อ่านงบปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์เป็นอย่างไร?

เมื่อวานนี้ (3 ม.ค. 67) นายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’  ได้แถลงเรื่องที่หลายฝ่ายจับตามองอย่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่มีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนสำคัญต่อการเดินหน้าของประเทศไทย

ว่าแต่ภายใต้วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง?

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เปิดเผยรายละเอียดของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ต่อสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่า 

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นจำนวนไม่เกิน 3.48 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

  • ค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 3.36 ล้านล้านบาท 
  • เพื่อชดใช้เงินคงคลังอีก 0.11 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ระบุว่าอีกว่า งบประมาณฯ ปี 2567 นี้ได้วางแผนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา , สภาวะทางเศรษฐกิจ, ฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ รวมถึงแนวทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ โดยจะเร่งฟลิกฟื้นเศราบกิจในระยะสั้นผ่านการสร้างอุปสงค์ในกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย เพื่อขยายการลงทุนและการผลิตทำให้เกิดอุปทานและพัฒนาทั้งห่วงโซ่อุปทานขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเมืองรองมากขึ้น นอกจากนี้มุ่งมั่นจัดการปัญหาหนี้นอกระบบ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลระบุว่า จะให้ความสำคัญด้านสังคมและความมั่นคง พัฒนาในหลายด้านทั้งระบบสาธารณสุข การจัดการยาเสพติด ความั่นคงของประเทศ และรวมถึงระบุว่าจะเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่      

ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิจำนวน 2.91 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.4% จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 0.12 ล้านล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.9% จากปีงบฯ ก่อนหน้า

ดังนั้น จากตัวงบประมาณฯ ปี 2567 ที่ตั้งไว้ 3.48 ล้านล้านบาท จะมาจากรายได้สุทธิ 2.78 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 0.69 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณที่ผ่านมา  และสามารถตั้งงบประมาณชำระคืนต้นเงินกู้  การชดใช้เงินคงคลัง และการตั้งงบประมาณรายจ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้ 

ทั้งนี้จากงบประมาณฯ ปี 2567 ที่ตั้งไว้ 3.48 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

  • รายจ่ายประจำ 2.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72.8% 
  • รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 0.11 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 3.4% 
  • รายจ่ายลงทุน 0.71 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20.6%
  • รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 0.11 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 3.4%  

ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7,230.2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากแบ่งตามงบประมาณ ปี 2567 ตาม 6 ยุทธศาสตร์ (จากการนำยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติมากำหนดเป็นกรอบ) มีรายละเอียดดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย 390,149.3 ล้านบาท คิดเป็น 11.2% ของวงเงินงบประมาณเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุขสามารถรับมือกับภัยคุกคามและภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล  

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 393,517.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.3% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกด้านให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยมีเป้าหมายกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 561,954.2 ล้านบาท คิดเป็น 16.1% ของวงเงินงบประมาณ  เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี  การศึกษาได้รับการปฏิรูปให้ตอบสนองต่อนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง  สร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งในและนอกระบบการศึกษา  สนับสนุนการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์  พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน ครอบคลุม ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างศักยภาพทางการกีฬา รวมทั้ง ผลิตกำลังคนและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย  และวางรากฐานเศรษฐกิจในอนาคต 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 834,240.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.0% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐานอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมและกลไกที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน พัฒนาระบบสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค และการศึกษาที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งสร้างหลักประกันสวัสดิการ สำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ และสนับสนุนการเตรียมความพร้อมสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย  

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 131,292.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.8% ของวงเงินงบประมาณ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว และบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 604,804.5 ล้านบาท คิดเป็น 17.4% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม 

นอกจากนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น  การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ  และชดใช้เงินคงคลังไว้ 564,041.2 ล้านบาท คิดเป็น 16.2% ของวงเงินงบประมาณ แบ่งเป็น

  • รายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 99,300.0 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล  รวมทั้งชดเชยค่างานก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
  • การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 346,380.1 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 118,320 ล้านบาท  ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 228,060.1 ล้านบาท  เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ        
  • รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 118,361.1 ล้านบาท เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้ใช้จ่ายไปแล้ว ตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ด้านเศรษฐกิจไทยปี 2566 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่า GDP จะเติบโตที่ 2.5% ขณะที่ปี 2567 นี้คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 1.7 – 2.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 

ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออก การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว ที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยท้าทายและปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ 

  • แรงขับเคลื่อนด้านการคลังที่ลดลง
  • ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง
  • ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคการเกษตร
  • ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 
  • ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์
  • ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง
  • ราคาพลังงานที่ผันผวน  

ทั้งนี้ ด้านฐานะการคลังของไทยพบว่า มีหนี้สาธารณะคงค้าง (ณ 31 ต.ค. 2566) อยู่ที่ 11.12 ล้านล้านบาท  คิดเป็น 62.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ 70% โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรง และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 10.53 ล้านล้านบาท

ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง (ณ 31 ต.ค. 2566)  มีจำนวนทั้งสิ้น 0.29 ล้านล้านบาท   

ด้านฐานะและนโยบายการเงิน ปัจจุบันมีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% ต่อปี ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ยังอยู่ที่ระดับต่ำที่ 0.5% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ (ณ 30 ก.ย. 2566) มีจำนวน 0.21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.74 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ที่มา รัฐบาลไทย, สำนักงบประมาณ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา