สื่อนอกรายงาน: ไทยจัดการโควิดสำเร็จ แต่เศรษฐกิจพังยับเยิน

สำนักข่าวต่างประเทศ Asia Times รายงาน ประเทศไทยจัดการโควิด-19 ได้ แต่ผลกระทบของการจัดการดังกล่าวทำเศรษฐกิจไทยพัง เสียหายยับเยิน นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดอย่างหนักหน่วงในช่วงเดือนมีนาคม พบว่าแรงงานไทยราว 70% มีรายได้ลดลงราว 47% ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กใกล้ปิดตัวลงราว 11% ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวนั้นรายได้หดตัวถึง 75% 

Bangkok Thailand กรุงเทพ ประเทศไทย
ภาพจาก Shutterstock

คนไทยจะตกงานราว 8.3 ล้านคน หรือประมาณ 21.72% ของทั้งประเทศ

นอกจากนี้ Asia Foundation เผยว่า ผลสำรวจตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ไทยเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักสุด ซึ่งโควิด-19 นั้นมีติดเชื้อในไทยรวม 3,351 คน เสียชีวิต 58 คน ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเตรียมประาศ GDP ไตรมาสที่สองในสัปดาห์หน้านั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะมี GDP ติดลบราว 12% 

จากที่เคยมีการคาดการณ์ว่า GDP จะติดลบอยู่ที่ 8-10% ก่อนที่จะฟื้นตัวอยู่ที่ 4-5% ในปี 2021 โดย TDRI คาดว่ากว่าจะกลับมาเหมือนช่วงก่อนโควิด (ซึ่งเศรษฐกิจในช่วงก่อนโควิดฯ ก็ถือว่าอยู่ในสถานะย่ำแย่) น่าจะใช้เวลายาวนานจนถึงปี 2023 

นอกจากนี้ World Bank (ธนาคารโลก) ยังเคยประเมินว่า วิกฤตโควิดทำให้สถานะทางเศรษฐกิจของประชาชนไม่มั่นคง หรือยากจนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 9.7 ล้านคนในไตรมาสที่ 2 เปรียบเทียบกับไตรมาสแรกอยู่ที่ 4.7 ล้านคน (เพิ่มขึ้นเกิน 2 เท่า) หรือประมาณ 14% จากประชากรทั้งหมดราว 69 ล้านคน ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวถือเป็น 18% ของ GDP มีคนทำงานในภาคนี้ราว 6 ล้านตำแหน่ง

Thailand Royal Palace Bangkok กรุงเทพ พระบรมมหาราชวัง
ภาพจาก Shutterstock

หลังจากที่ปิดพรมแดนและ lockdown ประเทศครั้งแรกในช่วงเดือนมีนาคม จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศลดลง 3-4 ล้านคนต่อเดือนจนจำนวนเกือบเป็น 0 คนในเดือนเมษายน ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าไทยอาจจะปิดการเดินทางระหว่างประเทศไปจนถึงปีหน้า และใช้ tourism bubbles เหมือนกับหลายๆ ประเทศที่ใช้มาตรการนี้และควบคุมโควิด-19 สำเร็จ 

ถ้าเป็นตามที่คาดการณ์จริง หมายความว่าภาคการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างรายได้ในช่วงไฮซีซันหรือช่วงพีคคือช่วงพฤศจิกายนถึงมกราคมก็จะพลาดโอกาสที่จะทำรายได้ในช่วงดังกล่าวไป 

Luzi Matzig ประธานบริษัท Asian Trails Groups ผู้คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยวไทยราว 5 ทศวรรษ ระบุว่า ไทยกำลังมีแพทย์นำประเทศและมีความระมัดระวังมากเกินไป ถ้าเปรียบเทียบได้ ก็เหมือนกับกระทรวงคมนาคมลุกขึ้นมาบอกว่าถ้าเราทำให้ทางหลวงขับรถเร็วน้อยลงจนมีความเร็วเป็นศูนย์ได้ อุบัติเหตุก็จะไม่มีเลย เป็นต้น

ภาพจาก shutterstock

ธุรกิจท่องเที่ยวอยู่รอดยาก ปิดตัวจำนวนมาก อยู่รอด ก็อยู่ได้อย่างลำบาก

ไทยยังกักกันนักการทูต นักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในไทยภายใต้เงื่อนไขกักกัน 14 วันในโรงแรมไทย ซึ่งก็เคยเกิดปัญหาทหาร VIP ของอียิปต์ที่เดินทางออกนอกเขตกักกันของรัฐจนนำไปสู่ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจของจังหวัดระยอง หลังจากที่ก่อนหน้าทั่วประเทศก็ย่ำแย่กับภาวะ Lockdown อยู่ก่อนแล้ว 

ทั้งนี้ ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (Thai Hotels Association: THA) ประเมินว่า โรงแรมทั่วประเทศไทยมีอยู่ราว 66,000 แห่ง มี 17,000 แห่งที่จดทะเบียนถูกต้อง ที่เหลืออีกราว 49,000 แห่งก็รวมทั้งเกสต์เฮาส์ Airbnb มีการจ้างงานราวๆ 1.6 ล้านตำแหน่ง โดย 55% เป็นพนักงานของโรงแรมขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนราว 55%

ศุภวรรณประเมินว่า 50% ที่เป็นโรงแรมจดทะเบียนปิดทำการเพราะไม่มีลูกค้า ขณะที่อีก 50% น่าจะปลดพนักงาน หรือไม่ก็พักงานพนักงาน ทั้งนี้ เธอไม่ได้ประเมินถึงโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องด้วย ซึ่งโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องอาจล้มละลายได้ถ้าไม่มีกระแสเงินสดหมุนเวียน 

แต่โรงแรมส่วนใหญ่ที่มีขนาดใหญ่กว่าสามารถเข้าสู่กระบวนการผ่อนปรนในการชำระหนี้ อาทิ การพักชำระหนี้ได้ เพราะสามารถใช้สินทรัพย์เป็นหลักค้ำประกันได้ ขณะที่โรงแรมขนาดเล็กกว่าและไม่ได้จดทะเบียนทำไม่ได้ ซึ่งสภาพัฒน์ฯ ก็เคยประเมินว่าคนไทยจะตกงานกว่า 8 ล้านคน จากแรงงานที่มีอยู่ทั้งหมดราว 38.2 ล้านคน หรือราว 21.72%

Photo : Shutterstock

ประเด็นผลกระทบต่อโรงแรมต่างๆ นี้ สุนิตย์ เสือเทศ ผู้จัดการแผนกต้อนรับโรงแรม IBIS Styles Chiang Mai เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตโควิด ลูกค้าเริ่มมีจำนวนลดลงบ้างแล้ว ธุรกิจมีการแข่งขันสูงขึ้น โรงแรมต่างๆ เกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้สัดส่วนลูกค้าลดลงไปด้วย เมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าก็เริ่มใช้บริการโรงแรมที่มีระดับราคาลดลง

ต้นปีที่ผ่านมา เชียงใหม่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่มีปัญหาหมอกควัน จากนั้น เมื่อโควิด-19 ระบาด ลูกค้าชาวจีนก็เริ่มหายไป มีการยกเลิกห้องพัก ต่อมาสถานการณ์ก็ค่อยๆ แย่ลงทั้งลูกค้าที่เป็นคนต่างชาติและคนไทยค่อยๆ ลดจำนวนลงตั้งแต่มีนาคม 2020 เป็นต้นมา แต่ละโรงแรมในเชียงใหม่ก็เริ่มปิดกิจการ ไม่เปิดให้ลูกค้าเข้าพักตั้งแต่เมษายนจนถึงมิถุนายน

อีกทั้งมาตรการ Lockdown ก็ทำให้ลูกค้าเข้าพักน้อยลง ขณะเดียวกัน โรงแรมก็ต้องปิดทำการเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินกิจการด้วย การจ่ายเงินเดือนพนักงานก็ลดลงเช่นกัน บางแห่งจ่าย 100% บางแห่งจ่าย 75% บางแห่งให้รับกับประกันสังคมอยู่ที่ 62% เป็นต้น มาตรการที่โรงแรมเตรียมรับมือหลังโควิด-19 ระบาดหนัก คือ แต่ละโรงแรมจะหันมาใช้มาตรการ social distancing มากขึ้น ปรับลดระดับราคาห้องพักมากขึ้น

ในส่วนของโรงแรม IBIS เอง ก็มีโปรโมชั่นอยู่บ้าง เช่น ลูกค้าที่เป็นสมาชิกจะได้รับส่วนลด 33% ลูกค้าสมาชิกรายปีก็จะได้รับเพิ่ม 10% เป็น 43% เป็นต้น

กรุงเทพ Bangkok Thailand
ภาพจาก Shutterstock

สำหรับโรงแรมต่างๆ นั้น ทางเลือกที่เป็นตัวช่วยสำคัญเพื่อให้มีกระแสเงินสดไหลเวียน ก็คือ Voucher สำหรับลูกค้าที่จองห้องพักมาแล้ว จ่ายเงินแล้ว ช่วงโควิด-19 อาจมาไม่ได้ ก็เลื่อนระยะเวลาการเข้าพักได้ไปถึงสิ้นปี นอกจากนี้ ทางโรงแรมก็มีการให้บริการในส่วนของร้านอาหารภายในโรงแรมมากขึ้น โดยแบ่งเป็นช่วงกลางวันให้บริการเครื่องดื่มกาแฟ กลางคืนเป็นผับแจ๊ส เป็นต้น

ปีนี้ สุนิตย์เล่าว่า รายได้ของโรงแรมน่าจะลดลงไปราว 60% จากที่ช่วงไฮซีซันทำรายได้เพิ่มขึ้นถึง 80% ก็น่าจะทำไม่ได้แบบเดิมแล้ว หลายประเทศใยุโรปที่เคยจองข้ามปีก็ทยอยยกเลิกการจองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ลูกค้าคนไทยถือเป็นตัวช่วยสำคัญให้โรงแรมต่างๆ อยู่ได้ ล่าสุด ทางโรงแรมก็เข้าโครงการเราเที่ยวด้วยกันของรัฐบาลด้วย ทำให้คนหันมาสนใจมากขึ้น มีการจองเข้าพักทุกวัน ซึ่งปลายปี ช่วง 3-6 กันยายนนี้ก็จะมีงานไทยเที่ยวไทยที่ไบเทค บางนา ก็สามารถไปขาย Voucher ห้องพักได้ในราคาคืนละ 1,200 บาท

Voucher คือทางเลือกทางรอดของธุรกิจ อยู่รอดได้เพราะกระแสเงินสดหมุนเวียน

นอกจากนี้ ทิฆัมพร (นามสมมติ) เธอเป็นทั้งพนักงานโรงแรมและเป็นทั้งเจ้าของกิจการเกสต์เฮาส์แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ก็พูดถึงประเด็นโรงแรมที่ต้องปิดทำการชั่วคราวยาวนานถึง 3 เดือนเช่นกัน เพราะไม่มีลูกค้าเข้าพัก ลูกค้าส่วนใหญ่เลือกที่จะยกเลิกเข้าพัก ซึ่งโรงแรมก็ขยายเวลาให้ลูกค้าเลื่อนเข้าพักได้ยาวนานถึง 1 ปี ระหว่างนั้นก็กลับมารีโนเวตโรงแรมมากขึ้นและขยายช่องทางตลาดในสื่อออนไลน์มากขึ้น

ทางเลือกที่โรงแรมเลือกทำส่วนใหญ่ คือการขาย Voucher ที่มีระยะเวลาในการเข้าพักยาวนานมากขึ้น ลดราคาห้องพักมากขึ้นเกิน 50% พยายามเพิ่มสิทธิพิเศษเพื่อจูงใจลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้ หลังประเทศอยู่ในภาวะ Lockdown ก็ถือว่าได้รับผลกระทบถ้วนหน้า 

เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่รัฐบาลไม่ได้สั่งปิด แต่นายจ้างจำเป็นต้องปิดโรงแรม เนื่องจากไม่มีลูกค้าเข้า ทำให้นายจ้างต้องเจรจากับพนักงานเพื่อจ่ายเงินเดือนให้ในอัตรา 75% เนื่องจากรายได้ไม่เข้า จากนั้น เมื่อประกันสังคมจ่ายให้ 62% ที่เหลือก็อยู่ที่โรงแรมกับพนักงานว่าจะสามารถจ่ายเพิ่มได้อีกเท่าไรเพื่อที่จะประคับประคองทั้งฝั่งนายจ้างและพนักงานได้ต่อไป 

ขณะที่เกสต์เฮาส์ที่เธอดูแลนั้น อยู่ในบริเวณแถวประตูท่าแพ เธอเล่าว่า ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นชาวยุโรป เข้าพักทั้งระยะสั้นและระยะยาว เมื่อโควิด-19 ระบาด ทำให้รายได้ไม่เข้า ค่าเช่าที่สำหรับเกสต์เฮาส์ก็ต้องจ่ายไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการลดค่าเช่าให้แล้ว ก็ต้องมานั่งทบทวนใหม่ว่าควรจะทำต่อไปหรือปิดกิจการ ทางเกสต์เฮาส์ต้องลดจำนวนพนักงานลง ทิฆัมพรระบุว่า คนทำธุรกิจระดับนี้มีจำนวนมาก เพราะมีขนาดไม่ใหญ่ ถ้าสายป่านไม่ยาวพอแต่ต้องควักเงินจ่ายไปเรื่อยๆ ก็ไม่น่าจะอยู่รอด  

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ภาพจาก ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อรัฐออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 รวม 1.9 ล้านล้านบาท ประเด็นนี้ ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม CARE เคยระบุไว้ว่า เงินที่ใช้จริงๆ จะมีเงินกู้ soft loan หรือมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอยู่ที่ 1 แสนล้านเท่านั้น ขณะที่อีก 12.6 ล้านบัญชีที่จะไม่จ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นคิดเป็น 6.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 36% ของสินเชื่อในระบบทั้งหมด 

ศุภวุฒิระบุว่า SMEs น่าเป็นห่วง กว่า 1.1 ล้านรายซึ่งส่วนใหญ่ทำธุรกิจท่องเที่ยวมีหนี้ราว 2.21 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 47% ของระบบเงินกู้ในกลุ่ม SMEs ซึ่งกลุ่ม CARE ก็เคยเสนอแล้วว่าให้รัฐบาลปล่อย soft loan แก่ SMEs เป็นวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อรักษาการจ้างงานอย่างน้อย 10 ล้านคน 

ที่มา – Asia Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา