเก็บภาษีสูงมาก เขาเก็บภาษีมากกว่าเราอยู่ที่ 40-50% ของรายได้

ทำไมเขาถึงรู้สึกว่าเขาพร้อมที่จะจ่าย ไม่ได้เป็นภาระ เพราะว่าระบบรัฐสวัสดิการของเขาเต็มรูปแบบจริงๆ ดูแลตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่ เป็นเด็กเล็ก จนกระทั่งเข้าเรียน หางานทำ มีที่อยู่อาศัย เจ็บป่วย จนกระทั่งเสียชีวิต ดูแลด้วยคุณภาพที่ดีมากจริงๆ

บางคนอาจรู้สึกว่า ให้ภาษีกับรัฐไป รัฐเอาไปใช้กับอะไรก็ไม่รู้ และมีการรั่วไหลพอสมควร ทั้งเรื่องคอรัปชันหรือใช้งบประมาณที่อาจไม่ตรงจุดมากนัก ทำให้คนมีความรู้สึกว่าฉันไม่อยากอยู่ในระบบภาษี คนที่อยู่นอกระบบก็จะต้องเก็บเงินด้วยตัวเอง ดูแลตัวเอง เป็นสิ่งที่หลายประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการเข้มแข็ง หรือไม่ก็ใช้กลไกการตลาด เช่น ซื้อประกันของภาคเอกชนเอง

Nasha Ananchotikul KKP Research
ดร. ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKPFG)

ถามว่าทุกคนสามารถดูแลตัวเองได้เพียงพอไหม ก็ต้องบอกว่ากลุ่มคนที่รายได้ต่ำมากๆ และมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคม อาจจะไม่ได้มีความสามารถที่จะประคับประคองตนเองและครอบครัว และก็เป็นหน้าที่ของรัฐเองที่ควรจะจัดเตรียมสวัสดิการที่ดีแก่ประชาชน

ถ้าถามว่าภาครัฐจะสามารถหารายได้จากภาษีอย่างไร นอกเหนือจากเอาคนมาอยู่ในระบบภาษี อาจจะต้องบอกว่าสองอย่างที่เพิ่มรายได้ คือทางแรก เก็บภาษีเพิ่ม ทางที่สอง คือการลดหย่อนภาษีประเภทต่างๆ ที่รัฐบาลอาจไม่ได้รับประโยชน์จากที่ควรจะได้รับ ดังนี้

แนวทางแรก ถ้าเพิ่มรายได้ภาษีภาครัฐ

ดึงให้คนนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบได้มากขึ้น ถ้าคนนอกระบบมีถึงครึ่งหนึ่งจริงๆ การดึงเข้ามาอยู่ในระบบก็จะทำให้ GDP โตค่อนข้างเยอะแล้วสำหรับรายได้

การพิจารณารูปแบบภาษีต่างๆ ว่าเราได้คำนึงถึงระบบภาษีที่มันครอบคลุมเพียงพอหรือยัง ที่เราพูดถึงภาษีของรายได้บุคคลธรรมดาและรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากผู้บริโภค จริงๆ แล้วมีภาษีหลายรูปแบบมาก

ถ้าภาษีทางตรง คือภาษีจากรายได้ สินทรัพย์ การลงทุนต่างๆ มันก็ยังมีช่องทางที่จะทำให้สามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น เช่น ที่บอกไปว่าภาษีที่ภาครัฐเก็บจากรายได้ จะหนักที่มนุษย์เงินเดือนมากเกินไป มากกว่า 80% คือมนุษย์เงินเดือน เพราะว่ามันเก็บง่าย บริษัทจ่ายเงินเดือนมา ก็หักภาษี ณ ที่จ่ายไปเลย หลีกเลี่ยงยากมาก นั่นก็ทำให้ภาระค่อนข้างใหญ่สำหรับมนุษย์เงินเดือน

รายได้ภาษีเป็นรายได้หลักของรัฐ 85-90% ที่เหลือคือรายได้รัฐวิสาหกิจ

หากขยายระบบภาษี เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ เพิ่มความเป็นธรรมในการเก็บภาษีให้เท่าเทียมมากขึ้นก็อาจจะช่วยให้รายได้ภาครัฐเพิ่มสูงขึ้นด้วย

อีกด้านหนึ่งคือการเอาคนเข้ามาอยู่ในระบบ เช่น สร้างความรู้สึกหรือสร้างแรงจูงใจให้คนอยากมาอยู่ในระบบมากขึ้น เช่น ถ้า SMEs เข้ามาอยู่ในระบบ เขาจะได้อะไรจากการที่เขาจ่ายภาษีและมีข้อมูลจดทะเบียนนิติบุคคลต่างๆ

สิ่งที่เขาจะได้อย่างแรกอาจจะเป็นต้นทุนทางการเงินต่ำลง เพราะว่าการจดทะเบียนมีบัญชีให้ตรวจสอบได้ จะทำให้การประเมินเรื่องเครดิตต่างๆ ประเมินได้ตรงไปตรงมามากขึ้น ทำให้เขาเข้าถึงสถาบันการเงินที่ต้นทุนถูกลงได้ ธนาคารเองก็อาจจะอยากปล่อยกู้กับคนกลุ่มนี้แต่ข้อมูลไม่มี ว่า SMEs ทำธุรกิจอย่างไร

การสร้างระบบค้ำประกันให้กับ SMEs คือรัฐบาลเองมีกลไกค้ำประกันให้ SMEs เพื่อทำให้ต้นทุนการเงินถูกลง แต่ก็ต้องเริ่มจากการที่ SMEs ให้ข้อมูลก่อน เพื่อสามารถเก็บข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตได้ และรัฐบาลเองหรือสถาบันการเงินสามารถประเมินเครดิตได้ดีขึ้น และเขาจะได้ประโยชน์จากการที่มีคนมาค้ำประกัน

ถ้าเกิดว่าทำให้เป็นระบบได้จริงและ SMEs เห็นประโยชน์ตรงนี้ ว่าเขาให้อะไรกับภาครัฐไป มันได้อะไรกลับคืนมาสู่ตัวเขา ก็น่าจะเป็นแรงจูงใจได้ดีขึ้น

แนวทางที่สอง การยกเลิกลดหย่อนที่ทำให้รัฐเสียรายได้

การที่จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นมาได้ ก็คือการพิจารณาเรื่องนโยบายลดหย่อนภาษีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชอปช่วยชาติ หรือโครงการประหยัดภาษีต่างๆ มันเป็นประโยชน์โดยรวมกับประชาชนจริงไหม ใครที่ได้ประโยชน์กันแน่และมันคุ้มค่าไหมที่รัฐจะเสียรายได้ส่วนนี้ไป

ชอปช่วยชาติทำต่อเนื่องทุกปี คนที่ได้ประโยชน์อาจเป็นคนที่มีรายได้สูงก็ได้ ดังนั้นการพิจารณาถึงมาตรการต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น มันคุ้มค่ากับสิ่งที่รัฐสูญเสียจากรายได้พวกนี้ไปรึเปล่า อาจทำให้สามารถที่จะรักษารายได้ทั้งภาครัฐและได้เม็ดเงินที่เสียไปได้กลับมาคุ้มค่ากว่า

สรุปอย่างง่ายที่สุด หากคิดจะขึ้นภาษี ควรทำอย่างอื่นให้ดีก่อน

อย่างอื่นที่ว่าก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ให้ภาระภาษีเท่าเทียมกันมากขึ้น ทั้งคนที่มีรายได้จากเงินเดือนและรายได้จากสินทรัพย์ รายได้จากธุรกิจ และรายได้จากการลงทุนในหุ้น

ขยายฐานภาษี ทำให้ธุรกิจและคนเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น ยกเลิกการลดหย่อนภาษีที่ไม่ได้ส่งผลดีในวงกว้าง ใช้เครื่องมือภาษีตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น เก็บภาษีดิจิทัล 

Thailand economic

ประเทศไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ไหม?

ถ้าถามว่า รัฐสวัสดิการคืออะไร? ก็คือการที่รัฐบาลเป็นผู้จัดหาสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนโดยถ้วนหน้า โดยการใช้เงินจากภาษีประชาชนในการดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย

เป้าหมายสำคัญของการมีรัฐสวัสดิการคือ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ลดช่องว่างในสังคม ลดกับดักทางโอกาส การติดอยู่ในวงจรความยากจน ถ้า Social mobility (การขยับสถานะทางสังคม) ต่ำมาก เกิดมาจน ก็จะจนต่อไป เพราะโอกาสน้อยกว่าทุกด้าน

รัฐสวัสดิการเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยการให้สิทธิ ให้โอกาสทุกคนเริ่มต้นเท่าเทียมกันมากขึ้น เป็น Social protection หรือ Social safety net

แนวคิดแบบนี้ก็มีมาตั้งนานแล้วตั้งแต่ ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ เขียนหนังสือเรื่องจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน พูดถึงแนวคิดว่า รัฐบาลควรจะดูแลประชาชนทุกคนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ด้วยการให้สวัสดิการต่างๆ

ควรให้ความสำคัญหรือให้สวัสดิการใครมากที่สุด?

สวัสดิการด้านไหนหรือคนกลุ่มไหนที่ควรได้รับการดูแลจากภาครัฐมากที่สุด ถ้าประเมินจากตอนนี้ ทุกคนจริงๆ ก็ควรจะเข้าถึงสวัสดิการได้ตามสวัสดิภาพของตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะเป้าหมายอย่างแรกของการมีรัฐสวัสดิการก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อย่างที่สอง เพิ่มโอกาสให้คนในประเทศได้มีจุดเริ่มต้นได้เท่ากันมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ห่างกันมากเกินไป

ฉะนั้น ถามว่า ใครควรจะได้รับมากที่สุด คิดว่าอาจจะไม่ได้มีคำตอบเดียวว่าใครควรได้รับมากที่สุด แต่น่าจะเป็นเรื่องของการที่เราทำให้ทั้งระบบภาษี ทั้งนโยบายภาครัฐต่างๆ ที่ออกมา คำนึงถึงเรื่องของความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสที่เท่าเทียมมากขึ้นกับคนทุกกลุ่ม

แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำและการให้โอกาสก็จะเป็นคนกลุ่มล่างสุดของสังคม ของเศรษฐกิจเราที่ควรได้รับการดูแล เพราะเขาเริ่มต้นก็ติดลบแล้ว รัฐบาลควรดูแลเขา จากที่ติดลบสามารถลืมตาอ้าปากได้ ขึ้นมาเป็นศูนย์หรือหนึ่งเท่ากับคนอื่น ก่อนที่เขาจะมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองหรือสร้างโอกาสให้ตัวเองต่อไป

เราอาจทราบกันดีว่า กับดักของความยากจนเป็นวงจร ถ้าไม่มีความช่วยเหลือเข้าไป คนก็ไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้ เพราะเริ่มมา ก็โอกาสก็ไม่เท่าคนอื่นแล้ว ทั้งโอกาสในการเรียนและการมีสุขภาพที่ดี ฉะนั้น โอกาสในการสร้างรายได้เมื่อเขาโตขึ้นก็จะต่ำกว่าคนอื่น

เมื่อพื้นฐานที่โตมาไม่เท่ากัน โอกาสในการสร้างความมั่งคั่งหรือใช้ชีวิตต่อไปก็ไม่เท่าเทียมคนอื่น จะยากมากที่จะไล่ทันคนอื่น ฉะนั้น ถ้าเกิดว่าอย่างน้อยให้สวัสดิการขั้นพื้นฐาน สิ่งที่เขาควรจะได้รับมีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้เขาเอง สามารถไขว่คว้าโอกาสให้ชีวิตมากขึ้น ออกจากหลุมพรางกับดักยากจนได้ นั่นน่าจะสร้างประสิทธิผลให้คนมีโอกาสในชีวิตมากขึ้น สุดท้ายก็กลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจ ทำให้ยกระดับคุณภาพชีวิตคนได้

มีการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า เศรษฐกิจยุคนี้โตช้าลงกว่าในอดีตมาก ทำให้โอกาสที่คนจะเลื่อนชั้นทางสังคมจากระดับที่พ่อแม่อยู่ในครอบครัวระดับไหน คุณจะสามารถยกระดับตัวเองให้สูงกว่าพ่อแม่ได้หรือเปล่า โอกาสลดลงไปเยอะมากถ้าเทียบกับอดีตที่เศรษฐกิจโตได้ดี

ถ้าเศรษฐกิจโต 7-8% มันทำให้ทุกคนมีโอกาสมากขึ้นด้วย เมื่อเรามีเศรษฐกิจโตช้าเพียง 2% มันทำให้โอกาสที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นยิ่งน้อยลง ทำให้ติดกับอยู่ในสถานะเดิมตลอดไป

ไทยยังไม่เป็นรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบเหมือนกลุ่มประเทศในยุโรปที่ดูแลตั้งแต่ตั้งท้อง มีสิทธิการลาคลอด 9 เดือน มีเงินให้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โตขึ้นมาก็เรียนฟรี เมื่อทำงานก็หางาน หาที่อยู่อาศัยให้ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลต่างๆ เต็มรูปแบบ แต่เขาก็มีภาษีต่อ GDP มากกว่า 40%

ไทยรายได้ภาษีต่อ GDP 13-15% แสดงว่า การจะได้เป็นรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ ประชาชนก็ต้องพร้อมจ่ายเพิ่มมากขึ้นด้วย สวัสดิการของไทยก็ใช่ว่าจะไม่มี มีหลายด้านด้วยกัน แต่ไม่ครอบคลุม ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละชุด

เช่น บัตรคนจน 14 ล้านคน นั่นก็ให้เหมือนเป็นการสงเคราะห์คนจนมากกว่าเป็นสิทธิ มีเงินอุดหนุนบุตร 600 บาท ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ แต่ก็ตกหล่นไปมาก มีเรียนฟรี 15 ปี มีบัตรทองรักษาโรค

มีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการยังชีพอยู่ดี คนที่อยู่ในระบบประกันสังคมเท่านั้นที่ได้เงินทำคลอด สวัสดิการว่างงาน รักษาโรค เงินทำศพ แต่ก็ยังมีคนอีกมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม

มันก็มีมิติของความไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนหลายประเทศตัวอย่างก่อนหน้าที่กล่าวมา อีกอย่างก็คือเนื่องจากการที่รัฐบาลไม่ได้มีการใช้ระบบข้อมูลประชากร ระบบข้อมูลภาครัฐในการประเมินนโยบายว่าใครควรได้รับประโยชน์เหล่านี้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการรั่วไหลของการให้สวัสดิการพวกนี้ หรือว่าการที่คนหลุดออกไปจากความช่วยเหลือเหล่านี้ เช่น เงินอุดหนุนเด็กเล็ก

มีการศึกษาจาก TDRI ที่ศึกษาว่า แม้จะมีเบี้ยให้เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ ประมาณ 600 บาทต่อเดือน แต่ว่า 1 ใน 3 ของเด็กเล็กในวัยนี้หลุดออกไปจากระบบสวัสดิการ ไม่ว่าจะเพราะพ่อแม่ไม่ทราบหรือไม่สามารถเข้าถึงระบบได้ โดยเฉพาะเด็กยากจนที่เข้ามีความต้องการแต่รัฐเข้าไม่ถึง ไม่มีข้อมูลเขา

หรือบัตรคนจนที่มีการศึกษาจากหน่วยงานหนึ่งบอกว่า 14 ล้านคนที่ได้รับบัตรสวัสดิการของรัฐ พบว่า 20% ของคนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนที่ควรจะได้เพราะว่าไม่ได้จนจริง หรือถ้าดูเฉพาะกลุ่มที่จนจริงก็พบว่า ครึ่งหนึ่งของคนจนที่แท้จริงก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ได้รับบัตร เพราะอาจเข้าไม่ถึงหรือไม่ทราบข้อมูล

การทำนโยบายแต่ละอย่างที่อยากให้สวัสดิการประชาชน แต่การทำระบบข้อมูลที่ทำให้คนอยู่นอกระบบเยอะมาก ทำให้ไม่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่จากการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ จะทำอย่างไรให้ระบบข้อมูลของทางการมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ในการให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นมากกว่านี้ในประเทศไทย

Bangkok Thailand กรุงเทพ ประเทศไทย
ภาพจาก Shutterstock

ไทยกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายด้าน

ความท้าทายทั้งเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งภาวะตลาดหุ้น ในเชิงโครงสร้างเราเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบยิ่งยวด คือมีคนสูงวัยราว 20% ของประชากร หมายความว่า เศรษฐกิจจะมีคนทำงานน้อยลง ประสิทธิภาพการทำงานจะลดลงเรื่อยๆ ภาระการดูแลผู้สูงวัยจะสูงขึ้น ประเทศไทยแก่เร็วกว่าหลายประเทศในอาเซียน อาจจะพอๆ กับเกาหลีใต้

อย่างที่สองคือแรงขับเคลื่อนอื่นที่เป็นตัวชูโรงทางเศรษฐกิจเช่น การส่งออกยากมากขึ้นในการแข่งขัน ทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นเพราะกำลังแรงงานและผลิตภาพในการแข่งขันสู้ต่างชาติได้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ก็จะแย่งส่วนแบ่งตลาดเราไปหมด ส่งออกอาจจะไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทยในอนาคต

ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวที่เป็นการขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจก่อนโควิดระบาด จะคาดหวังว่าจะมียอดนักท่องเที่ยวเพิ่มปีละ 10% ต่อปี ก็ยากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ที่จะอาศัยภาคการท่องเที่ยวนี้

ทางออกที่หลายประเทศหลุดพ้น คือการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็นจริงๆ เพราะประชากรไม่ได้โตแล้ว ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาก็ไม่สามารถแข่งขันได้ ก็ต้องแข่งขันด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี

ไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวระดับหนึ่ง ไม่สามารถพัฒนาไปสู่ประเทศรายได้ระดับสูงได้ เราติดกับดักอยู่ในระดับเดิมมาเกือบ 40 ปีแล้ว ขณะที่ฮ่องกง เกาหลีใต้ เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) เขาก็ใช้เทคโนโลยี รวมถึงนโยบายที่มากันเป็นองคาพยพ ที่ทำให้เขามีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนและทำให้ก้าวหน้าขึ้นมาได้

ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วตลาดการเงินจะเป็นอย่างไร ตลาดหุ้นไม่ได้สดใสสักพักแล้ว สะท้อนสภาพเศรษฐกิจว่าโอกาสรายได้ไม่ได้สูงมาก ซึ่งก็กระทบธุรกิจรายใหญ่ด้วย ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ก็น่ากังวล เมื่อก่อนเราเนื้อหอม ดึงดูดการลงทุนทั้งทางตรงและลงทุนในหุ้น ตอนนี้กลับขาไปไหลออก ธุรกิจก็เริ่มมองที่จะเติบโตในต่างประเทศมากขึ้น

เราคิดว่าน่ากังวลเรื่องดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ทั้งส่งออก ท่องเที่ยวก็สร้างรายได้ให้ประเทศเยอะ โต 8% ต่อเนื่องก่อนโควิด หลังโควิดโต 1-2% ต่อปี มีนัยต่อค่าเงินในอนาคต ว่าเมื่อก่อนค่าเงินแข็งตลอด ตอนนี้ก็กลับด้านกัน

นโยบายเศรษฐกิจที่เร่งด่วน ปัจจุบัน

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ นโยบายที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลมากขึ้น เป็นเรื่องของการปฏิรูปนโยบายด้านเศรษฐกิจ เมื่อเราคุยกับนักลงทุนต่างประเทศเยอะ จะรู้สึกได้ว่า ธุรกิจต่างๆ สิ่งที่เขากังวลคือความชัดเจนของประเทศ ทิศทางเศรษฐกิจเราจะไปทางไหนกันแน่

หลายประเทศ เช่น มาเลเซียที่เคยเป็นคู่แข่งมาตลอด เขาน่าจะแซงเราไปแล้ว ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะนโยบายที่ชัดเจนของเขา สิ่งที่เขาตั้งเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ เขาจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้

เช่น การตั้งเป้าเป็นเซมิคอนดักเตอร์ฮับของอาเซียน เป็นซิลิคอนวัลเลย์ของอาเซียน เขาบอกว่าจะไปจุดนั้น และบอกเลยว่าองค์ประกอบใดจะไปถึงจุดนั้นได้ โดยเฉพาะเรื่องการจ้างคน นักเรียนที่เรียนสาย STEM คือระบบการศึกษาต้องผลิตคนกลุ่มนี้ขึ้นมา เป็นต้น

แต่สำหรับไทยยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเราจะไปทิศทางใดกันแน่ แม้จะมีเป้าหมาย แต่ยังไม่เห็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Ecosystem ที่ช่วยตอบโจทย์ให้เราไปตามทิศทางนั้นได้

ถ้าเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ว่าเราจะไปทางไหน ทุกอย่างต้องมาเป็นองคาพยพร่วมกันให้เกิดขึ้นได้ จึงจะเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้

การจะไปตามทิศทางนี้ได้ก็อาจจะต้องลดการใช้งบประมาณด้านอื่นๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ว่ามันจำเป็น หรือคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด และมันจะส่งผลระยะยาวได้จริงหรือเปล่า หรือใช้แล้วจบไป คิดว่าน่าจะเห็นทางเดียวกันว่ารัฐบาลควรมองเห็นการปฏิรูปนโยบายเชิงโครงสร้างมากกว่าการขยายระยะสั้นๆ

Temu e-commerce China

แพลตฟอร์มจีนบุกไทย จะรับมืออย่างไรดี

การที่แพลตฟอร์มจีนหรือหลายแพลตฟอร์มที่เข้ามารุกตลาดไทยอย่างหนัก ถ้าจะมองเรื่องภาษีหรือการรักษาผลประโยชน์ของประเทศก็มองได้อีกวิธีหนึ่งที่ทำให้รัฐยังได้รับประโยชน์จากการที่แพลตฟอร์มต่างชาติใหญ่ๆ เข้ามา อาจเป็นเรื่องการนึกถึงภาษีที่เก็บกับดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มทำแล้ว เพราะว่ารูปแบบธุรกิจเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ

เมื่อก่อนการคิดภาษีว่าใครต้องจ่ายภาษีบ้าง ก็จะคิดจากฐานที่ว่า คุณอยู่ประเทศเราหรือเปล่า ถ้ามีการทำธุรกิจ ค้าขาย อยู่ในประเทศที่ตั้ง รัฐบาลมีสิทธิที่จะเก็บภาษี แต่ปัจจุบันรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป คุณไม่ต้องมีสถานประกอบการทางกายภาพ คุณแค่มีอินเทอร์เน็ต มีแพลตฟอร์มที่ให้ผู้บริโภคไทยเข้าไปซื้อของได้ และจ่ายเงิน เงินก็จากไปประเทศอื่นที่เขาจดทะเบียนอยู่ด้วย ไม่ได้อยู่ในเมืองไทย ก็เป็นเรื่องที่ทำให้มีการเก็บภาษียากมากอยู่แล้ว

จะตามเก็บภาษีอย่างไรจากคนที่ไม่จดทะเบียนภายในประเทศ ซึ่งหลายประเทศเริ่มมีแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ผลประโยชน์ยังตกอยู่ในประเทศ ธุรกรรมการซื้อขายมันอยู่ในประเทศเรา แต่เงินไม่ได้อยู่ในประเทศ จะเก็บภาษีอย่างไร

อย่างอินโดนีเซียก็มีการบังคับเลยว่า แพลตฟอร์มจะต้องจดทะเบียนในประเทศเขา เพื่อที่จะติดตามเก็บภาษีได้ หรือว่าบางประเทศอย่างออสเตรเลียก็จะมองว่าการมีธุรกิจในประเทศ แต่เงินหรือว่ารายได้ไปรีพอร์ตที่ประเทศอื่นที่เป็น Tax heaven ถือเป็นการหลบเลี่ยงภาษี

เขาจะมีกฎเกณฑ์ว่า ถ้าจับได้ว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีในประเทศนี้ จะมีบทลงโทษตามมาที่ทำให้เขาต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในการหลีกเลี่ยงภาษี มีหลายรูปแบบที่กำลังทำอยู่

ไทยถ้ากำลังเจอกับพายุคลื่นใหญ่ที่จะถาโถมมาโดยเฉพาะ SMEs ไทยหรือการเก็บภาษีของภาครัฐเองจะหายไป ก็ต้องคิดว่ามาตรการรับมือจะเป็นอย่างไร อันนี้แค่เฉพาะในมุมของการรักษาภาษีของภาครัฐ ยังมีมุมอื่นอีกมาก

นักธุรกิจขนาดเล็กที่เป็น SMEs ในไทย เมื่อเจอกับคู่ต่อสู้แบบนี้ที่ใช้ราคา ใช้ความเร็ว ใช้บริการต่างๆ ที่ค่อนข้างโดนใจผู้บริโภคมาในการแข่งขัน จะรับมืออย่างไร ต้องเป็นมาตรการอีกชุดหนึ่งที่ต้องคิดหนักว่า เราควรจะต้องมีการรักษาผลประโยชน์และปกป้องผลประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ติดตามงานวิจัยชุดใหม่ต่อเนื่องได้จาก KKP Research

KKP Research ได้รวบรวมนักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ ทำเรื่องนโยบายเศรษฐกิจควรจะเป็นอย่างไร เราสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนในวงกว้างว่า ที่เราเป็นประเทศอุตสาหกรรมมาเป็น 40-50 ปี ตอนนี้เราถึงจุดไหน และเราต้องการให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อไปได้

งานวิจัยที่เราเผยแพร่ เราอยากสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนเพื่อให้คนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เริ่มจากรู้ว่ามีความท้าทายหรือปัญหาใดที่เรากำลังเผชิญอยู่ รวมถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน และการศึกษาที่ต้องได้รับการดูแลแก้ไขเปลี่ยนแปลง

สามารถติดตามได้ใน KKP Research เร็วๆ นี้เรากำลังมีบทความเกี่ยวกับ E-Commerce ที่ไทยกำลังเจอศึกใหญ่จากจีนว่ามันมีผลไม่ใช่แค่เฉพาะธุรกิจเล็กๆ แต่ในภาพรวมเชิงมหภาคของเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา