เรื่องเล่าที่ว่า Tesla เป็นผู้พลิกโฉมวงการรถยนต์ อาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด
“มีคำอยู่มากมายเอาไว้ใช้อธิบาย Tesla บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นที่กล่าวขานของ Elon Musk พวกเขาสร้างสรรค์มาก และรู้ดีว่างานที่ต้องทำคืออะไร แถมเทคโนโลยีของพวกเขายังเยี่ยมยอด แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เราไม่คิดว่า Tesla เป็นผู้พลิกโฉมวงการ (We would not regard Tesla as disruptive)”
ด้านบนนี้คือคำพูดของ Clayton Christensen ผู้บุกเบิกแนวคิดเรื่อง Disruptive Innovation ซึ่งต่อมาถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เขาแสดงทัศนคติในเรื่องนี้เอาไว้เองในปี 2018
แน่นอนว่าในปัจจุบัน เรื่องเล่าการ disrupt วงการยานยนต์สุดคลาสสิค คือการเข้ามาอย่างโลดโผนของ Tesla โดยได้ผลักดันระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และพลิกโฉมวงการขนานใหญ่ จนพลิกโฉมให้แบรนด์ดั้งเดิมในตลาดต้องหันมาวิ่งตาม Tesla ในท้ายที่สุด ซึ่งถ้าอ้างอิงจากคำพูดของ Christensen Tesla ก็ไม่นับเป็นผู้พลิกโฉมวงการตัวจริง
Tesla แค่สร้างผลิตภัณฑ์แบบใหม่ แต่ไม่ได้เปลี่ยนรูปโฉมของอุตสาหกรรม
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Tesla เป็นแบรนด์ที่สร้างสรรค์และล้ำสมัย พวกเขานำนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งก็คือระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเข้ามาแทนที่เทคโนโลยีสันดาปภายในที่หยั่งรากลึกในอุตสาหกรรมมากว่าศตวรรษ โดยที่ก่อนหน้านี้แทบไม่มีใครคิดว่าเขาจะทำสำเร็จด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ Tesla ยังนำทัศนคติที่ชอบบุกเบิกอะไรใหม่ๆ แบบผู้คนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฝั่งซิลิคอนวัลเลย์เข้ามาสร้างความสดใหม่ในวงการยานยนต์ที่ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมเก่าแก่ที่มีอายุกว่าร้อยปี
อย่างไรก็ตาม Tesla ไม่ได้เปลี่ยนรูปโฉมวงการยานยนต์ เพราะโมเดลการผลิตของ Tesla ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากระบบการผลิตที่คงรูปโฉมเดิมมากกว่าร้อยปีของแบรนด์รุ่นเก๋าอย่าง Ford หรือ General Motors มากนัก
Tesla ยังคงออกแบบและผลิตรถยนต์ในโรงงานของตัวเอง แถมยังมีระบบการขายเป็นของตัวเองทั้งหมด
ตรงข้ามกับความหมายของ Disruptive Innovation ที่โดยเนื้อแท้หมายถึงการที่ผู้เล่นใหม่ในตลาดเข้ามาพร้อมสินค้าที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่จนทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลงเมื่อเทียบกับการผลิตดั้งเดิม จนในท้ายที่สุด ผู้ผลิตเจ้าเก่าในตลาดที่ไม่ระมัดระวังและไม่ปรับตัวกับการเข้ามาดิสรัปต์ของเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ก็จะถูกไล่ตามและอาจแข่งขันไม่ได้เลยก็ได้
พูดง่ายๆ คือ ผู้พลิกโฉมวงการต้องเข้ามาในตลาดแล้วเกิดการทำลายเชิงสร้างสรรค์ ทำลายการผลิตของแบรนด์หน้าเก่าด้วยเทคโนโลยีหรือโมเดลการผลิตใหม่ที่มีราคาถูกลงส่งผล ส่งผลโดยตรงต่อราคาสินค้า ซึ่งประโยชน์เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
แต่เห็นได้ว่าการเข้ามาของ Tesla ไม่ได้เข้าข่ายที่จะทำให้ค่ายรถยนต์เดิมๆ ถูกดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ถูกลง เจ้าเก่าก็ยังคงอยู่ได้เพราะการผลิตแบบเดิมที่เจ้าเก่ามียังคงใช้งานได้ เพียงแค่ต้องปรับผลิตภัณฑ์ไปตามกระแสใหม่ๆ เช่นรถยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น
คำถามคือ แล้วในปัจจุบัน มีใครที่เข้าข่ายเข้ามาพลิกโฉมหรือดิสรัปต์วงการแล้วยัง ?
Fisker อาจเข้าใกล้คำว่าผู้พลิกโฉมวงการมากที่สุด
แบรนด์ที่เข้าข่ายว่าสามารถทำให้เกิดการทำลาย (แบรนด์เจ้าตลาด) เชิงสร้างสรรค์ หรือที่เรียกกันวงในวงว่า “Disruptive Innovation” นั่นก็คือ Fisker Inc. สตาร์ทอัพรถยนต์ไฟฟ้าของ Henrik Fisker ที่เริ่มต้นด้วยการไม่มีอะไรเลยนอกจากชื่อเสียงและบัญชีอินสตาแกรมของเขา
เขาคิดวิธีการที่แบรนด์จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดแบบใหม่ทั้งหมดโดยใช้โมเดลแบบถือครองสินทรัพย์น้อย (asset-light) ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่มีทรัพย์สินน้อยสามารถเข้ามาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยไม่ต้องสร้างหน่วยวิจัย โรงงานผลิต ศูนย์บริการ ไปจนถึงโชว์รูมใหม่ทั้งหมด
Henrik Fisker กล่าวว่า “คงไม่ดีเท่าไหร่นักหากสตาร์ทอัพรถยนต์ไฟฟ้าจะสร้างโรงงานผลิตใหม่ทั้งหมด พวกเราจึงจะไม่สร้างโรงงานเป็นของตัวเอง”
ดังนั้น Fisker Inc. จึงตกลงกับ Canada’s Magna International ผู้รับจ้างผลิต เพื่อสร้างรถยนต์ไฟฟ้า Ocean SUV ภายในปี 2022 และยังตกลงกับ Foxconn ผู้รับประกอบสัญชาติไต้หวันสร้างรถในโครงการ Project PEAR ภายในปี 2023
นี่เป็นวิธีเดียวกับที่ Apple Inc. ที่โดยพื้นฐานเป็นบริษัทซอฟท์แวร์ให้ Foxconn ทำการผลิตสินค้าให้
ตอนนี้ Fisker สามารถนำบริษัทเข้า IPO จนระดมทุนได้กว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ผลักให้บริษัทมีมูลค่ากว่า 8 พันล้านดอลลาร์ และมีแผนที่จะปล่อยรถยนต์ไฟฟ้าออกมาถึง 2 รุ่น ในอีกแค่ 2 ปีเท่านั้น
เรียกได้ว่า Fisker เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่น่าจับตามองอีกหนึ่งรายในตลาด
ที่มา – Business Insider (1) (2)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา