เคยได้ยินวลี ‘คนไทยแปลว่าอิสระ’ ไหม? ซึ่งมันก็คงจริง เพราะพฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนไปตลอดเวลา จนแบรนด์ต่างๆ แทบจะตามไม่ทันเลยด้วยซ้ำ
Brand Inside มีโอกาสเข้าฟังทอล์กของ ‘กล้า ตั้งสุวรรณ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ‘Wisesight ประเทศไทย’ จากงาน ‘AdPeople Symposium 2024’ จึงอยากแบ่งปันอินไซต์น่าสนใจว่าพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยตอนนี้เป็นยังไงมาให้ทุกคนได้อ่านกัน
5 พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในหมู่ผู้บริโภคไทย
Wisesight คือบริษัทที่เชี่ยวชาญในการรวบรวมข้อมูลการตลาดและโซเชียลมีเดีย และ Wisesight ก็ค้นพบพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในหมู่ผู้บริโภคไทยหลายอย่าง…
- คนไทยชอบตามกระแส
นับตั้งแต่ต้นปี 2024 ประเทศไทยมี ‘ประเด็นร้อน’ มากมายที่กลายเป็นกระแสไวรัลบนโซเชียลมีเดีย โดยประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในโซเชียลมีเดีย 10 อันดับแรก ได้แก่
- โอลิมปิกเกมส์ 2024 (171 ล้าน engagement)
- หมูเด้ง (164 ล้าน engagement)
- หมีเนย (124 ล้าน engagement)
- น้ำท่วมภาคเหนือ (100 ล้าน engagement)
- ดิไอค่อนกรุ๊ป (99 ล้าน engagement)
- เทศกาลสงกรานต์ (95 ล้าน engagement)
- ลิซ่า ลลิษา มโนบาล (93 ล้าน engagement)
- วงบอยกรุ๊ป BUS Because of You I Shine (82 ล้าน engagement)
- วันแม่แห่งชาติ (49 ล้าน engagement)
- ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา (41 ล้าน engagement)
จาก 10 อันดับนี้จะเห็นได้เลยว่าทุกอันดับล้วนมียอด Engagement แตะหลักสิบหลักร้อยล้านกันทั้งนั้น สะท้อนพฤติกรรมคนไทยที่เมื่อเจออะไร ‘ไวรัล’ ก็พร้อมจะกระโจนเข้าไปร่วมสนุก ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมติดตามกระแสเหล่านั้นแบบไม่ตกหล่น
- คนไทยชอบคอนเทนต์ฮีลใจและวิดีโอสั้น
ถ้าถามว่าคุณมีวิธีกำจัดความเครียดอย่างไร? คนไทยส่วนหนึ่งคงพร้อมใจกันตอบว่า ให้ดู ‘คลิปสั้น’ น่ารักๆ เอามาฮีลใจในวันที่หมองหม่น ซึ่งจากสถิติแล้ว 8 อันดับคอนเทนต์ยอดฮิต โดยไม่รวมวิดีโอการเมือง ข่าว หรือโฆษณา ได้แก่
- คลิปตลก (#ตลก 48.3 พันล้านวิว)
- คลิปสัตว์ (#สวนสัตว์TikTok 21.2 พันล้านวิว)
- คลิปเต้น (#TikTokบันเทิง 5.6 พันล้านวิว)
- คลิปเพลง (#เพลงฮิตTikTok 2.3 พันล้านวิว)
- คลิปพากิน (#TikTokพากิน 63.9 พันล้านวิว)
- คลิปเด็ก (#เด็กน่ารัก 2.2 พันล้านวิว)
- คลิปทำอาหาร (#ห้องครัวTikTok 30.8 พันล้านวิว)
- คลิปคนหน้าตาดี (#สวย #หล่อ 4.6 พันล้านวิว)
- คนไทยรัก TikTok
จากความนิยมของ ‘คลิปสั้น’ ในข้อเมื่อกี้ จึงไม่น่าแปลกใจถ้าจะบอกว่าปีนี้เป็นปีที่ TikTok กลายเป็นแพลตฟอร์มฮอตฮิตขึ้นมากๆ ไม่ว่าจะเป็นวงการไหนๆ ก็ลงมาเล่นกับ TikTok ไม่เว้นแม้แต่ในอุตสากรรมความสวยความงามและการเงิน
โดยในปี 2024 ยอด Engagement บน TikTok ที่แบรนด์ต่างๆ ได้รับ คือ
- Owned Performance หรือยอดที่ได้รับจากคอนเทนต์ตนเอง 1,288 ล้านหน่วย
- Earned Performance หรือยอดที่ได้รับจากคอนเทนต์ที่คนอื่นพูดถึงตนเอง 4,039 ล้านหน่วย
- คนไทยซื้อของตามอินฟลูฯ
CEO ของ Wisesight ยังแชร์ว่า 82% ของคนไทยติดตามอินฟลูเอนเซอร์บนโซเชียลมีเดีย และ 80% ซื้อผลิตภัณฑ์ตามรีวิวของคนดังเหล่านั้น
โดยสินค้าที่คนไทยนิยมซื้อจากคำบอกเล่าของอินฟลูเอนเซอร์ได้แก่ เครื่องสำอาง เสื้อผ้า อาหารเสริม กระเป๋าหรือรองเท้า และแกดเจ็ตต่างๆ
หากคุณเป็นเจ้าของแบรนด์ แล้วกำลังลังเลว่าต้องจ้างใครมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ นอกจากความเหมาะสมแล้ว ทาง Wisesight ยังแบ่งปันข้อมูลด้วยว่าจริงๆ แล้ว ผู้ใช้งานควรมีผู้ติดตามขั้นต่ำเท่าไหร่ถึงจะนับเป็นอินฟลูเอนเซอร์ของแต่ละแพลตฟอร์ม ดังนี้
- Facebook 75,000 คนขึ้นไป
- Instagram 10,600 คนขึ้นไป
- TikTok 20,500 คนขึ้นไป
- YouTube 18,300 คนขึ้นไป
- คนไทยขี้เกียจต่อคิวจนยอมจ้าง
อีกประเด็นคือ ดูเหมือนว่าคนไทยจะขี้เกียจต่อแถวกันมากขึ้น สะท้อนจากโพสต์บนแฮชแท็ก ‘รับจ้างต่อคิว’ ที่มีมากถึง 3,462 ข้อความ พร้อมยอด Engagement อีก 528,807 หน่วย
ซึ่งช่องทางโซเชียลที่มีการพูดถึงการจ้างต่อคิวมากสุดคือ Facebook (44%) ตามด้วย X (36%), Youtube (5%), แพลตฟอร์มข่าวสาร (4%) และ Instagram (3%)
เข้าใจลูกค้าแล้ว ก็ต้องเข้าใจพนักงานด้วย
ผู้บริหารของ Wisesight บอกว่า แบรนด์จะทำความเข้าใจแค่ความต้องการของผู้บริโภคไม่ได้ เพราะยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนบริษัท ซึ่งก็คือ ‘พนักงาน’
‘กล้า’ อธิบายว่า ยุคนี้สิ่งที่บุคลากรต้องการคือ ‘ความยุติธรรม’ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเด็นได้แก่
- ได้ค่าแรงที่เหมาะสม เป็นธรรมกับเวลางาน และไม่โดนเอาเปรียบสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน
- ได้สิทธิและสวัสดิการวันลาที่เหมาะสม โดยไม่นำวันลามาคำนวณกับเงินเดือนหรือโบนัส
- ไม่โดนเลือกปฏิบัติ จากทั้งหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน
- ตำแหน่งงานเท่าเทียมกับคนทุกเพศ โดยพนักงานสามารถเป็นตัวเองได้ และมีสวัสดิการครอบคลุมไปถึงคู่สมรสเพศเดียวกัน
- บรรยากาศในการทำงานดี ไม่โดนคุกคามทางคำพูดหรือร่างกาย และสามารถทำงานแบบไฮบริดได้
- ให้คุณค่ากับศักยภาพของพนักงานทุกคน ไม่ว่าจะในแง่การสร้างแรงจูงใจการทำงาน การพัฒนาบุคลากร หรือทุนการศึกษาต่างๆ
พอรู้แบบนี้ แบรนด์ควรทำอย่างไร?
จากข้อมูลดังกล่าว Wisesight ชี้ให้เห็นว่า ต่อให้จะเป็น ‘พนักงาน’ หรือ ‘ผู้บริโภค’ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ‘ความสุข’ แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ ‘ธุรกิจ’ มุ่งหวังคือ ‘กำไร’
ดังนั้น เมื่อผสานความต้องการของสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน จะพบว่า จุดร่วมตรงกลางที่ทุกคนอยากได้คือ ‘ความเป็นธรรม’ เพราะถ้าผู้คนได้รับความสุขเกินไป ธุรกิจก็จะเสียเปรียบ แต่ถ้าแบรนด์ได้กำไรมากไป ลูกค้าและพนักงานก็จะถูกเอาเปรียบ
อย่างไรก็ตาม ‘กล้า’ อธิบายว่า ในหลายๆ ครั้ง จุดร่วมของธุรกิจและผู้คน ดันไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสิ่งแวดล้อม
เช่น เวลาเราสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี บางร้านอาจเลือกห่อองค์ประกอบต่างๆ ในถุงพลาสติกแยกยิบย่อย เพราะต้นทุนถูก ส่วนลูกค้าก็ได้รับความสะดวก แต่รู้หรือไม่ว่า มันไม่เป็นมิตรต่อโลก
ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบัน คนไทยเริ่มตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสามารถจำแนกเป็น 3 หมวด คือ
- ประเด็นสิ่งแวดล้อม ถูกพูดถึง 48% โดยประเด็นที่ได้รับความนิยมมากสุดบนโซเชียลมีเดียคือ ‘ภาวะโลกร้อน’ (11.8 ล้าน engagement)
- ประเด็นทางสังคม ถูกพูดถึง 27% โดยประเด็นที่ได้รับความนิยมมากสุดบนโซเชียลมีเดียคือ ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ (11.5 ล้าน engagement)
- ประเด็นการธรรมาภิบาล ถูกพูดถึง 25% โดยประเด็นที่ได้รับความนิยมมากสุดบนโซเชียลมีเดียคือ ‘การร่วมมือกันเพื่อสร้างความยั่งยืน’ (2.8 ล้าน engagement)
ในที่สุด ถ้าแบรนด์อยากอยู่รอด ต้องอย่าลืมนึกถึงความยั่งยืน เพราะนอกจากจะช่วยรักษ์โลกแล้ว ยังตอบโจทย์อุดมคติของคนไทยด้วย
ถ้าธุรกิจไม่รู้จักปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภค ก็อาจเป็นอย่างที่ CEO Wisesight ทิ้งทวนไว้คือ “ถ้าแบรนด์ไม่เปลี่ยน ผู้บริโภคจะเปลี่ยนแบรนด์เอง”
ที่มา: Wisesight
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา