หนี้ครัวเรือนไทยโตต่ำสุดในรอบ 20 ปี แต่ไม่ได้แปลว่า ‘ปัญหาหนี้คนไทย’ ดีขึ้นทันที?

‘หนี้ครัวเรือนไทย’ ดูเหมือนจะดีขึ้น เพราะโตต่ำสุดในรอบ 20 ปี จากหนี้รถหดตัว-สินเชื่อบ้านโตช้า แต่ KResearch บอกไม่ได้สะท้อนว่าปัญหาหนี้ระดับครัวเรือนจะดีขึ้นทันที โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่น หลายบ้านยังหมุนเงินไม่ทัน ต้องก่อหนี้เพราะจำเป็น

ขอบคุณภาพจาก pexels / alex green

รายงานล่าสุดของ KResearch ระบุถึง สถิติหนี้ครัวเรือนไทย ที่ทำให้หลายคนคิดว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยอาจกำลังดีขึ้น

  • หนี้ครัวเรือนเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ปี 2565
  • หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2567 โตแค่ 1.3% โตต่ำสุดเท่าที่เคยเก็บมาตั้งแต่ปี 2546
  • สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ชะลอลงมาเป็น 89.6% ต่ำสุดในรอบ 4 ปี

สาเหตุของปรับตัวลดลงของหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มาจาก 4 ประเด็นหลักๆ คือ

  1. หนี้รถหดตัว : ไตรมาส 2 หดตัว 5.8% หดตัวลึกสุดเป็นประวัติการณ์ และต่อเนื่อง 3 ไตรมาส
  2. สินเชื่อบ้านโตช้า : หนี้บ้านในระบบลดลงจาก 5.3% มาเป็น 3% โตต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
  3. หนี้กินใช้ยังโตอยู่ : ยกเว้นหนี้บัตรเครดิต-หนี้ส่วนบุคคลที่ชะลอตัว แปลว่าคนยังกู้มาใช้ในชีวิตประจำวัน
  4. คนกู้อย่างอื่นที่ไม่ใช่แบงก์ : ไม่ว่าจะเป็นการกู้สหกรณ์ กู้จากกรมธรรม์ประกัน หรือกู้จากโรงรับจำนำที่โตขึ้นในช่วง 12-24 เดือนที่ผ่านมา

KResearch จึงประเมินว่าปี 2567 หนี้ครัวเรือนอาจโตต่ำกว่า 1% และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP น่าจะอยู่ในกรอบ 88.5-89.5%

แต่ถึงอย่างนั้น KResearch มองว่า “แม้หนี้ครัวเรือนภาพใหญ่ของประเทศจะชะลอตัวลง แต่อาจไม่ได้สะท้อนความสามารถในการรับมือกับหนี้ในระดับครัวเรือน”

สาเหตุเพราะผลสำรวจของ KResearch พบว่า ครัวเรือนรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทมีฐานะการเงินบอบบาง ค่าใช้จ่ายและหนี้สินเต็มมือ มีหนี้ 40% ของรายได้ และเป็นหนี้นอกระบบสูง

ส่วนกลุ่มครัวเรือนรายได้ 30,000-70,000 บาทก็มีสัดส่วนหนี้ 40.8% ของรายได้ สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ และเริ่มมีข้อจำกัดในมีหนี้ใหม่ หลายๆ คนมีหนี้มากกว่า 3 ก้อนพร้อมกัน

นอกจากนี้ เมื่อเจาะลงไปถึงสาเหตุของการก่อหนี้ในแต่ละกลุ่มรายได้ พบว่า ครัวเรือน/ผู้รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่ประมาณ 46% มีหนี้ ‘เพราะจำเป็น‘ จึงเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลกระทบกับรายได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ

ที่สำคัญ KResearch ยังชี้ว่า ‘อัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือน’ ในแต่ละปียังคงสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของ ‘ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย’

ดังนั้น หนี้ครัวเรือนที่เติบโตต่ำสุดในรอบหลายปีและหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ต่ำสุดในรอบ 4 ปี จึงไม่ได้สะท้อนว่า ภาระหนี้สินและปัญหาการชำระหนี้ในระดับครัวเรือนจะดีขึ้นตามในทันที เพราะแต่ละครัวเรือนก็มีความสามารถในการรับมือกับหนี้ต่างกัน

KResearch ระบุว่า “แม้หลายครัวเรือนจะบริหารจัดการสภาพคล่องและดูแลภาระหนี้สินที่มีอยู่ได้ แต่ก็มีอีกหลายครัวเรือนเช่นกันที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง สถานะทางการเงินเริ่มมีความเปราะบาง เพราะภาระหนี้เริ่มเต็มมือ”

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา