ไทย-อาเซียน ไม่ควรเลือกข้างสหรัฐฯ หรือจีนในศึก AI ผู้เชี่ยวชาญเตือน ควรสร้างเทคโนโลยีของตัวเอง

“ขาดเธอก็เหงาขาดเขาก็คงเสียใจ ไม่อยากจะเลือกใคร อยากเก็บเธอเอาไว้ทั้งสองคน”

แต่สำหรับศึก AI ต่อให้ ‘ทาทา ยัง’ เลือก ‘สหรัฐฯ’ หรือ ‘จีน’ หรือเลือกทั้งคู่ ก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด

จากเวที ‘East Tech West 2025: Thailand Roadshow’ ที่ ‘ไทย’ เป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ มีคำถามสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของ ‘อาเซียน’ ในสนามแข่ง AI ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันว่า แทนที่อาเซียนจะเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ควรมุ่งเน้นการนำจุดแข็งจากทั้งสองมหาอำนาจมาพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง

‘Julian Gorman’ หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากองค์กร GSMA ชี้ว่า หากอาเซียนถูกกดดันให้เลือกข้างใดข้างหนึ่ง จะเป็นพัฒนาการที่ไม่ดีนัก เพราะภูมิภาคนี้พึ่งพาเศรษฐกิจของทั้งจีนและสหรัฐฯ ในหลายมิติ สิ่งสำคัญคือ ควรสร้างมาตรฐานร่วมกัน และใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ ไม่ใช่เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ และจีนต่างเร่งขยายบริษัทด้าน AI ไปยังตลาดต่างประเทศ เพื่อเพิ่มอิทธิพลในเทคโนโลยีขั้นสูง ‘George Chen’ กรรมการผู้จัดการของ The Asia Group ระบุว่า ช่วงแรกหลายประเทศในอาเซียนมีแนวโน้มเลือกใช้โมเดล AI จากฝั่งสหรัฐฯ เช่น Google และ Microsoft

ต่อมา DeepSeek บริษัท AI จากจีน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีต้นทุนต่ำ และใช้โมเดลโอเพ่นซอร์ส ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาให้ตอบโจทย์ระดับภูมิภาคได้

แนวคิดโอเพ่นซอร์สถือเป็นจุดแข็งที่ช่วยให้ประเทศนอกจีนและสหรัฐฯ สามารถสร้างศักยภาพด้าน AI ได้ด้วยตัวเอง โดยฝั่งจีนก็เดินหน้าใช้กลยุทธ์นี้มากขึ้น หลัง DeepSeek เปิดตัว

ขณะที่ในด้านฮาร์ดแวร์ สหรัฐฯ ยังเป็นผู้นำด้วยชิปจาก NVIDIA ซึ่ง Chen แนะนำให้ใช้โอกาสนี้ให้เต็มที่ แต่ก็เตือนว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จีนอาจสามารถผลิตทางเลือกที่มีราคาถูกกว่าได้

ที่สำคัญ Chen ย้ำว่าอาเซียนอย่าเพิ่งรีบเลือกข้าง แต่ให้คิดว่าจะเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างไรให้มากที่สุด

ด้าน Gorman เสริมว่า การบาลานซ์ระหว่างมหาอำนาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับอาเซียน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่พึ่งพาเทคโนโลยีการผลิตจากจีน ส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมก็ยังใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐฯ อยู่มาก

ถึงแม้อาเซียนจะยังตามหลังจีนและสหรัฐฯ ในการพัฒนาโมเดล AI ขั้นสูง แต่ก็มีจุดแข็งเฉพาะตัว Chen ระบุว่า AI ต้องถูกนำไปใช้งานจริงในผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งอาเซียนมีระบบนิเวศของแอปพลิเคชันที่แข็งแรง กลุ่มประชากรส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ และต้นทุนด้านการวิจัยและพัฒนาต่ำกว่าหลายประเทศ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ‘มาเลเซีย’ โดยเฉพาะในรัฐยะโฮร์ ที่กลายเป็นศูนย์กลางศักยภาพด้านดาต้าเซ็นเตอร์ และการประมวลผลด้วย AI

Chen ยังเสนอว่าประเทศในอาเซียนควรเปิดรับบริษัทต่างชาติที่มีศักยภาพสูง เพื่อเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เช่นเดียวกับที่จีนเคยทำเพื่อไล่ทันประเทศตะวันตก

นอกจากนี้ Gorman ยังมองว่า อาเซียนมีศักยภาพที่ให้ทั้งจีนและสหรัฐฯ สามารถมาหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ เหมือน ‘สิงคโปร์’ ที่ออกกรอบนโยบาย Shared Responsibility Framework ไว้รับมือกับปัญหาการฉ้อโกงข้ามชาติ

ในขณะที่สหภาพยุโรป เดินหน้าออกกฎควบคุม AI แล้ว แต่ฝั่งสหรัฐฯ และประเทศในอาเซียนยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน Chen จึงเสนอว่า ประเทศในภูมิภาคควรร่วมมือกัน สร้างกรอบนโยบายร่วม เพื่อให้มีบทบาทที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในเวทีการกำหนดอนาคตของ AI ระดับโลก

‘ไทย’ ไม่แค่ใช้ แต่ขอสร้าง AI เอง

ท่ามกลางการแข่งขันด้าน AI ระหว่างสองมหาอำนาจ ประเทศไทยกำลังเลือกเส้นทางของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่การเลือกข้าง แต่เป็นการลุกขึ้นมาพัฒนาศักยภาพในแบบที่ตอบโจทย์ ‘ประชาชน’ และ ‘เศรษฐกิจ’ โดยตรง

จากงาน ‘Bangkok AI Week 2025’ ที่ผ่านมา ‘กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม’ โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ประกาศชัดว่า ไทยไม่ได้แค่ ‘พร้อมใช้’ AI จากสหรัฐฯ หรือจีน แต่พร้อม ‘สร้าง’ และ ‘กำหนดทิศทาง’ ของตนเองอย่างมีจริยธรรม

‘ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด’ ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA บอกว่า แม้โลกเพิ่งตื่นตัวกับ AI หลังการมาของ ‘ChatGPT’ แต่ในความเป็นจริง ประเทศไทยวางแผน AI ระดับชาติมาตั้งแต่ก่อนนั้นหลายปี 

ไทยเริ่มพูดถึงการจัดทำยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติมาตั้งแต่ก่อนปี 2565 โดยร่วมกับ ‘กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม’ ร่างแผนขึ้นในยุคที่ยังไม่มีใครเห็นภาพ AI ชัดเจนเหมือนวันนี้

“ตอนนั้นเรียกได้ว่าเราต้องมโนล้วนๆ เพราะ ChatGPT ยังไม่มา ไม่มีใครสนใจ AI จริงจัง แต่ไทยวางแผนไว้ก่อนแล้ว”

เมื่อ AI กลายเป็นวาระระดับโลก ไทยก็ไม่รอช้า ดำเนินการทั้งในเชิงนโยบายและกฎหมาย แถมยังเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ร่างกฎหมาย AI ถึง 2 ฉบับ เพื่อรองรับทั้งนวัตกรรม และการคุ้มครองผู้ใช้

‘ดร.ศักดิ์’ ย้ำว่า AI ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีล้ำยุค แต่คือเครื่องจักรกลขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ พร้อมชี้ว่าถึงไทยจะยังไม่ใช่ผู้ครองเทคโนโลยีระดับโลก แต่ดัชนี ‘Digital Evolution Index 2025’ จัดให้ไทยติดอันดับ 7 ของโลกในด้าน ‘Momentum’ หรือศักยภาพในการเร่งเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัล

ซึ่งสะท้อนว่า หากมีแผนยุทธศาสตร์ที่ถูกทาง ไทยก็สามารถเป็น ‘ผู้นำ’ ระดับภูมิภาคได้

สำหรับแผนของกระทรวงดิจิทัลแบ่งออกเป็น 2 แกนหลัก:

  1. AI Readiness: สร้างความพร้อมทั้งในด้านกำลังคน และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบคลาวด์ และแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์ส โดยตั้งเป้าภายใน 2 ปี จะมีผู้ใช้งาน AI อย่างน้อย 10 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญ AI 90,000 คน และนักพัฒนา AI 50,000 คน ผ่านการ reskill และ upskill ที่ตรงกับความต้องการของตลาด
  2. AI Adoption: นำ AI ไปใช้จริงในอุตสาหกรรมสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม หรือทำให้ AI กลายเป็นเครื่องมือเพิ่มคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง

แม้ภาคเอกชนไทยจะปรับตัวไว และก้าวไกลอยู่แล้ว แต่ภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในฐานะ ‘ผู้อำนวยความสะดวก’ มากกว่าการลงมือทำเอง ‘ดร.ศักดิ์’ ชี้ว่า รัฐควรใช้พลังของตัวเองไปกับการกระตุ้นความต้องการ การกำหนดทิศทาง และการปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการทดลอง เช่น เปิดพื้นที่ sandbox ให้หน่วยงานรัฐนำ AI ไปใช้จริง รวมถึงสร้าง LLM ของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดนักพัฒนาไทย และความเข้าใจในระดับลึก

‘ดร.ศักดิ์’ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ถึงไทยจะผลิตชิปเองได้บางส่วน แต่คำถามสำคัญคือ “มีคนกับงบประมาณพอไหม” พร้อมเตือนว่า อย่าก็อปโมเดลของต่างประเทศมาใช้ทั้งหมด เพราะอาจกลายเป็นภาระเกินจำเป็น ไทยต้องหาจุดสมดุลของตัวเอง

‘เอกชน’ มอง ไทยควรสร้างเป็นบางส่วน ไม่ใช่แข่งทุกด้าน

‘นพ.ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์’ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Preceptor AI มองว่า ในขณะที่หลายประเทศกำลังเร่งพัฒนาไปสู่ ‘ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป’ (Artificial General Intelligence หรือ AGI) ไทยควรเลือกมุ่งเน้นในจุดที่ยังมีความได้เปรียบ เช่น แบบจำลองขนาดเล็ก ซึ่งสามารถนำมาใช้งานจริงได้รวดเร็ว และเหมาะกับบริบทของไทยมากกว่าแบบจำลองขนาดใหญ่

โดยเสนอว่า ไทยควรเน้นการพัฒนาในสองระดับ ได้แก่ การปรับแต่งให้เหมาะกับผู้ใช้ในประเทศ และการสร้างเครื่องมือที่ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน มากกว่าจะมุ่งแข่งขันในระดับแกนกลางของเทคโนโลยี

ด้าน ‘พชร อารยะการกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลูบิค กรุ๊ป เห็นตรงกันว่า เทคโนโลยี AI ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แบบจำลองเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีโอกาสอีกมากในชั้นอื่นๆ เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบสนับสนุน และโปรแกรมประยุกต์

เขามองว่า ประเทศไทยไม่ควรตั้งเป้าแข่งขันกับแบบจำลองระดับโลกโดยตรง แต่ควรสร้างขึ้นเองบางส่วนเพื่อใช้เป็นเวทีในการเรียนรู้และต่อยอด ไม่ใช่เพื่อเอาชนะ

เนื่องจากปัจจุบันยังมีผู้ใช้งานจำนวนมากที่เข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ โดยเฉพาะความเข้าใจผิดว่า “คำตอบของ AI ต้องแม่นยำเสมอ” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ระบบให้ผลลัพธ์จากความน่าจะเป็น ไม่ใช่ความถูกต้องแน่นอน

AI ไทยไม่ต้องใหญ่ แต่อย่าไร้ทิศทาง

สรุปก็คือ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลระดับเล็ก หรือแอปพลิเคชันเฉพาะกลุ่ม การสร้างอธิปไตยด้านเทคโนโลยีของไทยไม่จำเป็นต้องอิงฝั่งใดฝั่งหนึ่ง แต่ควรใช้จุดแข็งของตัวเอง นั่นก็คือ ทุนมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐานที่กำลังพัฒนา และความเข้าใจเชิงนโยบาย เพื่อสร้างระบบนิเวศ AI ที่เป็นของคนไทยเอง

ที่มา: Bangkok AI Week 2025, CNBC, ทำเนียบรัฐบาล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา