เมื่อ Tesco Lotus ปรับโครงสร้าง เลิกจ้างพนักงานทั่วไทย แล้วลูกจ้างต้องปรับตัวอย่างไร?

ข่าวกระฉ่อนทั่วโลกโซเชียลว่า ซุปเปอร์มาร์เก็ตดังอย่าง Tesco Lotus เลิกจ้างพนักงานกว่า 40-50% โดยให้เงินก้อนหรือที่เรียกว่า “จ้างออก” ว่าแต่ลูกจ้างที่โดนจ้างออกมีสิทธิทางกฎหมายอย่างไร และจะได้เงินเท่าไรเมื่อถูกจ้างให้ออก

Tesco Lotus ชี้แจงปรับโครงสร้าง เลิกจ้างพนักงานบางตำแหน่งจริง!

ฝ่ายสื่อสารองค์กรเทสโก้ โลตัส ออกหนังสือชี้แจง มีใจความดังนี้

  1. ข้อมูลเรื่องพนักงาน 30-50% ถูกจ้างให้ลาออก และ การปิดสาขา 43 สาขา ไม่เป็นความจริง
  2. เร็วๆ นี้ บริษัทฯ มีการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า จึงปรับโครงสร้างทีมงานให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจใหม่ เน้นส่วนงานที่ตรงกับลูกค้าเป้าหมาย และลดขั้นตอนการทำงาน
  3. การปรับโครงสร้างทำให้บริษัทฯ ยกเลิกบางตำแหน่งงาน และบริษัทฯ พยายามทำข้อเสนอที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงให้ความช่วยเหลืออย่างดีแก่ พนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนี้ อีกทั้งยึดหลักการปฏิบัติต่อพนักงานทุกท่าน

ภาพจาก Tesco Lotus
ภาพจาก Tesco Lotus

กฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้าง?

เมื่อถูกเลิกจ้าง คือ นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อ ไม่จ่ายค่าจ้างให้ จะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บอกว่า

  1. ห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถหรือพฤติกรรมของลูกจ้าง
  2. ลูกจ้างต้องได้รับการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ก่อนการเลิกจ้าง หรือได้รับค่าชดเชย (หรือการชดเชยแบบอื่นๆ) เว้นแต่ลูกจ้างจะกระทำความผิดอย่างร้ายแรง
  3. กรณีที่เลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ถ้านายจ้างไม่สามารถรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้ ทางลูกจ้างต้องได้รับเงินชดเชยอย่างเพียงพอ

กฎหมายนี้ออกมาเพื่อให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย ไม่ว่าจะถูกนายจ้างสั่งให้ลาออกจากงาน นายจ้างเลิกกิจการ หรือ ลูกจ้างต้องออกจากงาน แต่นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยในกรณี

  • ลูกจ้างลาออกจากงานโดยสมัครใจ
  • ลูกจ้างที่ทำสัญญากับนายจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ได้แก่
    1)โครงการเฉพาะที่ไม่ใช่ธุรกิจปกติของนายจ้างซึ่งระบุเวลาเริ่มและสิ้นสุดงานอย่างชัดเจน เช่น งานค้นคว้าทดลอง งานสำรวจวิจัย ฯลฯ
    2) งานที่มีลัษณะเป็นครั้งคราว มีการกำหนดการสิ้นสุด หรืองานเสร็จสิ้น เช่น จ้างลูกจ้างเป็นช่างไม้ ช่างปูน งานรับเหมาก่อสร้าง ฯลฯ
    3) งานตามฤดูกาลและจ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น เช่น จ้างทำงานที่ต้องอาศัยพืชผลตามฤดูกาล เช่นโรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตผลไม้กระป๋อง ฯลฯ
  • ถ้าเป็นงานอื่น (นอกเหนือจาก 3 ประเภทนี้) ที่จ้างงานโดยมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนในงานอื่นต้องได้รับค่าชดเชย
ภาพจาก Shutterstock

เมื่อถูกเลิกจ้างลูกค้าจะได้เงินชดเชยอย่างไร?

เมื่อเช็คสิทธิ์ทั้งหมดแล้ว ลูกจ้างที่ต้องได้ค่าชดเชยจะได้รับตามอายุงานมีเกณฑ์ 5 ข้อคือ
  1. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
  2. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
  3. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
  4. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
  5. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10 ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน

ส่วนคนที่ถูกเลิกจ้าง ช่วงว่างงานก็ได้เงินทดแทนระหว่างการว่างงาน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท (ปีละไม่เกิน 180 วัน)

สรุป

Tesco Lotus ปรับโครงสร้างองค์กรทำให้ต้องเลิกจ้างพนักงานบางตำแหน่งจริง ซึ่งคาดว่าจะมีการให้เงินชดเชยตามกฎหมาย แต่ใครที่โดนให้ออกจากงานก็ต้องเช็คสิทธิทางกฎหมายเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด นอกจากได้รับเงินชดเชยจากนายจ้าง ช่วงว่างงานยังได้เงินทดแทน 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยด้วย

ที่มา Pantip, กระทรวงแรงงาน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง