คนไทยตายมากกว่าเกิด ปีที่แล้วเกิดใหม่น้อยกว่า 5 แสน ต่ำสุดในรอบ 70 ปี ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

รู้หรือไม่ ปี 2567 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้วที่คนไทย ‘ตาย’ มากกว่า ‘เกิด’ โดยมีเด็กเกิดใหม่เพียง 462,240 คน ต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี หรือแทบจะเรียกได้ว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ในช่วงปี 2506-2526 ประเทศไทยมีประชากรเกิดใหม่ปีละกว่า 1 ล้านคน แต่นับตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา จำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยก็ลดลงเรื่อยๆ แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ต่ำว่า 5 แสนคน

เด็กเกิดน้อย โครงสร้างประชากรเปลี่ยน กระทบเศรษฐกิจสังคม

บทความ ‘จำนวนเด็กไทยเกิดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สวนทางนโยบายมีลูกเพื่อชาติ’ ของ รศ.ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ‘เด็กเกิดน้อย’ จะกระทบกับ ‘โครงสร้างประชากร’ เพราะจะทำให้ ‘สัดส่วนผู้สูงวัย’ เพิ่มขึ้น

ตอนปี 2548 ไทยเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ (10% ของประชากร)
ตอนปี 2567 ไทยเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ อย่างสมบูรณ์ (20% ของประชากร)

นอกจากนั้น ข้อมูลจากกรมอนามัยยังสะท้อนว่า 60 ปีข้างหน้าจะเหลือ ‘ประชากรไทย’ อยู่แค่ 33 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของสถิติ 66 ล้านคนในปัจจุบัน ซึ่งใกล้เคียงกับคาดการณ์ของศาสตราจาร์เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ที่ประเมินว่า ถ้าไม่มีนโยบายประชากรใดๆ ในที่สุดไทยจะเหลือประชากร 29 ล้านคน และจะลดลงไปเรื่อยๆ

เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยน เด็กเกิดน้อย คนแก่มาก ย่อมกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ตั้งแต่คนลดลง รูปแบบครอบครัวเปลี่ยน ขาดกำลังแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ

คนไทยยังเป็นโสด ไม่อยากมีลูก

กรมอนามัย บอกว่า ที่มาของเด็กไทยเกิดน้อยมาจาก 4 สาเหตุหลัก คือ ยังเป็นโสด ไม่อยากมีลูก มีลูกยาก และอยากมีลูก แต่กฎหมายไม่เอื้อให้มีลูก

  • คนไทยยังเป็นโสด ข้อมูลจากสภาพัฒน์บอกว่า 40.5% ของคนไทยวัยเจริญพันธุ์ยังเป็นโสด
  • คนไทยไม่อยากมีลูก ข้อมูลจากนิด้าโพลบอกว่า 44% ของคนไทยไม่อยากมีลูก เพราะภาระค่าใช้จ่ายสูงและห่วงสังคมไม่เหมาะให้เด็กเติบโต
  • คนไทยมีลูกยาก ข้อมูลจากกรมอนามัยบอกว่า 10-15% ของคู่สมรสไทยประสบภาวะมีบุตรยาก
  • คนไทยอยากมีลูก แต่กฎหมายไม่เอื้อ ข้อมูลจากกรมอนามัยบอกว่า ก่อนหน้านี้ยังไม่มีกฎหมายสมรมเท่าเทียมและยังไม่มีการปรับกฎหมายเกี่ยวกับการรับบุตรบุญธรรมและการอุ้มบุญ

คนไทยมอง ‘เด็กเกิดน้อย’ เป็นวิกฤต แต่คนแต่งงานแล้วก็ยังไม่อยากมีลูก

จากการสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมพบว่า 71% ของคนไทยเห็นด้วยว่าจำนวนเด็กเกิดน้อยเป็นวิกฤตของประเทศ แต่กลับมีเพียง 44% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับนโยบายส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้น

ที่สำคัญ คือ มีคู่สมรสไทยแค่ 33% เท่านั้นที่ยืนยันว่าจะ ‘มีลูก’ จึงอาจเป็นสัญญาณการเกิดที่น้อยลงอีก

ถ้าแบ่งตามอายุจะพบว่า Gen X คือ กลุ่มที่มีแนวโน้มจะมีลูกมากที่สุด (60%) ขณะที่กลุ่ม Gen Z อยู่ในลำดับรองลงมา (55%) และ Gen Y เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะมีลูกน้อยที่สุด (44%)

สถิติทั้งหมดยังคงสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ประชากรไทย ‘มีลูกเพื่อชาติ’ ตัวอย่างเช่นการให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุ 6 ปีแบบถ้วนหน้า แต่ผู้ตอบแบบสำรวจครึ่งหนึ่งเท่านั้ที่มองว่านโยบายนี้จะช่วยให้คนไทยมีลูกมากขึ้น

ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น (49%) ที่เห็นด้วยว่าเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจะช่วยส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้น แทนการจ่ายให้กับครอบครัวรายได้น้อย ทำให้เห็นว่าแค่นโยบายนี้อย่างเดียว ไม่น่าทำให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา