เกิดอะไรขึ้น เมื่อหุ้น KBANK ทำนิวโลว์ในรอบเกือบ 8 ปี พา SCB และแบงก์อื่นลงตาม

มองมุมมองบทวิเคราะห์ล่าสุดรวมไปถึงมุมมองจากนักวิเคราะห์ถึงเมื่อวันนี้หุ้นกลุ่มธนาคารไทยนั้นได้ปรับตัวลงอย่างหนัก โดยเฉพาะหุ้นธนาคารกสิกรไทยและไทยพาณิชย์ที่ปรับตัวลงหนักสุด

Thai Bank ATM
ภาพจาก Shutterstock

ราคาหุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ในวันนี้ปิดตลาดปรับตัวลดลง 7.38% ปิดราคาที่ 138 บาท โดยเป็นราคาต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี นอกจากนี้ยังส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารนั้นลดลงตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ฯลฯ โดยหลังจากตลาดหุ้นปิดในวันนี้หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นได้คำนวณมูลค่าตลาดของกลุ่มธนาคารหายไปราวๆ 75,000 ล้านบาทภายในวันเดียว

Brand Inside ได้สอบถามกับ กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดย กิจพณ ได้วิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ว่า ในช่วงเช้าวันนี้มีงานพบนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) โดยมุมมองของคุณบัณฑูร ล่ำซำ ได้กล่าวกับนักวิเคราะห์ว่า การดำเนินงานของกลุ่มธนาคารในอนาคตมีความไม่แน่นอนสูง มีการ Disrupt จาก Fintech ต่างๆ ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียม (Non Interest Income) ซึ่งจะเห็นว่าตัวเลขคาดการณ์ (Guidance) ของรายได้ดังกล่าว ลดลงกว้างมาก บ่งบอกถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นและยากต่อการคาดเดา

โดยธนาคารกสิกรไทยได้มีการแจ้งเป้าหมายทางการเงินของปี 2563 ซึ่งตัวเลขหลายๆตัวแย่กว่าตอนปี 2562 เช่น

  • เป้าหมาย NIM เหลือ 3.1-3.3% (จาก 3.3-3.5%)
  • การเติบโตรายได้ค่าธรรมเนียม -5% ถึง -17% (จาก -5% ถึง -7%)
  • NPL เพิ่มขึ้นเป็น 3.6-4.0% จาก 3.3-3.7%

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ นักวิเคราะห์มีแนวโน้มจะปรับลดประมาณการกำไรกลุ่มธนาคารลง ประกอบกับในช่วงปลายวัฏจักรการเติบโต (Late Cycle) การเติบโตสินเชื่อมักจะชะลอ ในขณะที่คุณภาพของลูกหนี้แย่ลง เป็นความเสี่ยงต่อผลการดำเนินงานที่โน้มเอียงไปในทางต่ำกว่าคาด ทำให้พรีเมียมในการซื้อขายหุ้น ซึ่งในอุตสาหกรรมการเงินใช้ราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (Price to Book Value) ต่ำลงเรื่อยๆ จากเดิมโดยเฉพาะช่วงต้นของวัฏจักร (Early Recovery) กลุ่มนี้จะดีกว่าคาดเพราะการฟื้นตัวของสินเชื่อและคุณภาพลูกหนี้ที่ดีขึ้น (NPL ลดลง) ทำให้กำไรมักจะดีกว่าคาด และทำให้หุ้นซื้อขายด้วยราคาต่อมูลค่าทางบัญชีที่สูง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้ผ่านจุดนั้นไปแล้ว

ภายในวันเดียวกันทางธนาคารกรุงไทยได้มีการจัดแถลงข่าวก็ได้เปิดเผยถึงภาพรวมการเจริญเติบโตสินเชื่อในปีนี้อยู่ที่ราวๆ 2.8% ต่ำกว่าที่ธนาคารเคยคาดไว้ที่ 4% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากเรื่องของสงครามการค้า และปัจจัยลบอื่นๆ เช่น ค่าเงินบาทแข็งค่า รวมไปถึงการท่องเที่ยวชะลอตัวลง

มุมมองจากบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ KGI ได้มองว่า หลังจากที่ดูตัวเลขหนี้เสียทั้งหมดในทุกธนาคารนั้น KGI ได้มองว่าแต่ละธนาคารทำได้แค่การประคับประคอง โดยหน้ีเสียที่เข้ามาอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับไตรมาสท่ีแล้ว และเริ่มกดดันการค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองเพิ่ม

บทวิเคราะห์ของ KGI ยังได้กล่าวเสริมว่า แต่กลุ่มธนาคารไทยก็มีศักยภาพในการหารายได้ส่วนเกินเข้ามาชดเชยกับแรงกดดันเรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารหน้ีเสีย ทั้งนี้ภายใต้คุณภาพสินทรัพย์รายธนาคารเราค่อนข้างกังวลกับหนี้เสียของ SCB ท่ีมีเข้ามามาก ส่งกระทบให้มีการตั้งสำรองเพิ่มจำนวนมาก ซึ่งหนี้เสียที่เข้ามาครั้งนี้ได้ทำให้สำรองส่วนที่ธนาคารมีอยู่ต้องลดลง

ขณะที่บทวิเคราะห์กลุ่มธนาคารล่าสุดจากบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ที่ออกในวันนี้นั้นได้มองว่าผลประกอบการของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 3 ที่ผ่านมายังอ่อนแอ โดยเฉพาะการตั้งสำรองของธนาคารไทยพาณิชย์ที่สูงกว่าคาด ขณะเดียวกันธนาคารอื่นๆ นั้นมี NPL เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งตัวส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อปรับโครงสร้างแล้วย้อนกลับมาเป็น NPL

นอกจากนี้มุมมองของ SCBS ในกลุ่มธนาคารในไตรมาส 4 ปีนี้คาดว่าจะยังคงอ่อนแอต่อไป กำไรสุทธิของกลุ่มจะลดลง 14% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีนี้ (แต่ถ้าเทียบกับไตรมาส 4 ของปีที่แล้วจะยังบวก 14%) โดย SCBS มองถึงเรื่องของ

  • คุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวแย่อย่างต่อเนื่อง แต่มีการตั้งสำรองลดลงเนื่องจากธนาคารชะลอการตั้งสำรองพิเศษ
  • NIM ลดลง เพราะคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก
  • การขยายสินเชื่อตามฤดูกาล
  • รายได้ค่าธรรมเนียมที่ดีขึ้นเล็กน้อย
  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ทำให้วันนี้เป็นวันที่หุ้นกลุ่มธนาคารไทยไม่สดใสในรอบหลายปี ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารลดลงถ้วนหน้า

ที่มา – SCBS

Note: เพิ่มเติมบทวิเคราะห์จาก KGI

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ