[บทวิเคราะห์] ธนาคารจากไทยเปิดสาขาในจีน ไปจีนทำไม ไปแล้วได้อะไร?

เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อรอบปีที่ผ่านมา ธนาคารยักษ์ใหญ่สองรายของไทย ทั้งธนาคารกสิกรไทย (KBank) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ต่างทยอยไปเปิดสำนักงานใหญ่ที่ประเทศจีนในเวลาห่างกันไม่นาน

เหตุผลที่แบงค์ไทยขยายกิจการไปยังประเทศจีนไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยากอะไรเลย เพราะขนาดของเศรษฐกิจจีนที่มหึมาในระดับที่กำลังจะแซงสหรัฐในไม่ช้า ทำให้ถนนทุกสายมุ่งสู่เมืองจีน และไม่แปลกที่ธนาคารไทยจะไปตั้งสาขาเพื่อให้บริการทั้งธุรกิจไทยไปจีน และธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เหตุผลในการไปจีนจะชัดเจนตรงกัน แต่ธนาคารไทยแต่ละรายก็มีแนวทางการบุกตลาดจีนที่แตกต่างกันไป บทความนี้จึงเป็นการสรุปและเปรียบเทียบยุทธศาสตร์ในการบุกจีนของธนาคารไทยทุกราย

มาถึงตอนนี้ (กรกฎาคม 2561) มีธนาคารไทยไปเปิดสาขาในประเทศจีนแล้วทั้งหมด 4 ธนาคาร ซึ่งก็เป็นธนาคารใหญ่ระดับ Top 4 ของประเทศด้วยเช่นกัน

ธนาคารกรุงเทพ: มาก่อนใครเพื่อน สาขาเยอะที่สุด

ธนาคารกรุงเทพถือเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่ไปเปิดสาขาในประเทศจีน โดยเริ่มเข้าไปตั้งแต่ พ.ศ. 2529, ตั้งสาขาแรกที่เมืองซัวเถา (มณฑลกวางตุ้ง) เมื่อ พ.ศ. 2535 (ปัจจุบันย้ายเป็นสาขาเซินเจิ้น) ตามด้วยสาขาเซี่ยงไฮ้ใน พ.ศ.2538 และสาขาเซียะเหมินกับปักกิ่งในเวลาต่อมา โดยทั้ง 4 สาขาถือเป็นสาขาของธนาคารกรุงเทพ (ประเทศไทย)

หลังจีนเปิดให้ธนาคารต่างชาติสามารถจัดตั้งเป็นธนาคารท้องถิ่น (Locally Incorporated Institution หรือ LII) ใน พ.ศ. 2549 ธนาคารกรุงเทพก็ยื่นขอจดทะเบียนและได้รับการอนุมัติให้ตั้ง ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) ใน พ.ศ.2551 โดยมีธนาคารกรุงเทพ (ประเทศไทย) ถือหุ้น 100% สามารถให้บริการทางการเงินได้เทียบเท่ากับธนาคารท้องถิ่นของประเทศจีน

ปัจจุบัน ธนาคารกรุงเทพมีสาขาทั้งหมดในประเทศจีน 7 สาขา ถือว่าเยอะที่สุดในบรรดาธนาคารไทยทั้งหมด ได้แก่ สำนักงานใหญ่ที่เซี่ยงไฮ้, สาขาปักกิ่ง, สาขาเซี่ยเหมิน, สาขาเสิ่นเจิ้น, สาขาฉงชิ่ง, สาขาเซี่ยงไฮ้ และสาขาย่อยในเขตการค้าเสรีนำร่องเมืองเซี่ยงไฮ้ (ยังไม่รวมในฮ่องกงอีก 2 สาขา) เรียกได้ว่าเก็บครบเกือบทุกเมืองเศรษฐกิจหลักของประเทศจีนแล้ว

ข้อมูลเพิ่มเติม: เว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ, ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง

ธนาคารกรุงเทพ สาขาเซี่ยงไฮ้ กับอาคารที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์ในย่าน The Bund (ภาพจาก Shutterstock)

ธนาคารกรุงไทย: ยึดทำเลทอง “คุนหมิง”

ธนาคารกรุงไทย (KTB) ถือเป็นธนาคารไทยที่บุกมายังประเทศจีนเป็นลำดับที่สอง โดยมาเปิดสาขาที่คุนหมิง มณฑลยูนนาน มาตั้งแต่ปี 2539

ถึงแม้ว่าหลังจากนั้น ธนาคารกรุงไทยไม่ได้ขยายสาขาในจีนอีกเลย แต่ธุรกิจของสาขาคุนหมิงก็ยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากตอนแรกที่ให้บริการธุรกรรมเป็นเงินดอลลาร์ ก็ขยายมาเป็นเงินหยวนและเงินบาทด้วย อำนวยความสะดวกให้ทั้งนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวไทยในพื้นที่มณฑลคุนหมิง

การที่ธนาคารกรุงไทยเลือกพื้นที่คุนหมิง เป็นเพราะมณฑลยูนนานอยู่ใกล้กับภาคเหนือของประเทศไทยมาก สะดวกต่อการค้าชายแดนบริเวณพรมแดนไทย-พม่า-ลาว-จีน ผ่านเส้นทาง R3A

ข้อมูลเพิ่มเติม: เว็บไซต์ธนาคารกรุงไทยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง

ภาพจากศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง

ธนาคารกสิกรไทย: ปักหลัก “เซินเจิ้น” เร่งขยายสาขาก้าวกระโดด

ในบรรดาธนาคารไทยที่มีความใกล้ชิดกับประเทศจีนมากที่สุด คงหนีไม่พ้นธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทย ถึงแม้ว่าธนาคารกสิกรไทยจะมาตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศจีนหลังจากธนาคารกรุงเทพอยู่นานพอสมควร (2551 vs 2560) แต่พอเริ่มมาปักหลักในจีนได้แล้วก็ขยายสาขาอย่างรวดเร็ว

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย ให้สัมภาษณ์ในงานเปิดสำนักงานใหญ่ที่เสิ่นเจิ้นว่า เตรียมแผนการเปิดสำนักงานใหญ่ในจีนมานานมากแล้ว แต่ชะลอไปหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 พอทุกอย่างพร้อมจึงกลับเข้ามาสานฝันเดิมให้เป็นจริง

ปัจจุบัน KBank มีสาขาทั้งหมดในจีนถึง 8 สาขา แบ่งเป็นสาขาของธนาคารกสิกรไทย (ประเทศไทย) และธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน)

  • ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศไทย): สำนักงานผู้แทนปักกิ่ง สำนักงานผู้แทนคุนหมิง สาขาฮ่องกง
  • ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน): สำนักงานใหญ่เสิ่นเจิ้น สาขาเสิ่นเจิ้น สาขาเฉิงตู สาขาเซี่ยงไฮ้ สาขาย่อยหลงกั่ง-เซินเจิ้น

ส่วนเหตุผลที่ KBank เลือกเปิดสาขาที่เซินเจิ้น แทนที่จะเป็นเซี่ยงไฮ้เหมือนอย่างธนาคารรายอื่น ก็ด้วยเหตุผลว่าอยู่ใกล้เมืองไทยมากกว่า ใกล้กับฮ่องกง มีโอกาสเชื่อมต่อธุรกิจไทย-จีนได้ง่ายกว่า

ข้อมูลเพิ่มเติม: เว็บไซต์ธนาคารกสิกรไทย

บัณฑูร ล่ำซำ ในพิธีเปิดสำนักงานใหญ่ของ Kasikornbank (China) ที่เซินเจิ้น

ธนาคารไทยพาณิชย์: เริ่มต้นที่เซี่ยงไฮ้ ขอโฟกัส FinTech จีนด้วย

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นธนาคารไทยรายล่าสุดที่บุกประเทศจีน โดยเปิดสำนักงานใหญ่ในประเทศจีนที่นครเซี่ยงไฮ้ในเดือนกรกฎาคม 2561 ก่อนหน้านี้ธนาคารไทยพาณิชย์มีสำนักงานผู้แทนที่ปักกิ่ง และสาขาฮ่องกงอยู่แล้ว

เหตุผลในการเลือกเปิดสาขาที่เซี่ยงไฮ้ ชัดเจนว่าเป็นศูนย์กลางของธุรกิจการเงินในจีน นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ยังระบุว่าจะใช้สำนักงานใหญ่เซี่ยงไฮ้ เป็นตัวเชื่อมระหว่างธุรกิจ FinTech ในจีน กับโครงการด้าน FinTech ของ SCB ในประเทศไทยอีกด้วย

ปัจจุบัน สำนักงานของ SCB ในเซี่ยงไฮ้มีพนักงานเกือบทั้งหมด รวมถึงผู้จัดการสาขาเป็นคนจีน เพราะคล่องตัวในการให้บริการกับธุรกิจจีนมากกว่า ส่วนระบบ backoffice หลังบ้านของธนาคารยังอยู่ในประเทศไทย เพื่อลดค่าใช้จ่ายและสะดวกในการจัดการ

นายมาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ China Business Development ของธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ข้อมูลกับ Brand Inside ว่าตลาด FinTech ในประเทศจีนต่อสู้กันอย่างดุเดือดมาตลอด และปัจจุบันเริ่มเห็นผู้ชนะในแต่ละหมวดธุรกิจแล้ว ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีแนวทางตรงกันคือ ตลาดในจีนเริ่มอิ่มตัว ต้องขยายออกสู่ต่างประเทศ และอาเซียนคือพื้นที่แรกๆ ที่บริษัทเหล่านี้จะบุกเข้ามา

ตัวอย่างบริษัท FinTech ในเซี่ยงไฮ้คือ Lufax บริษัทด้านเงินกู้-ลงทุนออนไลน์ในเครือยักษ์ใหญ่ Ping An Insurance ที่สามารถต่อกรกับบริษัทไอทีอย่าง Tencent และ Alibaba ที่บุกเข้ามายังตลาดเดียวกันได้อย่างสูสี

ข้อมูลเพิ่มเติม: ธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ในจีนที่เซี่ยงไฮ้

บริการหลักในจีนคือ “สินเชื่อธุรกิจ”

ภาพรวมของธนาคารไทยในจีนทุกรายค่อนข้างเหมือนกัน คือเน้นไปที่ลูกค้านิติบุคคล ด้วยเหตุผลทั้งในแง่รายได้ และเงื่อนไขกฎระเบียบของทางการจีน ที่ค่อนข้างเข้มงวดต่อการเปิดบริการกับลูกค้ารายย่อย ทำให้จุดเริ่มต้นของธนาคารไทยในจีนจึงเป็นลูกค้าฝั่งธุรกิจ

ลูกค้าธุรกิจที่ว่านี้ มีทั้งธุรกิจจีนขยายมาลงทุนในไทย (ผ่านการลงทุนลักษณะ FDI หรือ Foreign Direct Investment) และธุรกิจไทยบุกไปขายสินค้าในประเทศจีน โดยอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพคืออาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งคนจีนเชื่อมั่นในคุณภาพของบริษัทไทย

โมเดลการหารายได้ส่วนใหญ่อยู่ที่การให้สินเชื่อ ตัวอย่างของธนาคารไทยพาณิชย์ที่เพิ่งเปิดสำนักงานใหญ่ในจีน ระบุว่าให้สินเชื่อกับธุรกิจในจีน (รวมฮ่องกง) ไปแล้วมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์

ส่วนบริการอื่นๆ ของธนาคารไทยในจีนก็มีทั้งการโอนเงินระหว่างประเทศ การรับฝากเงินตราต่างประเทศ และเงินฝากสถาบันทางการเงิน เป็นต้น

ธนาคารไทยไปจีน มีสาขาที่ไหนบ้าง

ถ้าหากนำสาขาทั้งหมดในจีนของธนาคารไทยทั้ง 4 รายมาเปรียบเทียบกัน ถ้าไม่นับกรณีของธนาคารกรุงไทยที่เน้นเฉพาะตลาดคุนหมิงแล้ว จะเห็นแนวโน้มของการขยายสาขาของธนาคารอีก 3 รายที่เหลือ ว่าพยายามให้ครอบคลุมเมืองหลักด้านเศรษฐกิจจีนอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง และเซินเจิ้นก่อน

จากนั้นค่อยขยายไปยังหัวเมืองระดับรองลงมาอย่างเฉิงตู คุนหมิง ฉงชิ่ง เซี่ยเหมิน ฯลฯ ถ้าหาก SCB ในฐานะหน้าใหม่ในจีนเดินตามแผนการนี้ การขยายไปยังเซินเจิ้นเพื่อจับตลาดการค้าทางตอนใต้ของจีน ก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผล

รวบรวมโดย Brand Inside ข้อมูล เดือนกรกฎาคม 2561

สานเครือข่ายธนาคารท้องถิ่นจีน ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

วงการธนาคารจีน มีธนาคารยักษ์ใหญ่ 4 รายคือ Industrial and Commercial Bank of China (IBCB), China China Construction Bank Corporation (CCB), Agricultural Bank of China (ABC), Bank of China (BOC) ครอบครองตลาดในระดับชาติ

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ด้วยการกระจายอำนาจท้องถิ่นของประเทศจีน ทำให้จีนยังมีธนาคารท้องถิ่นที่ให้บริการเฉพาะในมณฑลอีกเป็นจำนวนมาก และด้วยขนาดของมณฑลหนึ่งๆ ที่ใหญ่เสมือนเป็นประเทศ ปริมาณธุรกรรมของธนาคารท้องถิ่นจีนย่อมเยอะเป็นเงาตามตัว

การที่ธนาคารพาณิชย์ไทย กระจายตัวกันไปอยู่ตามมณฑลสำคัญต่างๆ ของจีน นอกจากการให้บริการกับลูกค้าธุรกิจในแต่ละมณฑลแล้ว ยังมีประโยชน์ในการสานสัมพันธ์กับธนาคารท้องถิ่นของมณฑลนั้นๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือของธนาคารกรุงไทย กับธนาคารฟู่เตียน (Fudian Bank) ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของมณฑลยูนนาน เป็นต้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา