มะพร้าวไทยบุกจีน ตลาดใหญ่มูลค่าเกือบแสนล้าน เพราะคนจีนชอบกินมาก แต่ผลิตเองได้แค่ 6%

รู้หรือไม่? นอกจากทุเรียนไทยจะได้รับความนิยมในตลาดจีนแล้ว ก็มะพร้าวไทยนี่ล่ะที่มีโอกาสเติบโตในจีนสูง

coconut

ปัจจุบัน ธุรกิจมะพร้าวในตลาดจีนกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยสาเหตุคือ

  • ผู้บริโภคให้ความสำคัญแก่อาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น 
  • มะพร้าวมีคุณสมบัติตามธรรมชาติและโภชนาการสูง
  • มะพร้าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสินค้าประเภทต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง

ในปี 2564 มูลค่าตลาดมะพร้าวของจีนอยู่ที่ราวๆ 7 หมื่นล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขนี้จะพุ่งเกิน 9.5 หมื่นล้านบาทในปี 2569

คนจีนกินมะพร้าวเกิน 4 พันล้านลูกต่อปี 

ศูนย์เรียนรู้เกษตรทันสมัย ข้าว-ปลา-มะพร้าว

ประชาชนจีนบริโภคมะพร้าวสดประมาณ 2,600 ล้านลูก และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวอีก 1,500 ล้านลูกต่อปี

แต่ลำพังแค่จีนที่เดียวจะสามารถผลิตมะพร้าวได้เพียง 6% ของความต้องการเท่านั้น ส่งผลให้ต้องนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ และ ‘ไทย’ เองก็เป็นแหล่งส่งออกมะพร้าวอันดับ 1 ของจีน หรือคิดเป็น 60% ของการนำเข้ามะพร้าวทั้งหมด ตามด้วยอินโดนีเซียและเวียดนาม

นอกจากนี้ จีนยังนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปเกี่ยวกับมะพร้าวด้วย โดยเฉพาะ ‘น้ำมะพร้าว’ ที่โด่งดังเป็นอย่างมากในจีน ซึ่งแหล่งนำเข้าน้ำมะพร้าวยอดฮิตคือ เวียดนาม (55.5%) และอินโดนีเซีย (36.4%) ส่วนน้ำมะพร้าวนำเข้าจากไทยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4.9% เท่านั้น

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 สถิติตัวเลขที่จีนนำเข้าสินค้ามะพร้าวมีดังนี้

  • มะพร้าวสดจากต่างประเทศ 558,450 ตัน มูลค่าเกิน 9 พันล้านบาท
  • มะพร้าวสดจากไทย 189,336 ตัน มูลค่าเกือบ 6 พันล้านบาท
  • น้ำมะพร้าวจากต่างประเทศ 87,116 ตัน มูลค่ากว่า 3.7 พันล้านบาท
  • น้ำมะพร้าวจากไทย มูลค่า 185 ล้านบาท

มะพร้าวรันทุกวงการในจีน กาแฟ หม้อไฟ ขนม สกินแคร์

coconut

กระแสมะพร้าวในประเทศจีนเริ่มต้นเมื่อปี 2021 เพราะว่าเครื่องดื่มนมจากพืชกลายเป็นที่นิยม และ 1 ใน 3 ของเครื่องดื่มยอดฮิตนี้ทำจากมะพร้าว

ที่สำคัญ ‘Luckin Coffee’ ร้านกาแฟชื่อดังในจีน ได้นำมะพร้าวมาผสมกับกาแฟ กลายเป็นเมนู ‘Raw Coconut Latte’ ซึ่งทำยอดขายถึง 100 ล้านแก้วต่อเดือน และยังมีเมนู ‘Coconut Cloud Latte’ ที่ยอดขายประมาณ 4.96 ล้านแก้วต่อสัปดาห์

นอกจาก Luckin Coffee แล้ว 92.5% ของร้านกาแฟและชานมในจีน ใช้น้ำมะพร้าวเป็นวัตถุดิบ รวมถึงแบรนด์ชั้นนำอย่าง Starbucks, Chagee และ Coco ด้วย

แวดวงอื่นๆ ก็นำมะพร้าวมาเป็นส่วนประกอบเช่นกัน อาทิ หม้อไฟซุปมะพร้าว ขนมไส้มะพร้าว และสกินแคร์จากมะพร้าว ซึ่งมะพร้าวไทยถูกนำมาใช้ในธุรกิจเหล่านี้

มะพร้าวไทยมีโอกาส คนจีนมั่นใจ ภาพลักษณ์ดี

coconut

เครื่องดื่มมะพร้าวแบรนด์ไทยก็มีสัดส่วนการครองตลาดจีนสูง โดยมีหลากหลายยี่ห้อวางขาย เช่น if, Malee, Cocomax, Hico, KOH Coconut, Innococo และ Lockfun

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยเริ่มบุกตลาดจีนด้วยกาแฟน้ำมะพร้าวแล้วเช่นกัน และผลการตอบรับดีมาก สะท้อนให้เห็นว่าจีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับมะพร้าวไทย ทั้งในรูปแบบของผลสดและผลแปรรูป

‘สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ’ (สคต.) ของเมืองหนานหนิง มองว่า นอกจากมะพร้าวไทยจะอุดมไปด้วยแร่ธาตุแล้ว ยังมีคุณภาพสูง เอกลักษณ์โดดเด่น และรสชาติหวานหอม จึงกลายเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่รักสุขภาพ

สคต. เสริมอีกว่า แม้เวียดนามจะเป็นคู่แข่งอันน่ากลัวสำหรับไทย แต่พวกเขาเชื่อว่า มะพร้าวไทยมีชื่อเสียงและมีภาพลักษณ์ที่ดีในตลาดจีน ดังนั้นทางองค์กรจึงได้ให้คำแนะนำมา 3 เรื่องคือ

  1. ยกระดับการขยายพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวในไทย 
  2. รักษาคุณภาพและมาตรฐานตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางจำหน่าย 
  3. ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของมะพร้าวไทยในตลาดจีน

หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำตามนี้สำเร็จ สคต. เล็งเห็นว่ามะพร้าวไทยจะดึงดูดผู้บริโภคชาวจีน และรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้แน่นอน

ที่มา: DITP

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา