ลองปั่นจริง “สนามปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิต” กับระบบ Cashless ใช้จ่ายผ่าน SNAP

สนามปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิต หรือ Happy and Healthy Bike Lane หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า Sky Lane เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 61 ที่ผ่านมา นักปั่นในกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียงหลายคนไปลองใช้บริการกันมาก่อนหน้านั้น แต่ต้องบอกว่า ตอนนี้สนามปั่นแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์ 100% ในเฟส 2 แล้ว ทั้งส่วนของสนามปั่น,​ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ, ลานจอดรถกว่า 1,500 คัน และล่าสุดกับสนามปั่นของเด็กแบบเต็มรูปแบบ

Brand Inside เลยอาสาพาไปดูและทดลองใช้บริการพื้นที่ต่างๆ ของสนามปั่นเจริญสุขฯ​ รวมถึงระบบการชำระเงินที่เป็นแบบ Cashless เกือบทั้งหมด (ยังต้องมีเงินสดไปเต็มเข้า e-Wallet อยู่) มาดูกันไปทีละส่วนได้เลย

ลานจอดรถกว่า 1,500 คัน พร้อมสะพานจักรยานลอยฟ้า

สำหรับคนที่เคยมาแล้ว จะรู้ว่าเดิมสนามปั่นจักรยานที่จอดรถมีน้อย ทำให้รถต้องไปจอดสองข้างทางถนน สร้างความลำบากให้กับผู้ที่สัญจรไปมา แต่เมื่อมีการปรับปรุงสนามปั่นจักรยานในเฟสที่ 1 (กลายเป็นสนามฟ้าครั้งแรก) มีการทำที่จอดรถกว่า 1,500 คัน

แต่จำนวนผู้มาปั่นจักรยานในบางเวลาก็เกินกว่าที่จะรองรับได้ แปลว่ามีผู้มาใช้บริการเยอะมากจริงๆ ในเฟสที่ 2 จึงมีการสร้างสะพานจักรยานลอยฟ้าเพื่อเชื่อมกับที่จอดรถระยะยาวสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร จอดที่ลานจอดระยะยาว (เสียค่าจอดรถ) ปั่นบนสะพานจักรยานลอยฟ้า ไม่ต้องกลัวรถชน ปลอดภัยมีไฟส่องสว่างด้วย หน้าตาเป็นอย่างไรไปดูกัน

ที่จอดรถกว่า 1,500 คัน
ที่จอดรถกว่า 1,500 คัน
สะพานจักรยานลอยฟ้า
สะพานจักรยานลอยฟ้า กลางคืน

รายละเอียดสนามปั่นใหม่ เฟส 2 ที่เสร็จสมบูรณ์ พร้อมระบบ SNAP

สนามปั่นเจริญสุขฯ เปิดให้บริการ 6.00 น. – 21.00 น. โดยไม่มีวันหยุด (เว้นแต่หยุดเพื่อปรับปรุงสนาม) ปัจจุบันเสร็จสมบูรณ์ในเฟสที่ 2 แล้วประกอบด้วย

  1. ลู่ปั่นจักรยานหลัก ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร แบ่งเป็นเลนสีฟ้า ความเร็วปกติ และ เลนสีม่วง ความเร็วสูง ซึ่งการเข้าใช้บริการ ต้องลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน เพื่อรับ SNAP สำหรับบันทึกข้อมูลผู้ใช้
  2. ลู่ปั่นจักรยานระยะสั้น ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร พร้อมด้วย ลู่วิ่ง ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร
  3. ลู่ปั่นจักรยานสำหรับเด็ก อายุไม่เกิน 12 ปี ที่เพิ่งเสร็จสมบูรณ์
ลู่ปั่นจักรยานหลัก
ลู่ปั่นจักรยานหลัก
ลู่ระยะสั้น พร้อมลู่วิ่ง
ลู่ปั่นสำหรับเด็กไม่เกิน 12 ปี

สำหรับลู่ปั่นหลักและลู่ปั่นระยะสั้น เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่สำหรับลู่ปั่นเด็ก ถูกออกแบบให้มีมาตรฐานระดับสากล สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี โดยผู้ปกครองห้ามเข้าไปในสนามโดยเด็ดขาด แต่จะมีพนักงานคอยดูแลความปลอดภัย ดังนั้นนี่จึงเป็นสนามเพื่อเด็กอย่างแท้จริง และเส้นทางจะมีหลากหลายเพื่อให้เด็กได้ฝึกทักษะต่างๆ

อนาคตในเฟสที่ 3 จะมีการพัฒนาสนามปั่นเสือภูเขา เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมการปั่นจักรยานที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม แต่จะเป็นเมื่อไรนั้น ต้องติดตามต่อไป

สิ่งอำนวยความสะดวกครบ อยู่ได้ทั้งวัน

ใครที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัด ต่างประเทศ​ ถ้าเผื่อเวลาดีๆ มาอยู่ที่สนามปั่นเจริญสุขฯ​ รอได้เลย หรือใครที่มาปั่นจักรยาน ก็สามารถอยู่ได้ทั้งวัน เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกเวลานี้ครบถ้วนสมบูรณ์ มีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ที่แขวนจักรยาน มีร้านอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมาก มี Bike Center ร้านจักรยานแบรนด์ต่างๆ เพื่อให้บริการ และพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ และที่ขาดไม่ได้ศูนย์ปฐมพยาบาลฉุกเฉิน

ทดลองใช้งาน SNAP บันทึกข้อมูลส่วนตัว และใช้จ่ายแบบ Cashless

การปั่นจักรยานแล้วต้องพกเงินสด หลายครั้งก็ไม่สะดวก ดังนั้นทาง SCB จึงนำระบบ SNAP มาใช้ นอกจากจะบันทึกข้อมูลส่วนตัวของนักปั่น (ผ่านการลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน) เพื่อเช้าใช้บริการลู่ปั่นหลัก ยังใช้เพื่อซื้อสินค้าต่างๆ ในพื้นที่ สนามปั่นเจริญสุขฯ​ ด้วย ต่อไปเข้ามาปั่นพกแค่ SNAP อย่างเดียวจบ

เติมเงินที่ตู้คีย์ออส

การเติมเงิน SNAP สามารถทำได้ที่ตู้คีย์ออสในบริเวณสนามปั่นเจริญสุขฯ​ อาจจะยังไม่ได้สะดวกเต็มที่ แต่อนาคตจะสามารถเติมเงินผ่าน Mobile Banking ได้ด้วย เพิ่มความสะดวกมากขึ้นแน่นอน

แต่นอกจาก SNAP แล้ว ยังพัฒนาแอพพลิเคชั่น SCB SNAP โดยเชื่อมต่อกับ SNAP ที่เราลงทะเบียนไว้แล้ว ถ้าไม่ได้พก SNAP มาด้วย ก็เชื่อมต่อกับแอพ SCB SNAP ใช้ได้ทั้งสแกนเข้าสนาม และใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าในพื้นที่ก็ได้ เท่ากับว่า ถ้าใครเลือกจะเชื่อมกับ SCB SNAP พกมือถือเครื่องเดียวเอาอยู่เลย (แต่ติด SNAP มาด้วยจะดีกว่า) โหลดมาติดตั้งได้ทั้ง iOS และ Android

แอพ SCB SNAP นอกจากจะใช้เข้าสนามและใช้ซื้อสินค้าต่างๆ แบบ Cashless แล้ว ยังใช้สำหรับบันทึกสถิติการปั่นได้ด้วย (หน้าตาคล้ายๆ Strava เลย) บอกระยะทาง บอกเส้นทาง บอกจำนวนพลังงานที่ใช้ไป ฯลฯ ดังนั้น ลองโหลดมาเล่นกันได้

ทดลองใช้งานจริง ทดลองปั่นจริง

Brand Inside ได้ไปร่วมการเปิดสนามปั่นอย่างเป็นทางการ ต้องบอกว่า ที่จอดรถสะดวกสบาย สิ่งอำนวยความสะดวกมีพร้อมมากกว่าเดิมมากๆ (ก่อนที่จะมี) ร้านอาหาร ร้านจักรยาน และยังมีห้องอาบน้ำสำหรับคนที่อยากมาปั่นแล้วไปทำธุระที่อื่นต่อ

สำหรับการเข้าใช้บริการลู่ปั่นหลัก (23.5 กิโลเมตร) ก่อน 7.00 น.  และหลัง 18.00 น. ต้องมีไฟติดหน้าและท้ายรถจักรยานด้วย เพื่อความปลอดภัย แม้จะมีไฟส่องสว่างตลอดทางอยู่แล้วก็ตาม (ช่วงเช้า อนุโลมมีเฉพาะไฟท้าย ซึ่งสนามมีให้ยืมโดยวางบัตรประชาชน)

สิ่งที่น่าติตดามคือ การพัฒนาสนามในเฟสที่ 3 กับสนามปั่นเสือภูเขา ซึ่งตอนนี้สนามปั่นเจริญสุขฯ​ ทั้งหมดได้มาตรฐานระดับสากลทุกส่วน จึงน่าสนใจว่า สนามปั่นเสือภูเขาจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร

ส่วนใครที่อยากไปทดลองใช้บริการ ควรมีรถส่วนตัว เพราะเดินทางไปสนามปั่น ก็เหมือนไปสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ถ้าไม่มีจักรยานไม่ต้องห่วง เพราะมีบริการให้เช่าจักรยาน ค่าบริการ 400 บาท/4 ชั่วโมง

สรุป

SCB และสปอนเซอร์ที่เป็นพันธมิตรในการพัฒนาสนามปั่นเจริญสุขฯ ใช้งบประมาณไปหลักพันล้านบาทในการพัฒนาทุกส่วนขึ้นมา และได้มาตรฐานระดับสากล ทาง SCB บอกว่าโครงการนี้ทำเพื่อเป็น CSR โดยเฉพาะ ไม่มีเรื่องเชิงพาณิชย์เข้ามาเกี่ยวข้อง บริการทุกอย่างไม่ได้มีเฉพาะ SCB เท่านั้น แต่เปิดกว้าง บริการแทบทุกอย่างฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย (ยกเว้นที่เป็นบริการจากผู้ประกอบการเอกชน)​ และเปิดให้บริการทุกวัน

สิ่งที่สะท้อนอย่างหนึ่งจากการใช้บริการสนามปั่นเจริญสุขฯ คือ คนกรุงเทพ (และจังหวัดใกล้เคียง)​ให้ความสำคัญกับสุขภาพ และสนใจกีฬาจักรยานกันมาก แต่ไม่มีพื้นที่ให้ปั่นจักรยานได้อย่างปลอดภัยเลย ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่สนามแห่งนี้จะมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก (จนที่จอดรถเต็ม)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา