Tesco Lotus ปั้นโปรแกรมการพัฒนาบุคล Learning Dollars คอนเซ็ปต์คือการให้ความรู้ผ่านคอร์สเรียนต่างๆ แต่ใช้หลัก Personalisation คือสามารถเลือกคอร์สเรียนที่สนใจเองได้ ร่วม 4 มหาวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตร เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
พัฒนาคนด้วยการให้องค์ความรู้
การพัฒนาบุคคลกลายเป็นหัวข้อที่องค์กรให้ความสนใจมากขึ้นในยุคนี้ เพราะคนเป็นแรงขับเคลื่อนชั้นดีขององค์กร ซึ่งแต่ละที่ก็จะมียุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็เน้นเรื่องทำบรรยาการในที่ทำงานให้ดี มีสวัสดิการเจ๋งๆ มีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง
แต่สำหรับ Tesco Lotus มีรูปแบบการพัฒนาคนโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพให้องค์ความรู้เพื่อให้ความรู้ติดตัวและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวันได้
ทำให้ Tesco Lotus ได้พัฒนาโปรแกรม Learning Dollars โดยหยิบเทรนด์ของยุคนี้ที่ทุกอย่างเป็น Personalisation แม้แต่การเรียนรู้ก็ต้องเลือกได้ตามใจชอบ นั่นคือพนักงานเลือกวิชาเรียนของตนเองตามความสนใจเพื่อพัฒนาศักภาพที่ตัวเองมีอยู่ หรืออยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมก็ได้ ไม่ใช่การจำกัดคอร์สเรียนเหมือนในอดีตที่มีการวางหลักสูตรมาแล้ว
อรกานดา อรรถวิภัชน์ ประธานกรรมการฝ่ายทรัพยากรบุคคล Tesco Lotus บอกว่า
“ที่นี่ให้ความสำคัญการพัฒนาศักยภาพ ต้องการมีส่วนร่วมพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่แรงงานในประเทศ มีความเชื่อว่าความรู้ไม่หยุดที่ห้องเรียน แต่เป็น Live Long Learning การพัฒนาคนของเราจึงเป็นการให้ความรู้สู่ความยั่งยืนสู่สังคม 4.0 ตรงกับเทรนด์ทุกวันนี้ Personalize ทุกคนสามารถเลือกการเรียนของตัวเองได้ตามต้องการ”
โครงการ Learning Dollars แตกต่างจากโปรแกรมการฝึกอบรมพนักงานขององค์กรทั่วๆไป ด้วยการที่ทางองค์กรให้วงเงินพนักงาน เพื่อให้พนักงานนำไปใช้เป็นค่าเรียนหลักสูตรต่างๆ ใช้เงินดอลลาร์มาเป็นกิมมิกเล็กๆ ในโครงการนี้ เหมือนเป็นการช้อปปิ้งให้ตรงกับธุรกิจของ Tesco Lotus เอง
พนักงานเลือกหลักสูตรตามที่เหมาะกับความต้องการของตนเองหากเงินจำนวนที่ได้รับไม่พอก็สามารถพูดคุยกับผู้บังคับบัญชาเพื่อขออนุมัติงบประมาณเพิ่มตามแผนพัฒนาศักยภาพของแต่ละคน
หลักสูตรที่เปิดให้สมัครมีความหลากหลายตั้งแต่ Micro MBA ที่ใช้เวลาเรียน 2 ปี และหลักสูตรอื่นๆ ที่สามารถเลือกเรียนได้ทั้งแบบ classroom learning และ e-learning
โปรแกรมนี้ทาง Tesco Lotus ได้เริ่มทำมาแล้วเป็นเวลา 3 ปี เป็นการคิดค้นที่ประเทศไทย และมีแค่ที่ไทยที่เดียว ซึ่งทางบริษัทแม่ที่ประเทศอังกฤษก็ให้ความสนใจในโปรแกรมนี้เช่นกัน มีแผนที่จะไปประยุกต์ใช้กับพนักงานกว่า 3 แสนคนที่อังกฤษ
ตอบโจทย์แรงงานยุค 4.0
โจทย์ในการพัฒนาโปรแกรมพัฒนาบุคคคลในครั้งนี้เกิดจากการมองเห็นภาพตลาดที่เปลี่ยนไป ทัศนคติของบุคลากรแตกต่างกันในแต่ละเจนเนอเรชั่น ทำให้ต้องคิดนวัตกรรมใหม่ๆ มีการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีโปรแกรมนี้ทาง Tesco Lotus ได้ใช้การพัฒนาคนด้วยโปรแกรมการฝึกอบรม การเรียนรู้ทั่วไป แต่ก็พบว่าต้องคิดค้นอะไรใหม่ๆ ให้เหมาะกับยุคสมัย
การคิดค้นโปรแกรมการบริหารคนเพื่อต้องการตอบโจทย์แรงงานยุค 4.0 ด้วย มีการเน้นใน 3 เรื่องหลัก
- Personalisation การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละบุคคล ดีไซน์การเรียนที่ตัวเองชอบได้
- Ownership การรู้สึกเป็นเจ้าของ เมื่อเขาได้เลือกการเรียนที่ตัวเองชอบได้ เหมือนรู้สึกว่าได้ควบคุมสิ่งที่ตัวเองเลือก จะมีความตั้งใจขึ้น
- Flexibility มีความยืดหยุ่น มีการปรับตัวได้ดี
ผนึก 4 มหาลัยปั้นหลักสูตร
ในช่วงปีแรกทาง Tesco Lotus ได้ร่วมกับจุฬาฯ ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ แต่ได้รับผลตอบรับอย่างดีจากพนักงาน และเพื่อให้ครอบคลุมพนักงานกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ จึงขยายความร่วมมืออีก 3 มหาวิทยาลัย
เท่ากับว่าตอนนี้ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 4 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันเพื่อให้พนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ทั่วประเทศ มีโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้แบบ Personalised Learning ผ่านโครงการ Learning Dollars
“ก่อนหน้านี้มีโครงการส่งพนักงานไปเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแล้วฟีดแบ็คดี เรียนจบมาแล้วเอาความรู้มาใช้ได้ แต่มองว่าเราเป็นธุรกิจที่สเกลใหญ่ คนอยากเรียนเยอะเลยคิดว่าที่เดียวไม่พอ เลยเปิด 4 ภูมิภาค เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา จะให้ก้าวหน้าต้องใช้คอนเซ็ปต์ collaboration ทุกภาคส่วนร่วมกัน”
นอกจากพัฒนาทักษะในการทำงานแล้วยังมีหลักสูตรที่พัฒนาศักยภาพส่วนบุคคลเช่นพัฒนาการเป็นผู้นำการคิดเป็นแบบระบบการบริหารความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่สามารถนำไปต่อยอดการทำงานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกธุรกิจในปัจจุบัน
หลักสูตรที่น่าสนใจที่เกิดจาการพัฒนาร่วมกันกับ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ Micro MBA, Design Thinking, Infographic Thinking, Mind Mapping, Appreciative Inquiry (สุนทรียสาธก), Improving Yourself & Personal Effectiveness, High Impact Business Presentation, Wealth Management (วางแผนการเงิน วางแผนชีวิต), Experience Learning เรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น
เริ่มจากกลุ่มผู้จัดการ และผู้บริหารก่อน
อย่างไรก็ตามโปรแกรมนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงพนักงานทั้ง 50,000 คนของ Tesco Lotus เน้นที่กลุ่มผู้บริหาร และผู้จัดการก่อน ทั้งสองกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 3,000 กว่าคน ในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาโปรแกรมสำหรับพนักงานทั่วไปเพิ่มเติม
วงเงินที่ให้พนักงานจะอยู่ที่ 20,000 บาท ส่วนระดับ Director จะใช้เป็นสมุดเช็ควงเงิน 200,000 บาท สามารถให้ลูกน้องไปเรียนได้ หรือจะเรียนเองก็ได้
สรุป
การพัฒนาองค์กรในยุคนี้เริ่มมีรูปแบบที่หลากหลายตามวัฒนธรรมของแต่ละที่ โดยโมเดลของ Tesco Lotus ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย เน้นที่การให้ความรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง และให้พนักงานเลือกได้เอง ไม่ได้อยู่ในกรอบที่ว่าจะต้องเรียนในสิ่งที่จัดมาให้ ทำให้พนักงานเกิดความกระหายในการเรียนรู้มากขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา