ตลาดเครื่องสำอางในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 2.6 แสนล้านบาท และเม็ดเงินสะพัดก็ยังโตขึ้นทุกปี เพราะไม่ว่าหญิงหรือชายก็อยากดูแลตัวเอง แต่ถ้าตลาดนี้ยังโตอยู่ แล้วแบรนด์ไทยที่อยู่ในตลาด และที่กำลังจะเกิดใหม่จะมีโอกาสมากแค่ไหน
Trust ทำแบรนด์ไทยยังไม่ถึงครึ่งของตลาด
ผิวของร่างกายเป็นสิ่งละเอียดอ่อน ดังนั้นการจะหาอะไรเข้ามาใช้งานก็คงต้องเลือกกันพอสมควร และแบรนด์เครื่องสำอางก็ต้องอาศัยเรื่องความเชื่อมั่น หรือ Trust เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค แต่ปัญหาเรื่องการใช้สารแปลกปลอม หรือการไม่ระวังเรื่องสุขอนามัยของแบรนด์ไทยรายใหม่ๆ จนเกิดข่าวเกี่ยวกับผู้บริโภคใช้แล้วแพ้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ถึงร้ายแรง ส่งผลให้ผู้บริโภคในไทยไม่ค่อยเชื่อมั่นแบรนด์ท้องถิ่นเท่าไหร่นัก แม้บางแบรนด์ของไทยจะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ถูกยอมรับจากทั่วโลกแล้วก็ตาม
เกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย เล่าให้ฟังว่า ถ้าไม่นับสมาชิกของสมาคมที่มีกว่า 500 ราย ผู้ผลิต และจำหน่ายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยก็มีอีกมาก เพราะตอนนี้การสร้างแบรนด์เครื่องสำอางนั้นทำได้ง่าย ทั้งรูปแบบทำส่วนผสมเอง หรือจ้างโรงงานที่รับผลิต (OEM) แต่จากความง่ายนี้ก็ทำให้บางแบรนด์ใช้สารที่ไม่ปลอดภัย เช่น สาร Hydroquinone ที่ใส่กับครีมหน้าขาว จนผู้บริโภคก็ไม่กล้าใช้เครื่องสำอางแบรนด์ไทย และเป็นต้นเหตุให้เกิดอัตราแบรนด์ที่ล้มหายตายจากถึง 30-40% ของแบรนด์ไทยที่ทำตลาดในแต่ละปี
“ตลาดรวมเครื่องสำอางของประเทศไทยปี 2559 อยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท และปีนี้น่าจะเติบโตราว 7-8% โดยมูลค่านี้มาจากเครื่องสำอางแบรนด์ไทยไม่ถึงครึ่งหนึ่ง อ้างอิงจากเมื่อ 2 ปีก่อนมีมูลค่าเพียง 60,000-70,000 ล้านบาท ซึ่งจริงๆ แล้วมันควรจะมากกว่านั้น เพราะไทยเป็นแหล่งผลิตเครื่องสำคัญ และมีมูลค่าเกินครึ่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 5 แสนล้านบาาท ดังนั้นโอกาสของแบรนด์ไทยยังมีอยู่ หากช่วยกันสร้าง Trust และนำนวัตกรรมเข้ามามีส่วนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ และต้องมองตลาดส่งออกต่างประเทศเอาไว้บ้าง”
สมุนไพร 2 แสนกว่าชนิดคือวิธีสร้างแบรนด์
ทั้งนี้เมื่อเจาะไปที่นวัตกรรม การนำสมุนไพรไทยที่มีกว่า 2 แสนชนิดมาประยุกต์ใช้กับการสร้างผลิตภัณฑ์ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยสร้างความแตกต่างระหว่างแบรนด์ไทย กับอินเทอร์แบรนด์อื่นๆ ได้ เพราะสมุนไพรเหล่านี้สามารถหาได้จากที่ประเทศไทยที่เดียว แต่ด้วยองค์ความรู้ของผู้ผลิต โดยเฉพาะกลุ่ม SME ยังมีไม่มากพอ ทำให้การนำสมุนไพรมาใช้ไม่ได้สกัดสารที่อยู่ในสมุนไพร เพียงแต่นำสมุนไพรเหล่านั้นมาใส่ไปดื้อๆ แทนที่สารเหล่านั้นจะออกฤทธฺิ์ กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นการที่ภาครัฐเข้ามาให้องค์ความรู้ และสนับสนุนเรื่องนี้ก็จำเป็น และยิ่งส่งเสริมให้แบรนด์เครื่องสำอางไทยโตไปพร้อมกระแส Organic ด้วย
ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ คณบดี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง และผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ SME’s เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เสริมว่า นวัตกรรมเป็นเครื่องสำคัญในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และช่วยติดอาวุธสินค้าให้แข่งขันได้ในระดับโลก ดังนั้นการสร้างแนวคิดใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการทั้งหน้าใหม่หน้าเก่า ก็น่าจะมีส่วนให้มูลค่าตลาดของแบรนด์เครื่องสำอางไทยเริ่มใกล้เคียงกับแบรนด์นำเข้า โดยตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ Clusion ที่บริษัทเครื่องสำอางเกาหลีใต้นำครีมกันแดด, BB, ครีมบำรุง และอื่นๆ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาใช้หลายผลิตภัณฑ์
ม.44 สร้างความยุ่งยากให้ตลาดเครื่องสำอาง
ในทางกลับกัน นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ย้ำว่า ตอนนี้ทางภาครัฐต้องการเข้ามาควบคุมการผลิต และจำหน่ายมากเกินไป ผ่านการใช้มาตรา 44 สั่งให้ผู้ผลิตเครื่องสำอางต้องจดแจ้งทุกสูตรผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาจำหน่าย เช่นครีมโลชั่นสูตรเดียวกัน แต่คนละกลิ่น จากเดิมที่จดแจ้งแค่ครีมโลชั่นอย่างเดียวก็ได้ ซึ่งปัจจัยนี้ทำให้แบรนด์เครื่องสำอางไทยต้องมีค่าใช้จ่ายในการจดแจ้งผลิตภัณฑ์ละ 1,000 บาทขึ้นทันที และเรื่องนี้เองมีส่วนทำให้ตลาดรวมเครื่องสำอางเติบโตเพียง 7-8% แทนที่จะเติบโต 10% เหมือนที่เคยทำได้ในปี 2559 ที่สำคัญยังทำให้การทำตลาดส่งของของแบรนด์ไทยยากขึ้น
สรุป
เมื่อเครื่องสำอางผลิตออกมาง่าย และสินค้าตัวนี้มีกำไรค่อนข้างเยอะ ทำให้คนที่มีรูปร่างหน้าตาดีก็หันมาลุยธุรกิจนี้มากขึ้น โดยเฉพาะการมาเต้นขายครีมผ่าน Social Media โดยแจ้งคุณสมบัติเกินจริงของสินค้า และทำให้แบรนด์เครื่องสำอางไทยเสื่อมเสียไปตามๆ กัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา