ปรับความคิดจากผลิต เป็นออกแบบ-ชูนวัตกรรม ยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอ 2 แสนล้านเติบโตอย่างยั่งยืน

ในอดีตไทยเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของโลกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะค่าแรงต่ำ และงานออกมามีคุณภาพสูง แต่ตอนนี้ค่าแรงที่สูงขึ้น ทำให้ไทยต้องปรับกระบวนการคิดใหม่ จากรับผลิต เป็นสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ออกมาเพื่อแข่งขันในตลาดโลก

นวัตกรรมคือแรงผลักดันให้ตลาดเติบโต

ทุกอุตสาหกรรมในตอนนี้ต้องปรับแนวคิดเรื่องความเป็นเจ้าของกิจการ และการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ ซึ่งตัวอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ปัจจุบันมีมูลค่ารวมในประเทศไทยราว 2 แสนล้านบาท และเป็นหนึ่งในสินค้าที่ประเทศไทยส่งออกที่สำคัญ แต่หากยังเน้นการรับผลิตอยู่ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องหากจะสนองนโยบาย Thailand 4.0

เซิ่น จุ้น ชิน กรรมการผู้จัดการ จีอีพี สปิ่นนิ่ง จำกัด เล่าให้ฟังว่า การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า หรือ Value Added เป็นเรื่องจำเป็นในตอนนี้ แต่จะทำได้บริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐต้องช่วยกันปรับความคิด และสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมให้กับผู้ทำธุรกิจสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มก่อน

ภาพ pexels.com

“การพัฒนานวัตกรรมเครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทอต้องเริ่มจากระดับเส้นใย เพราะถ้าจะไปแข่งเรื่องดีไซน์ เราคงต้องพัฒนาอีกระยะหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องเส้นใย เราแค่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาตร์ เพื่อพัฒนาเส้นใยให้มีจุดเด่นมากขึ้น และไม่ใช่แค่เป็นวัตถุดิบเริ่มต้นในการทอผ้า”

จากคอลลาเจนใช้ดื่ม สู่การนำมาใช้ในสิ่งทอ

สำหรับ จีอีพี สปิ่นนิ่ง ได้คิดค้นเส้นใยแบบใหม่ภายใต้ชื่อ Filagen (ฟิลาเจน) โดยนำคอลลาเจนที่สกัดจากเกล็ดปลาทะเลเข้าไปในเส้นใยวิสโคสเรยน เพื่อสร้างคุณสมบัติพิเศษ 4 อย่างที่เส้นใยธรรมดาทำไม่ได้ เช่นรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิว, กำจัดกลิ่นกาย, ป้องกันรังสี UV และให้อุณหภูมิที่เย็นสบาย

ภาพโดย Steve Evans from Bangalore, India (Flickr) [CC BY 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/2.0)], via Wikimedia Commons
ขณะเดียวกันจากการพัมนาเส้นใยดังกล่าว ยังได้พาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอให้ความสนใจ และนำเส้นใยนี้ไปประยุกต์ใช้กับสินค้าของแต่ละบริษัท เช่น Grand Sport ในการผลิตชุดกีฬา, In Nine by Wacoal ในการผลิตชุดชั้นในสำหรับหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงอื่นๆ อีก 50 รายในประเทศไทย และจะเป็น 100 รายในอนาคต

แบรนด์ไทยโอกาสในตลาดโลก แต่ต้องทำให้เป็น

พลพัฒน์ อัศวะประภา เจ้าของแบรนด์ Asava เสริมว่า นวัตกรรมก็ถือเป็นหนึ่งในเรื่องจำเป็น เพราะงานออกแบบเครื่องนุ่งห่มแบรนด์ไทยนั้นไม่เป็นรองใครในโลก แต่การจะเติบโตได้ในระดับนั้น ต้องมีความคิดสร้างสรรคืที่มากกว่าเดิม ประกอบกับต้องทำสินค้าที่มี High Value เพื่อเพิ่มมูลค่าในการแข่งขัน

สรุป

แม้อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มจะมีโอกาส แต่ด้วยอัตราการเติบโตเพียงเล็กน้อย หรือแค่เลขหลักเดียวต่อปี ทำให้ถ้าจะเติบโตกว่านี้ หรือสามารถแข่งขันได้มากกว่าแค่รับผลิตเหมือนบังคลาเทศ การมีนวัตกรรม และเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้กับอุตสาหกรรมนี้จึงจำเป็นมากที่สุด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา