การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนเท่านั้น แต่รวมถึงการดำเนินธุรกิจทุกประเภท ทั้งธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงอุตสาหกรรมบริการ
มัวรีน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่คนทั้งโลกไม่เคยเจอมาก่อน มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย และ แดทเทล ได้ร่วมกันเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทย ในการซื้อสินค้าและบริการประเภทต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
คนไทยกังวลโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจสูงที่สุดในเอเชีย
จากข้อมูลการสำรวจพบว่าคนส่วนใหญ่คิดเป็น 3 ใน 4 เชื่อว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะคนไทยกว่า 46% มีความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นเวลานานหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนอีก 40% เชื่อว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราความกังวลที่สูงที่สุดในเอเชีย
ส่วนความกังวลที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นเวลานานหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศอื่นๆ ได้แก่ ประเทศจีน 10% ฮ่องกง 25% และสิงคโปร์ 16%
โควิด-19 กระทบพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทย
ในด้านของพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคชาวไทย ภูวดล ธาราศิลป์ Director of Digital + CRM วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย ได้เปิดพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ประเภทตามประเภทของธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจสินค้าที่มีการจำหน่ายเร็วและมีต้นทุนต่ำ (FMCG) ธุรกิจสินค้าราคาแพงที่ต้องอาศัยการตัดสินใจซื้อมาก และธุรกิจร้านค้าปลีกและบริการ
ธุรกิจสินค้าที่มีการจำหน่ายเร็วและมีต้นทุนต่ำ (FMCG)
สินค้าในกลุ่มนี้ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม และของใช้ภายในบ้าน พบว่าก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าจากหน้าร้านมากกว่าการซื้อบนช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อที่คนนิยมมากที่สุดถึง 76%
แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท นิยมซื้อสินค้าที่หน้าร้านน้อยลง แต่ยังคงนิยมซื้อสินค้าที่ร้านสะดวกซื้อเท่าเดิม หรือมากขึ้นกว่า 52% ส่วนกลุ่มคนที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทขึ้นไป จะซื้อสินค้าต่างๆ เหมือนเดิมหรือซื้อมากขึ้นทั้งจากหน้าร้าน และจากช่องทางออนไลน์
โดยสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าในปริมาณเท่าเดิมหรือมากขึ้น และซื้อด้วยแพคใหญ่ขึ้น ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณการซื้อเพิ่มขึ้นกว่า 52% ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณการซื้อลดลงอย่างชัดเจนคิดเป็น 23%
สินค้าประเภทสุขภาพและความงาม ซึ่งยารักษาโรคมีปริมาณการซื้อที่เพิ่มขึ้น 32% และซื้อในปริมาณเท่าเดิมก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 อีก 50% เนื่องจากยารักษาโรคบางอย่างไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งซื้อยาจากแพทย์ จึงสามารถซื้อเก็บไว้ด้วยตัวเองได้ แต่สินค้าเครื่องสำอางมีปริมาณการซื้อที่ลดลงอย่างชัดเจน คือ 16% และหยุดซื้อไปเลยอีก 12%
สินค้าประเภทของของใช้ภายในบ้าน เป็นสินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผงซักฟอกมีปริมาณการซื้อเพิ่มขึ้น 29% กระดาษทิชชูมีปริมาณการซื้อเพิ่มขึ้น 24% และน้ำยาทำความสะอาดภายในบ้านมีปริมาณการซื้อเพิ่มขึ้น 22%
ส่วนหลังจากผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปแล้ว ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะลดปริมาณการซื้อสินค้าประเภทต่างๆ ทั้งจากหน้าร้านและจากช่องทางออนไลน์ เนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์
ธุรกิจสินค้าราคาแพงที่ต้องอาศัยการตัดสินใจซื้อมาก
สินค้าในกลุ่มนี้ได้แก่ รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การลงทุนการประกัน และการท่องเที่ยว ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แนวโน้มการซื้อสินค้าในกลุ่มนี้ลดลงอย่างชัดเจนในกลุ่มคนที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 40,000 บาท ส่วนคนที่มีเงินเดือนมากกว่า 40,000 บาทขึ้นไป ยังมีความต้องการซื้อสินค้าที่เกี่ยวกับการลงทุน และการประกันอีกกว่า 50% และโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีก 44% ซึ่งอาจมองได้ว่ากลุ่มคนที่มีเงินเดือนมากกว่า 40,000 บาทได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 น้อยกว่า
ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยกว่า 40,000 ซื้อสินค้าในกลุ่มนี้คือ ความจำเป็นมากที่สุดเป็นอันดับแรกกว่า 57% เนื่องจากจำนวนเงินมีอยู่จำกัดจึงต้องตัดสินใจที่จะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าตามความจำเป็นในชีวิต และ 42% ของคนกลุ่มนี้มียี่ห้อสินค้าอยู่ในใจ และ 52% จะเลือกซื้อสินค้ายี่ห้อเดิมที่เคยซื้อมาก่อน
ส่วนผู้บริโภคที่มีรายได้มากกว่า 40,000 บาทขึ้นไปไม่ได้เลือกซื้อสินค้าตามความจำเป็นเหมือนกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยกว่า 40,000 บาท แต่จะเลือกซื้อสินค้าตามความคุ้มค่าในการลงทุนที่จะได้รับ คิดเป็นกว่า 80% และกว่า 69% ของคนกลุ่มนี้มียี่ห้อสินค้าที่อยู่ในใจ และ 56% จะซื้อสินค้ายี่ห้อเดิมที่เคยซื้อมาก่อน
ธุรกิจร้านค้าปลีกและบริการ
ธุรกิจที่รวมอยู่ในกลุ่มร้านค้าปลีก และบริการ ได้แก่ ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง ร้านอาหาร ร้านเพื่อความบันเทิงและการผ่อนคลาย ร้านความงามและสุขภาพ และสถานีบริการน้ำมัน เมื่อสังเกตความถี่ในการใช้บริการของผู้บริโภคพบว่า ร้านเพื่อความบันเทิงและผ่อนคลายมีผู้บริโภคเข้าไปใช้บริการลดลงถึง 60.8% ร้านกิจกรรมเพื่อสุขภาพ (ฟิตเนส) ลดลง 58.1% ร้านอาหารลดลง 56.5% ร้านความงามและสุขภาพลดลง 40.4% และห้างสรรพสินค้าลดลง 36.9% ในขณะที่ร้านค้าปลีก และปั๊มน้ำมันได้รับผลกระทบน้อย คือลดลงเพียง 8.3% และ 13.2% ตามลำดับ
นอกจากนี้ปริมาณการใช้จ่ายในปั๊มน้ำมันส่วนใหญ่ไม่ได้ลดลง มีสัดส่วนเท่าเดิมกว่า 43% และมากขึ้น 5% ส่วนร้านค้าปลีกสัดส่วนการใช้จ่ายมากขึ้น 20% และเท่าเดิมอีก 30%
ทั้งนี้ภูวดลให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่าผู้ประกอบการธุรกิจ หรือบริษัทต่างๆ ควรตื่นตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่อย่าตื่นตระหนกมากเกินไป โดยใช้กลยุทธ์ดังนี้
การสร้างความภักดีต่อสินค้า เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยคงปริมาณความต้องการซื้อของผู้บริโภคไม่ให้ลดลง รวมถึงพฤติกรรมการใช้จ่าย และอัตราการเข้ามาที่หน้าร้านค้า
สินค้ากลุ่ม FMCG ต้องสื่อสารและประชาสัมพันธ์ถึงผู้บริโภคว่ายังคงมีสินค้าสำรองอยู่ในคลังอย่างเพียงพอ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่อยากกักตุนสินค้ามากขึ้น รวมถึงช่องทางการซื้อออนไลน์ต้องมีการจัดโปรโมชันเพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อในจำนวนมากๆ เช่น การจัดส่งฟรี การซื้อ 1 แถม 1
ต้องเข้าถึงผู้บริโภคในช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพราะในช่วงนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องอาศัยอยู่แต่ในบ้าน มีเวลาใช้งานอินเตอร์เน็ตมากขึ้น การประชาสัมพันธ์ให้สินค้าผ่านตาผู้โภคในช่องทางออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญ
ธุรกิจที่ขายสินค้าราคาแพง ควรเข้าใจเหตุผลในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคด้วยการสร้างความจำเป็น สำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย และสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนสำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้มากกว่า
สรุป
ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า COVID-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วโลก แต่ตัวเลขผลสำรวจยืนยันชัดเจนว่า สินค้าที่จำเป็นในการใช้ชีวิตยังคงมีการซื้อในปริมาณปกติ แต่เพิ่มช่องทางออนไลน์มากขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจสินค้าที่ต้องใช้การตัดสินใจซื้อมาก ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เช่นเดียวกับธุรกิจบริการ หลายธุรกิจต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด แต่หลายธุรกิจก็อาจต้องปิดตัวลงเพื่อรอโอกาสในอนาคต
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา