ตามติด ICO การระดมทุนรูปแบบใหม่ กับความเสี่ยงที่ยังไม่มีการกำกับดูแล

บริษัทไทยหลายๆ แห่งเริ่มออก ICO เพื่อระดมทุน รวมถึงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และสตาร์ทอัพชื่อดัง เป็นสัญญาณว่า ความนิยมในการออก ICO กำลังมา ขณะที่หน่วยงานดูแลก็เร่งในการออกกฏหมายที่ขณะนี้ทุกอย่างยังดูคลุมเครือ

ภาพจาก Shutterstock

ประเด็นยอดฮิตสำหรับช่วงเดือนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของการทำ ICO ซึ่งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยก็สนใจที่จะเข้ามาทำ ICO หลายๆ บริษัท บางบริษัทก็ระดมทุนไปได้แล้ว ซึ่งล่าสุดดินแดนแห่ง ICO ที่ยังไม่มีกฏและข้อระเบียบบังคับจากหน่วยงานกำกับดูแลนี้จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

ICO คืออะไร

โดยปกติแล้วในโลกของทุนนิยมการระดมทุนมักจะมีหลายทาง คำที่เรามักได้ยินบ่อยๆ คือคำว่า Initial Public Offering หรือ IPO เป็นการระดมทุนจากประชาชนที่สนใจลงทุนในบริษัทต่างๆ ซึ่งมักจะนำหุ้นมาขายให้เราเพื่อบริษัทจะได้นำเงินทุนที่ระดมทุนได้ไปลงทุนหรือเพิ่มรายได้ โดยที่ผู้ลงทุนจะได้สิ่งตอบแทนมาคือการเป็นผู้ถือหุ้น เป็นแสดงความเป็นเจ้าของชนิดหนึ่ง

แต่การ Initial Coin Offering หรือ ICO จะแตกต่างออกไป โดยการ ICO เราจะไม่ได้ความเป็นเจ้าของ แต่จะได้ Token หรือไม่ก็สกุลเงินดิจิทัลเป็นการตอบแทน ซึ่งอาจมีสิทธิพิเศษที่แตกต่างกันไป บางที่อาจใช้แทนเงินสด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ลงทุนใน ICO หวังว่าจะได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยการ ICO ส่วนมากมักจะบอกว่าจะมีการใช้เทคโนโลยี Blockchain โดยเงื่อนไขต่างๆ จะอยู่บนเอกสารที่เรียกว่า Whitepaper

ในการเก็บข้อมูล การ ICO ที่ประสบความสำเร็จที่มีชื่อเสียงก็เช่น Ethereum ที่ทำ ICO ในปี 2014 โดยผู้ใช้จะต้องจ่ายเป็น Bitcoin เพื่อที่จะได้ Ethereum ไว้ในครอบครอง

บริษัทไทยกับการระดมทุนในอดีต

การระดมทุนของบริษัทไทยก่อนที่จะมี ICO ส่วนมากจะใช้การ IPO บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ หรือถ้าเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้วก็จะใช้วิธีออกหุ้นกู้ เพิ่มทุน หรือไม่ก็ออกตั๋วแลกเงิน (ตั๋ว B/E) ในส่วนการเพิ่มทุนนั้นก็ทำให้สัดส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง เลยไม่เป็นที่นิยมเท่ากับการออกหุ้นกู้ซึ่งถือว่ามีต้นทุนทางการเงินที่ถูกที่สุด

ปัญหาตั๋ว B/E แถมระดมทุนทางอื่นก็ยากงั้น ICO ดีกว่า

หลังจากมี ICO ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศ บริษัทในไทยมองแล้วว่าการ ICO มีต้นทุนการเงินที่ถูกกว่าการออกหุ้นกู้ หรือแม้แต่การออกตั๋วแลกเงิน ซึ่งภายหลังทางตลาดหลักทรัพย์และทาง กลต. เข้มงวดกับการออกตั๋วแลกเงินมากขึ้น เพราะว่าเริ่มมีการเบี้ยวหนี้จากหลายๆ บริษัท ไหนจะเรื่องของการออกตั๋ว B/E ในอนาคตจะต้องให้บริษัทวางหลักประกันมากขึ้น เช่นที่ดิน ฯลฯ และเรื่องของต้นทุนการเงินที่เพิ่มมากขึ้นเพราะความกังวลของเรื่องการเบี้ยวหนี้ ฉะนั้นลอง ICO ดูก็ไม่เห็นเสียหาย

ICO ที่ประสบความสำเร็จ ระดมทุนได้ตามเป้าในช่วงที่ผ่านมาอย่าง JFin coin ของเครือเจมาร์ท

บริษัทไทยกับ ICO

ล่าสุดนั้นบริษัทไทยได้ทำ ICO และวางแผนที่จะทำ ICO อีกหลายราย ทาง Brand Inside ได้รวบรวมบริษัทที่ทำ ICO ไปแล้ว และวางแผนที่จะทำ ICO เร็วๆ นี้

บริษัทที่ทำ ICO สำเร็จแล้ว

บริษัทที่วางแผนจะทำ ICO หรือเพิ่งทำ ICO ไปล่าสุด

  • บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรม ได้วางแผนว่าจะทำ ICO แต่ยังไม่ได้ระบุรายละเอียด แต่ช่วงหลังได้เงียบเรื่องนี้ลงไปแล้ว
  • บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัทเกี่ยวกับที่ควบคุมและปรึกษารับเหมาก่อสร้าง ประกาศทำ ICO โดยมีสินทรัพย์หนุน (Asset backed) รายแรกของไทย ชื่อ ProfinCoin
  • บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีแนวคิดที่จะออก ICO ที่มีชื่อว่า IDEO Coin
  • Stock Radar เป็น Application สำหรับนักลงทุนชื่อดังเปิดตัว Carboneum เป็น ICO ระดมทุน 12 ล้านเหรียญสหรัฐ

มีข่าวจากผู้บริหารเว็บไซต์ TDAX ซึ่งเป็นเว็บไซต์ซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลภายในประเทศไทยว่าบริษัทไทยกำลังที่จะเสนอขาย IPO อีกกว่า 100 บริษัท ถ้าหากหน่วยงานกำกับดูแลยังไม่มีข้อกำหนดและดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้

เรื่องของหน่วยงานดูแล

เราอาจสงสัยว่าในเมื่อมีการ ICO ออกมาแล้ว ใครจะออกมาเป็นคนดูแล ซึ่งในประเทศไทยฝ่ายที่ดูแลกำกับกฏเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องคือใครบ้าง

  1. กลต. เป็นหน่วยงานสำคัญที่สุดในเรื่องนี้ เพราะว่ากฏหมายที่เกี่ยวข้องอาจต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ทันกับเรื่องของการ ICO
  2. ธนาคารแห่งประเทศไทย เราจะเห็นข่าวในช่วงที่ผ่านมาทางธนาคารแห่งประเทศไทย “ขอความร่วมมือ” สถาบันการเงินไม่ให้บริการเกี่ยวสกุลเงินดิจิตอล
  3. กระทรวงการคลัง อาจไม่ได้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการกำกับดูแลโดยตรง แต่ในทางอ้อมสามารถใช้แนวทางกำกับได้หลายแนวทาง (จะกล่าวถึงภายหลัง)

เตรียมคลอดกฏหมายคุม

มีรายงานข่าวว่าผู้บริหารระดับสูงของทาง 3 องค์กรอย่าง กลต. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และรวมไปถึงทาง ธปท. ได้เข้าพบปะหารือกับทางสำนักงานกฤษฏีกาในเรื่องของประเด็นการทำ ICO แต่ทางด้านของการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลยังไม่สามารถควบคุมได้

แนวทางของ กลต. ที่จะดำเนินการกับเรื่องของ ICO

ทาง กลต. ได้ออกเอกสารรับฟังความคิดเห็นเรื่องของการที่บริษัทจะทำ ICO หมดเขตรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อ 22 มกราคมที่ผ่านมา อาจมีบางข้อในเอกสารเป็นแนวทางบังคับที่จะนำออกมาใช้ในเร็วๆ นี้

  • ถ้าการ ICO เข้าข่ายเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ จะต้องปฏิบัติตามกฏหมายและกฏเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย
  • การออก ICO ทำได้หลากหลาย ดังนั้นจะดูเป็นกรณีๆ ไป ว่าเข้าข่าย พรบ. หลักทรัพย์หรือไม่
  • จำกัดการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยไม่เกิน 3 แสนบาทต่อ ICO แต่ละโครงการ
  • การจะทำ ICO ต้องมีคนตรวจสอบจากผู้เล่นในตลาด โดยพิจารณาจาก Whitepaper และเงื่อนไขอื่นๆ
  • การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ICO เช่น การเป็นนายหน้าซื้อขาย การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ต้องมีใบอนุญาต

จากข้อเสนอจากทางของ กลต. แล้วมีความเป็นไปได้ว่าการทำ ICO อาจต้องปฏิบัติตาม พรบ. หลักทรัพย์ หรือไม่ก็กฏหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

มุมมองจากหน่วยงานดูแล

รพี สุจริตกุล เลขาธิการ กลต. ได้กล่าวกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ได้ออกมาเตือนประชาชนในการลงทุนใน ICO ว่ามีความเสี่ยง ถ้าไม่เข้าใจในเรื่องของสกุลเงินดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยบางโครงการมีการนำเทคโนโลยีมาบังหน้า หรือไม่ก็แผนธุรกิจที่ไม่ชัดเจน และยังได้เสริมอีกว่า Whitepaper นั้นเหมือนสัญญาปากเปล่า โดยผู้ลงทุนไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากว่าผู้ระดมทุนผ่าน ICO ทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตาม ซึ่งล่าสุดทางเลขาธิการ กลต. ได้กล่าวกับทาง BBC Thai ว่าอีก 2 อาทิตย์จะมีกฏหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลออกมา

ส่วนทางด้านของ สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังได้ให้สัมภาษณ์กับทางหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ว่า แนวทางกำกับดูแลเรื่องของ ICO และเรื่องของสกุลเงินดิจิทัลน่าจะได้เห็นความชัดเจนภายในปลายเดือนกุมภาพันธ์

ผู้บริหารของเว็บไซต์ TDAX อย่าง ปรมินทร์ อินโสม ได้กล่าวกับทางหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่าเห็นด้วยที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะต้องออกกฏระเบียบในเรื่องของการ ICO ออกมา รวมไปถึงผู้ให้บริการจำหน่าย ICO อีกด้วย แต่ถ้าคุมเข้มจนมากเกินไปก็จะกลายเป็นว่าบริษัทไทยจะออกไป ICO ที่ตลาดต่างประเทศจนหมด

ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารล่าสุดที่ปลัดกระทรวงการคลังขอความร่วมมือ (ภาพจาก Shutterstock)

กระทรวงการคลังอาจใช้วิธี “ขอความร่วมมือ” ไปพลางๆ ก่อน

การขอความร่วมมือล่าสุดกับทางธนาคารกรุงไทยของทาง สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานของธนาคารกรุงไทย โดยห้ามธนาคารกรุงไทยทำธุรกรรมกับเว็บไซต์ TDAX โดยอ้างจากเอกสารของทางธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ให้บริการเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล

อนาคตใกล้ๆ อาจเห็นกระทรวงการคลังใช้วิธีขอความร่วมมือกับทางธนาคารพาณิชย์ไปพลางๆ ก่อนที่ทางกฏหมายหรือว่าข้อระเบียบของทาง กลต. จะประกาศใช้ ซึ่งถือว่าเป็นการกระชับพื้นที่ในส่วนของข้อกฏหมายที่ยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้บริษัทที่ทำ ICO อาจต้องคิดหนัก

ยังไม่สามารถเก็บภาษีเกี่ยวกับ ICO ได้

สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง บอกว่าทางสรรพากรยังไม่สามารถที่จะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเกี่ยวกับเรื่องของ ICO ได้ เพราะว่ายังไม่มีการตีความจากทาง กลต. ว่า ICO เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบไหน

ส่วนทางด้านของประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่าการเก็บภาษี VAT จากการทำ ICO ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน

การลงทุนใน ICO ต้องดูข้อมูลให้ดี เพราะว่าถ้าลงทุนผิดพลาดไปอาจมีความเสี่ยงทำให้เงินหมดกระเป๋าได้ (ภาพจาก Shutterstock)

ICO ส่วนใหญ่ล้มเหลว

การทำ ICO เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาของต่างประเทศ ส่วนใหญ่ล้มเหลว ซึ่งสัดส่วนของความล้มเหลวอยู่ที่ 59% และบางครั้งต่อให้ระดมทุนได้แล้วก็มีทั้งได้เงินแล้วหายไปเลย หรือว่าล้มเลิกไปเลยดื้อๆ ก็มี ถ้าหากบริษัทไทยจะเน้นมาระดมทุนทางด้านนี้จริงๆ แล้วปัญหาที่น่าคิดต่อไปคือว่า หากระดมทุนไม่สำเร็จ จะทำอย่างไรต่อไป

จะเป็นอย่างไรต่อไป?

หากยังไม่มีกฏหมายกำกับดูแลจากทางกลต. ออกมา จะยังมีปัญหาแบบนี้เรื่อยๆ เพราะว่าหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรอความชัดเจนจากทาง กลต. ขณะที่ทุกอย่างยังดูคลุมเครือ บริษัทไทยน่าจะใช้ช่องทาง ICO ในการระดมทุนต่อไป แน่นอนว่าความได้เปรียบอยู่ที่ผู้ออก ICO มากกว่าที่จะคุ้มครองผู้ที่ลงทุนใน ICO

ผู้ที่สนใจลงทุน ICO ก็ต้องอ่านข้อมูลให้ดีๆ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการลงทุน

ที่มาฐานเศรษฐกิจ, BBC Thai

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ