เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เผย ค่าเงินบาทหลังจากนี้ไม่ได้แข็งค่าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเคลื่อนไหว 2 ทิศทาง เนื่องจากนักลงทุนปรับเปลี่ยนมุมมอง ค่าเงินบาทไทยไม่ได้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven: หลุมหลบภัย) เงินบาทแข็งค่าเกินไปกว่าปัจจัยพื้นฐานที่จะลงทุน ทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ามากขึ้น
Safe Haven* หรือหลุมหลบภัย คือสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีความปลอดภัย มักได้รับความนิยมเมื่อนักลงทุนรู้สึกว่าเงินที่ตัวเองลงทุนอยู่ มีความเสี่ยงสูงขึ้นและมีโอกาสขาดทุน Safe Haven ประกอบไปด้วย เงินสด พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ หุ้นปันผล
แบงก์ชาติยันไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และใช้มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ลดยอดคงค้างชัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ รวมถึงรายงานการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้น เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนตราสารหนี้ของต่างชาติ
รวมถึงช่วงที่มีเงินไหลเข้ามามากๆ แบงก์ชาติได้เข้าไปแทรกแซงไม่ให้เงินบาทแข็งค่า ตลอดจนมาตรการผ่อนคลายที่ออกมาเร็วๆ นี้อีก 4 ด้าน คือการนำเงินเข้ามาของผู้ประกอบการส่งออก เปิดให้คนไทยที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถลงทุนต่างประเทศได้ มีการพูดคุยกับผู้ค้าทองรายใหญ่ให้สามารถซื้อขายทองคำเป็นเงินสกุลดอลลาร์ เหล่านี้อาจไม่เห็นผลเร็ว แต่ช่วยชะลอการแข็งค่าได้
“ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้สบายใจในช่วงค่าเงินแข็งค่าขึ้น พยายามดำเนินการหลายเรื่องให้ชะลอการแข็งค่า รวมทั้งการเข้มงวดในการติดตามเงินที่ไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไร”
ซึ่งก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ไปกล่าวปาฐกถาพิเศษในเงินเปิดตัว “เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนประเทศไทย” (TRBN) ก็ได้พูดถึงประเด็นเงินบาทแข็งค่า จนสำนักข่าว Bloomberg นำไปพาดหัวว่า “นายกรัฐมนตรีไทยบอกให้ประเทศไทยควรใช้เงินดอลลาร์ เงินบาทจะได้อ่อนค่าลง”
ประเด็นนี้ พลเอกประยุทธ์ฯ กล่าวว่า “วันนี้ ปัญหาเรื่องค่าเงินบาท ก็แก้กันทุกวัน มันก็ยังได้อยู่อย่างนี้ เราต้องยอมรับว่าเงินบัญชีเดินสะพัดในประเทศไทยสูงมาก ท่องเที่ยวเข้ามา นู่นนี่เข้ามา เงินบาทเต็มประเทศ เงินทุนสำรองมันเยอะอีก เพราะฉะนั้นทำยังไงให้ใช้จ่ายเป็นค่าเงินดอลลาร์บ้างทั้งการลงทุนในประเทศ ต่างประเทศ ช่วยคิดหน่อย”
“มันจะทำให้เงินดอลลาร์สะสมในประเทศลดลง นี่แหละคือสิ่งที่จะแก้ได้ค่อนข้างจะได้ผลนะ หลายอย่างที่เราทำไปเรื่องดอกเบี้ย เรื่องนู้น เรื่องนี้ มันก็ได้แค่นี้”
“ถ้าเราใช้จ่ายเป็นเงินดอลลาร์ เงินพวกนี้มันจะออกไป เพราะสายการเงินเราแข็งแกร่ง หลายคนก็เอาเงินมาเก็บในไทยนี่แหละ เป็นเงินดอลลาร์ซะเยอะ นั่นแหละ ปัญหาของเรา ถ้าลองช่วยกันทำตรงนี้ ดูสิมันจะเกิดอะไรขึ้น”
ประเด็นเรื่องค่าเงินบาทแข็งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยเผยแพร่บทความเรื่อง 7 ข้อเท็จจริงเรื่องค่าเงินบาท และการปรับตัวภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ดังนี้
เงินบาทแข็งค่ามีทั้งผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ ค่าเงินบาทคือการใช้เงินบาทน้อยลงในการแลกเงินสกุลอื่นจำนวนเท่าเดิม เงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้นำเข้าลดต้นทุนการนำเข้าสินค้า ประชาชนซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศถูกลง ผู้ลงทุนนำเข้าสินค้าทุนถูกลง ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศมีภาระหนี้ลดลง
คนที่เสียประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งคือ ผู้ส่งออกนำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง คนทำงานต่างประเทศนำรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง ผู้ประกอบธุรกิจที่รับเงินสกุลต่างประเทศนำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
แต่ถ้าเงินบาทอ่อนค่า คือการใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเงินตราต่างประเทศ คนได้ประโยชน์คือ ผู้ส่งออกนำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศแลกเงินบาทได้มากขึ้น คนทำงานต่างประเทศนำรายได้ที่เป็นสกุลต่างประเทศแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวรับเงินสกุลต่างประเทศแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
คนเสียประโยชน์จากค่าเงินแข็งค่าคือผู้นำเข้าเพิ่มต้นทุนการนำเข้าเพราะราคาสินค้าและบริการต่างประเทศแพงขึ้น ประชาชนซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศแพงขึ้น ผู้ลงทุนนำเข้าสินค้าทุนแพงขึ้น
ตั้งแต่ต้นปี 2562 เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ FED ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศเช่น ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมาก เงินตราจากต่างประเทศเข้ามาในไทยสูงขึ้น บริบทของเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน บางช่วงแบงก์ชาติเข้าไปดูแลบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็ว เป็นต้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่)
ที่มา – ประชาชาติธุรกิจ, Bloomberg, ทำเนียบรัฐบาล, SET, ธนาคารแห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา