เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี: ยูโรดิ่งสุดในรอบ 20 ปี เงินเยนต่ำสุดในรอบ 24 ปี

ในที่สุด เงินบาทก็อ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี

Thai baht

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่าทิศทางค่าเงินบาทสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 36.45-36.95 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.60 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 35.85-36.73 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปี เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนเงินยูโรและเงินเยนดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี และ 24 ปีตามลำดับ หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI คือตัวเลขทางสถิติที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อหามาบริโภคเป็นประจำ) ทั่วไปเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นเกินคาดที่ 9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 41 ปี

ดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 100bp ในการประชุมวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ ซึ่งดอลลาร์ลดช่วงบวกท้ายสัปดาห์จากแรงขายทำกำไรขณะที่เจ้าหน้าที่ FED ส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตรา 75bp มากกว่า 100bp สำหรับรอบนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นพันธบัตรไทยสุทธิ 1,141 ล้านบาท และ 1,742 ล้านบาทตามลำดับ

Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ
Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ – ภาพจาก Federal Reserve

กรุงศรีมองว่า ตลาดจะจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 21 กรกฎาคม ซึ่งมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ซึ่งภาวะปัจจุบันนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bp อาจไม่เพียงพอที่จะกดการคาดการณ์เงินเฟ้อลง อีกทั้งเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแข็งกร้าวและต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นดอกเบี้ย 100bp ในการประชุมรอบล่าสุด นอกจากนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับรายละเอียดของมาตรการแก้ปัญหาต้นทุนการกู้ยืมที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศสมาชิก ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลีเป็นปัจจัยถ่วงค่าเงินยุโรป

กรุงศรีประเมินว่า ราคาสินทรัพย์ต่างๆ อาทิ ค่าเงิน หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวผันผวนต่อเนื่องขณะที่ตลาดกังวลเกี่ยวกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเฟดยังคุมเข้มนโยบายในอีกหลายเดือนข้างหน้าแม้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ส่วนปัจจัยในประเทศ ผู้ว่าแบงก์ชาติระบุว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นผลของปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งเงินดอลลาร์อาจกลับมาอ่อนค่าได้หากตัวเลขเศรษฐกิจและการคาดการณ์ของผู้ร่วมตลาดต่อการดำเนินนโยบายของเฟดเริ่มเปลี่ยนไป

ที่มา – Krungsri Commentary: Weekly Report

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา