หนี้ครัวเรือนไทยแตะ 12.34 ล้านล้านบาท เหตุคนหันกู้บ้าน-รถยนต์ต่อเนื่อง

สิ้นเดือนมิ.ย. 2561 (ข้อมูลล่าสุด) หนี้สินครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 12.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% หนี้เยอะขนาดนี้เศรษฐกิจไทยยังจะดีอยู่หรือ?

ภาพจาก Shutterstock

สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจดีทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น

ชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ บอกว่า ตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2561  หนี้สินครัวเรือนของไทยยังเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12.34 ล้านล้านบาท สาเหตุเพราะว่าเศรษฐกิจดีขึ้นทำให้คนเริ่มกู้เงินเพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรอย่างบ้าน และรถยนต์

แต่ถ้าดูเรื่องหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP (คืออัตราส่วนหนี้สินของประชาชนต่อรายได้ของทั้งประเทศ(GDP)) ไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ระดับ 77.5% ลดลงจากปี 2558 ที่พุ่งสูงไปแตะ 80.8% ซึ่งอัตราส่วนที่ลดลงเป็นเพราะ GDP หรือรายได้ของทั้งประเทศเพิ่มขึ้นไม่ใช่หนี้ในระบบลดลง

ภาพจาก shutterstock

โดยคนกว่า 50% ก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ มอเตอร์ไซด์ ฯลฯ ซึ่งเป็นการกู้ยืมเพื่อสะสมสินทรัพย์ ขณะเดียวกันแม้ว่าภาระหนี้จะเพิ่มขึ้น แต่ความสามารถในการชำระหนี้ในระบบยังไม่น่ากังวล เพราะไตรมาส 3/2561 หนี้เสีย (NPL) เพิ่มขึ้น 7.8% น้อยลงว่าก่อนหน้านี้ที่อยู่ระดับ 10.3%

แต่สศช. ยังเฝ้าระวัง 2 ปัจจัยที่อาจทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นได้แก่

  1. มูลค่าหนี้สินครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากมีปัจจัยภายนอกมากระทบความสามารถในการจ่ายหนี้
  2. เมื่อคนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น แต่ถ้าขาดความรู้ ขาดวินัยในการบริหารจัดการด้านการเงิน อาจนำไปสู่พฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัว
ภาพจาก Shutterstock

ภาครัฐ-เอกชนทำอะไรบ้างเพื่อลดหนี้ไม่มีคุณภาพและหนี้นอกระบบ

  1. โครงการคลีนิคแก้หนี้ ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลกในกลุ่มที่ไม่มีหลักประกัน (บัตรเครดิต สินเชือส่วนบุคคล)
  2. การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ กระทรวงการคลังเน้นใน 5 มิติ คือ
    1) เอาจริงในการจัดการเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย
    2) เพิ่มช่องทางให้คนประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ เช่น สินเชื่อฟิโกไฟแนนซ์การจัดตั้ง “หน่วยแก้หนี้นอกระบบ” (Business Unit) ในธนาคารออมสิน
    และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
    3) ลดภาระหนี้นอกระบบโดยมี “จุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ” ณ สาขา ธ.ออมสิน และธ.ก.ส. ทุกสาขา ทั่วประเทศ
    4) หาทางออกให้ลูกหนี้นอกระบบหารายได้มากขึ้น เช่น การสร้างอาชีพ
    5) หน่วยงานรัฐ และชุมชนที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
  3. มาตรการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการและธนาคารออมสินได้ร่วมกันออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา
  4. มาตรการลดภาระหนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อย เช่น โครงการขยายเวลาชำระหนี้ให้เกษตรกรรายย่อย ที่เป็นลูกค้าของธ.ก.ส. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรรายย่อย
  5. การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกและเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทน แก่สมาชิกเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ

สรุป

หนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง สาเหตุหลักเพราะคนยังต้องการขอสินเชื่อว่าจะซื้อบ้านซื้อรถ ไปจนถึงการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่จุดสำคัญที่ต้องติดตามคืออัตราหนี้เสียที่บอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละบุคคล มีหนี้ไม่ได้แปลว่าจะไม่ดีเสมอไปแต่ต้องบริหารให้ได้และใช้ประโยชน์บริการทางการเงินให้เป็น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง