โควิดยืดเยื้อ ทำตลาดรถในประเทศเหลือ 7.2 แสนคัน แม้มีการส่งออกช่วย แต่การผลิตยังน้อยกว่าที่ควร

การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในไทยกลับมาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดมียอดผู้ป่วยสะสม 561,030 ราย (ข้อมูลวันที่ 29 กรกฎาคม) การระบาดที่รุนแรงเช่นนี้กระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศในทุกรูปแบบ

จากผลของการกลับมาระบาดอย่างรุนแรงในรอบนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการทิศทางอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยปี 2564 ใหม่ สำหรับสองกรณีด้วยกัน 

ในกรณีที่การแพร่ระบาดทั้งในไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะอาเซียนสามารถกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงเดือนมิถุนายนได้ภายในไตรมาสที่ 3 จะทำให้ยอดขายในประเทศของไทยและการส่งออกสามารถฟื้นคืนสู่ระดับปกติในเวลาไม่นาน ประกอบกับการติดเชื้อไม่ทำให้เกิดเหตุต้องหยุดการผลิตเป็นระยะเวลานาน ไทยจึงยังสามารถเร่งผลิตรถยนต์ชดเชยได้ตามความต้องการจริงในตลาด

ส่วนกรณีเลวร้ายที่การแพร่ระบาดยือเยื้อ จะส่งผลต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงรวมถึงการส่งออก เมื่อบวกเข้ากับกรณีที่หากเกิดการปิดโรงงานประกอบรถยนต์ในระยะเวลานานกว่ากรณีแรกหรือราว 1 เดือน โอกาสที่จะมาเร่งผลิตชดเชยในช่วงที่สถานการณ์ดีขึ้นในภายหลังจะทำได้ยากกว่า

ผลิตมากน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์โควิด

สำหรับการผลิตหากมีการปิดโรงงานเพื่อควบคุมการระบาดระยะสั้นเพียง 14 วัน จะไม่กระทบต่อปริมาณการผลิตมาก ทางค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนยังมีโอกาสที่จะใช้วิธีเร่งรอบการผลิตเพิ่มขึ้นหลังจากกลับมาเปิดโรงงานเพื่อชดเชยในภายหลังได้ในช่วงที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายมากขึ้น แต่ถ้าค่ายรถต้องเผชิญกับภาวะที่ต้องระงับการผลิตถึงกว่า 1 เดือนจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตทำให้ผลิตได้น้อยลง

การจำกัดวงของการแพร่ระบาดคือหัวใจสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าประเด็นสำคัญอีกด้านที่ควรต้องดำเนินการควบคู่กัน คือ การร่วมมือกันเพื่อเร่งจำกัดวงของการแพร่ระบาดอย่างให้เร็วที่สุดไม่ว่าจะเป็น การเร่งตรวจหาเชื้อระหว่างมาตรการล็อกดาวน์ในกลุ่มโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงของภาครัฐ 

ขณะที่ฝั่งของผุ้ประกอบการในอุตสาหกรรมเองก็จำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอย่างเข้มข้นมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการแยกบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงออกมาอย่างรวดเร็ว 

ส่วนในอนาคต การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพิ่มขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนมีโอกาสมากที่จะนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสต่างๆ รวมถึงลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานควบคู่ไปด้วย

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา