การบินไทยเตรียมออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ เดินหน้ากลับไปซื้อขายใน SET ไตรมาส 2/2568

การบินไทยเผย แผนฟื้นฟูไม่ได้ทำกันง่ายๆ รายได้ที่มากขึ้นทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะขายทรัพย์สินออกไป แต่เป็นเพราะการบริหารจัดการต่างหาก

หลังจากที่มีข่าวการบินไทยยื่นไฟลิ่งเตรียมปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ จากนั้นก็มีงานแถลงข่าวประกาศทิศทางการเติบโตของการบินไทย

Thai Airways

ความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนี้

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ กล่าวถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการว่า ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ช่วงก่อนโควิด ฐานะทางการเงินช่วงนั้นของการบินไทยไม่ค่อยดี ขาดทุนต่อเนื่องหลายปี

พอประสบปัญหาโควิดระบาด บินรับผู้โดยสารไม่ได้ บินได้แต่ขนส่งสินค้า ขาดทุนอย่างหนัก กระทรวงการคลังก็โอบอุ้มจนพ้นสภาพจากรัฐวิสาหกิจ จากนั้นก็ยื่นเรื่องเข้าสู่การฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย ไม่ต้องจ่ายเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าเช่าเครื่องบิน แต่มีค่าใช้จ่ายคงที่อีกหลายรายการที่ยังต้องจ่ายต่อไป หลังจากนั้นก็เตรียมทำแผนฟื้นฟู

จากนั้นศาลก็มีคำสั่งเมื่อ 14 กันยายน 2563 ให้บริษัทเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เงินก็ไหลออกเรื่อยๆ ค่าใช้จ่ายพนักงานเดือนละ 2,400 ล้านบาท รายรับมาจากคาร์โกเป็นหลัก รายได้จากปาท่องโก๋นิดหน่อย ไม่มาก พอทำแผนเรียบร้อย ยื่นต่อศาล ศาลเห็นชอบแผนในวันที่ 15 มิถุนายน 2564

ตั้งแต่ทำแผน อำนาจก็โอนสู่ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน การดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็เร่งดำเนินการให้องค์กรสถานะทางการเงินดีขึ้น แผนชุดแรก เงินภาครัฐก็ไม่มา เงินใหม่ก็ไม่มา เราไม่ได้เงินใหม่จากภาครัฐหรือผู้ถือหุ้นเข้ามาช่วย เมื่อมองย้อนกลับไปก็เป็นสิ่งที่ดี ทำให้ต้องเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรอย่างจริงจัง

จากนั้น ผลการดำเนินงานดีกว่าที่คิด ต่อมาก็แก้แผน ลดเงินกู้ที่ต้องการลงมา แผนฟื้นฟูฉบับใหม่ (ฉบับปัจจุบัน) ได้รับความเห็นชอบจากศาลเมื่อ 20 ตุลาคม 2565 คือการแปลงหนี้เป็นทุนของกระทรวงการคลัง 100% (มูลค่า 12,827,461,287 บาท) และชำระหนี้คงค้าง 24.50%

หลังแก้ไขแผนครั้งที่สอง ทุกอย่างดำเนินการเรียบร้อย เราเข้าสู่การดำเนินการขั้นสุดท้ายแล้ว หลังจากนั้นจะเลือกกรรมการใหม่เข้ามาบริหารบริษัท

Thai Airways

แผนปัจจุบันมีเงื่อนไข 5 ข้อในการยุติการฟื้นฟู ออกจากแผน ภาระผูกพันกับเจ้าหนี้ ยังต้องจ่ายตามแผน
ความสำเร็จของแผน ดังนี้

1. จดทะเบียนเพิ่มทุนเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทุน (เพิ่มทุนเป็น 336,824,601,650 บาท แล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565)

2. ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่เกิดเหตุผิดนัด นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการถึงปัจจุบัน

3. EBITDA หลังหักเงินสดค่าเช่าเครื่องบิน ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง

4. ส่วนของผู้ถือหุ้นต้องเป็นบวก (30 มิ.ย 67 ยังติดลบอยู่ แต่ผลประกอบการไตรมาส 3 จะทำให้ติดลบน้อยลง จากนั้นถ้าแปลงหนี้เป็นทุน ก็จะทำให้ทุนเป็นบวกภายในปลายปี 2567)

5. ตั้งกรรมการใหม่ (บริษัทจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 เพื่อแต่งตั้งกรรมการใหม่

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ

การที่การบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ อยู่ใต้แผนฟื้นฟู ทำให้คล่องตัวขึ้น ไม่มีกฎระเบียบรัฐวิสาหกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถสะสมเงินในบริษัทกว่า 80,000 ล้านบาท โดยไม่มีเงินใหม่เข้ามา

วันนี้การบินไทยมีเงินสด 82,000 ล้านบาท โดย 10,000 ล้านบาทมาจากการขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็น เช่น เครื่องบินเก่าที่ไม่ได้บินหลายปีแล้ว ฯลฯ ส่วนอีก 70,000 ล้านบาทมาจากการประกอบการธุรกิจการบินและธุรกิจอื่นๆ ของบริษัท โดยการตัดสินใจเชิงพาณิชย์เป็นไปตามความคุ้มค่า

ขอขอบคุณพนักงานทั้งปัจจุบันและพนักงานที่ออกไปแล้ว เพราะก่อนโควิดระบาด ค่าใช้จ่ายพนักงานอยู่ที่ 2,400 ล้านบาท เมื่อการบินไทยลดพนักงาน 50% รายจ่ายลดลงเหลือ 700 ล้านบาทต่อเดือน มีการจ่ายค่าชดเชยที่อาจจะสูงกว่ากฎหมายแรงงานนิดหน่อย แต่ไม่ได้จ่ายทันทีตามกฎหมายแรงงาน มีการเจรจาขอทยอยจ่ายเป็นเวลา 12-13 เดือน เพราะถ้าจ่ายทันทีก็ไม่มีเงิน บริษัทก็ล้มละลายทันที ก็ต้องขอขอบคุณพนักงานที่เสียสละ ส่วนพนักงานที่ยังอยู่ก็ยอมลดเงินเดือนโดยความสมัครใจ

การบริหารจัดการภายในเป็นไปอย่างโปร่งใส สามารถเลือกคนที่มีความสามารถเข้ามาได้ โดยไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก รวมทั้งการจัดซื้อด้วย ฝูงบินก็ชัดเจนแล้วว่าใน 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีที่ฝูงบินของการบินไทยจะโตขึ้น แต่ก็ยังตามการเติบโตของตลาดไม่ได้ แต่ก็ยังดีกว่าที่จะยังอยู่ในระดับเดิม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา