รู้จัก Tencent ยักษ์ไอทีจากเมืองจีน เจ้าของฉายา “ใหญ่กว่า Alibaba”

ในขณะที่คนไทยกำลังตื่นเต้นไปกับ Jack Ma แห่ง Alibaba ยักษ์ใหญ่ของวงการอีคอมเมิร์ซจีนที่กำลังเริ่มเข้ามารุกตลาดประเทศไทย บริษัทจีนอีกแห่งหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันและเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้สักพักแล้วคือ Tencent

เมื่อพูดถึงชื่อ Tencent หลายคนอาจไม่รู้จักและคุ้นเคยมากนัก แต่ผลิตภัณฑ์ของ Tencent ก็เป็นที่รู้จักในไทยมานาน (แม้แบรนด์ Tencent จะไม่ดังเท่า) ได้แก่แอพแชท WeChat, เว็บไซต์ Sanook และแอพฟังเพลง JOOX (และถ้ายังจำกันได้ ก่อนหน้านี้เราก็มีแอพแชท QQ อีกตัวหนึ่งที่เคยมาทำตลาดไทย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก)

Tencent บริษัทจีนที่ “ยิ่งใหญ่กว่า” Alibaba

Tencent, Alibaba และ Baidu เป็น 3 ยักษ์ใหญ่ของวงการอินเทอร์เน็ตจีน ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาตั้งแต่สมัยดอตคอมบูมในทศวรรษ 2000s ทั้งสามบริษัทต่างขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ออกไปมากมาย และลงทุนในสตาร์ตอัพจีนรุ่นหลังเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน จนถูกเรียกในชื่อย่อว่า B.A.T. (Baidu-Alibaba-Tencent)

ธุรกิจหลักของทั้งสามบริษัทอยู่คนละตลาดกัน ถึงแม้ว่าภายหลังจะขยายสายธุรกิจจนทับซ้อนและแข่งขันกันเองบ้าง แต่การเปรียบเทียบว่าบริษัทไหนดีกว่ากันก็ยังเป็นเรื่องทำได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราใช้เครื่องมือชี้วัดแบบง่ายๆ คือดูมูลค่าบริษัทตามราคาหุ้น (market cap) แล้ว Tencent กับ Alibaba ก็ผลักกันครองตำแหน่ง “บริษัทเทคโนโลยี” ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในเอเชียมาโดยตลอด (ขึ้นกับว่าจังหวะไหน ราคาหุ้นของบริษัทไหนแพงกว่า)

เปรียบเทียบมูลค่าบริษัทระหว่าง Tencent กับ Alibaba (ข้อมูลจาก Quartz)

แต่ถ้าวัดจากผลประกอบการคือรายได้และผลกำไร Tencent ทำเงินได้เยอะกว่า Alibaba มาก

เปรียบเทียบผลประกอบการ Tencent vs Alibaba (ข้อมูลจาก Bloomberg)

บทความนี้จะพามารู้จัก Tencent ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร และทำธุรกิจอะไรบ้าง

ประวัติความเป็นมาของ Tencent เริ่มต้นจาก QQ

Tencent ก่อตั้งเมื่อปี 1998 หรือเกือบ 20 ปีมาแล้ว โดยทีมผู้ก่อตั้งเป็นคนจีนล้วน และมีฐานที่มั่นอยู่ในเสิ่นเจิ้น

ในช่วงแรก Tencent เป็นเว็บพอร์ทัลสำหรับคนจีน ก่อนจะมีผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่สร้างชื่อให้กับบริษัทคือโปรแกรมแชท QQ (ซึ่งนำแนวคิดมาจาก ICQ ในยุคสมัยนั้น)

ช่วงแรก Tencent ประสบปัญหาไม่ทำกำไร และต้องขายหุ้น 46% ให้กับบริษัท Naspers จากแอฟริกาใต้ (เจ้าของบริษัท MWEB ที่มาซื้อกิจการ Sanook.com ของบ้านเราเมื่อหลายปีก่อน) ปัจจุบัน Naspers ยังถือหุ้นปริมาณมากพอสมควรใน Tencent

ยุคแรกของ Tencent หารายได้จาก QQ โดยเปิดบริการ QQ ให้ใช้ฟรีแบบมีโฆษณา และมีบริการแบบพรีเมียมสำหรับสมาชิกที่จ่ายเงินรายเดือน บริษัทเข้าขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงมาตั้งแต่ปี 2004

เพนกวิน สัญลักษณ์และมาสค็อตของ QQ

ขยายธุรกิจมาเป็นเกมออนไลน์

ภายหลัง Tencent ขยายธุรกิจจาก QQ มายังเกมออนไลน์ และมีโมเดลทำเงินจากการขายสินค้าภายในเกม ปัจจุบัน Tencent ถือเป็นผู้ให้บริการเกมออนไลน์รายใหญ่ของประเทศจีน

ในอดีต Tencent ใช้วิธีซื้อไลเซนส์เกมจากบริษัทต่างๆ ทั้งในญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ มาให้บริการกับผู้เล่นคนจีน แต่ภายหลังเมื่อธุรกิจเติบโต Tencent ก็หันมาสร้างเกมเอง และเข้าไปลงทุนในบริษัทเกมต่างประเทศหลายราย ได้แก่

  • Riot Games บริษัทเกมจากสหรัฐ เจ้าของเกม League of Legends ที่โด่งดังระดับโลก ตอนนี้  Tencent ถือหุ้นทั้งหมดของ Riot Games แล้ว
  • Epic Games ผู้ผลิตเกมพีซีชื่อดังของสหรัฐอเมริกา มีผลงานอย่าง Unreal, Gears of War ตอนนี้ Tencent ถือหุ้นประมาณ 40% ของ Epic Games
  • Supercell ผู้ผลิตเกมมือถือจากฟินแลนด์ เจ้าของเกม Clash of Clans และ Clash Royale ตอนนี้ Tencent ถือหุ้น 84%
  • CJ Games บริษัทเกมแถวหน้าของประเทศเกาหลีใต้ Tencent ไปซื้อหุ้นมาประมาณ 28% ในปี 2014

เข้าสู่ยุคมือถือด้วย WeChat/Weixin

ผลงานที่โดดเด่นมากของ Tencent ในยุคหลังคือแอพแชท Weixin (ชื่อในจีน) หรือที่รู้จักในบ้านเราและนอกประเทศจีนว่า WeChat

ตำนานการกำเนิดของ WeChat เป็นที่น่าจดจำ เพราะ Tencent มีแอพแชทที่มีคนใช้จำนวนมหาศาลอย่าง QQ บนพีซีอยู่แล้ว แต่บริษัทกลับมองการณ์ไกลว่าโลกของสมาร์ทโฟนกำลังจะมา จึงให้ทีมงานกลุ่มหนึ่งภายในบริษัท พัฒนาแอพแชทตัวใหม่ขึ้นมาแข่งกันเอง ซึ่งผลก็ออกมาเป็น Weixin หรือ WeChat นั่นเอง

ปัจจุบัน WeChat มีผู้ใช้มากกว่า 800 ล้านคน และเริ่มขยายตลาดออกมานอกประเทศจีนแล้ว (ถึงแม้ในไทยจะยังสู้ LINE ไม่ได้ แต่ในหลายประเทศก็ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชีย)

Tencent เคยทำตลาด WeChat ในไทยด้วย อั้ม พัชราภา เป็นพรีเซนเตอร์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

แพลตฟอร์มของ Weixin ในจีน ไม่ได้มีแต่แอพแชทเพียงอย่างเดียว แต่ Weixin ยังเป็นต้นแบบของการผนวกเอาบริการต่างๆ มาอยู่บนแอพแชท ไม่ว่าจะเป็นบริการโอนเงินออนไลน์ เรียกรถแท็กซี่ สั่งอาหาร ซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซ ฯลฯ เรียกว่าฟีเจอร์ที่แอพแชทฝั่งตะวันตกอย่าง Facebook Messenger พยายามเลียนแบบ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในจีนมานานแล้ว โดยมี Weixin เป็นผู้บุกเบิก

ในอีกทาง Tencent ก็ยังไม่ได้ทิ้งฐานผู้ใช้ QQ เดิม และปัจจุบัน QQ ก็ถือเป็นแพลตฟอร์มแชทอีกตัวที่ยังมีคนจีนใช้งานอยู่มาก เท่ากับว่า Tencent เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มแชทที่มีผู้ใช้ระดับ 800 ล้านคนถึง 2 ตัว (คนที่ทำแบบนี้ได้มีเพียง Facebook ที่ใช้วิธีทุ่มเงินซื้อ WhatsApp เท่านั้น)

ฐานผู้ใช้ทั้ง Weixin และ QQ ส่งผลให้ Tencent ขยายตลาดมาทำ FinTech เกี่ยวกับการจ่ายเงินผ่านแอพมือถือ ถึงแม้ปัจจุบันยังเป็นเบอร์สองของจีน แต่ก็เป็นรองแค่ Alipay ของ Alibaba เพียงแค่รายเดียวเท่านั้น

นอกจากเกมออนไลน์และแอพแชทแล้ว ธุรกิจอื่นๆ ของ Tencent ในจีนยังเกี่ยวกับสื่อออนไลน์แขนงอื่นๆ เช่น เพลงออนไลน์ วิดีโอออนไลน์ อีบุ๊ก และยังมีซอฟต์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์และมือถืออย่าง เว็บเบราว์เซอร์ แอนตี้ไวรัส และแอพสโตร์ในประเทศจีนด้วย

ลงทุนในบริษัทจำนวนมากทั้งในจีนและนอกจีน

Tencent ฉวยโอกาสที่มีเงินทุนในมือมหาศาลจากรายได้หลักของตัวเอง ไล่ลงทุนในบริษัทจำนวนมากทั้งในประเทศจีนและนอกประเทศจีน

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Tencent ไม่มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของตัวเอง จึงไปลงทุนในบริษัท JD.com ซึ่งเป็นเบอร์สองรองจาก Alibaba ปัจจุบันมีหุ้นประมาณ 15%

อีกตัวอย่างหนึ่งคือแอพเรียกแท็กซี่ Didi Dache ที่ Tencent ก็ไปลงหุ้นไว้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ (ปัจจุบันควบควมกับคู่แข่งเป็น Didi Chuxing และสามารถเอาชนะ Uber ในจีนได้) และ Meituan.com สตาร์ตอัพขายดีลแบบเดียวกับ Groupon ที่เพิ่งระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ (Tencent มีหุ้น 20%)

นอกจากนี้ Tencent ยังไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไอที อย่างอสังหาริมทรัพย์ สุขภาพ ฯลฯ รวมถึงเซ็นสัญญาเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทสื่ออเมริกันอย่าง HBO, NBA, Warner Bros. เพื่อเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงรายเดียวในประเทศจีนอีกด้วย เรียกว่านอกจากสื่อดิจิทัลที่เป็นเกมแล้ว Tencent ยังพยายามจะกินรวบตลาดจีนให้หมด ทั้งเนื้อหาวิดีโอ เพลง กีฬา อีบุ๊ก ฯลฯ

รายได้ของ Tencent ร่ำรวยมหาศาล อัตราเติบโตยังต่อเนื่อง

รายได้ของ Tencent สูงถึงปีละหลักแสนล้านหยวน โดยบริษัทคาดการณ์ว่าในปี 2016 จะมีรายได้รวม 138.5 พันล้านหยวน หรือประมาณ 7 แสนล้านบาทต่อปี

รายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากสองธุรกิจหลักคือโซเชียล (QQ+Weixin) และเกม

รายได้ของ Tencent (ณ เดือนกันยายน 2016)

สถานะทางธุรกิจของ Tencent ยังถือว่าร่ำรวยมหาศาล บริษัทมีกระแสเงินสดในมือ 5.4 หมื่นล้านหยวน และยังมีรายได้ต่อปีเติบโตด้วยอัตรา 52% ในไตรมาสล่าสุด (กำไรโต 40% ต่อปี) ถือเป็นสถานะการเงินที่บริษัททั่วโลกต่างก็ใฝ่ฝันถึง

สิ่งที่เป็นจุดเด่นของ Tencent ไปอีกแสนนานคือฐานลูกค้าคนจีนที่ใช้ QQ, WeChat และบริการอื่นๆ ของบริษัท ตั้งแต่ตื่นเช้าจนนอนหลับ ทุกอย่างอยู่บนแพลตฟอร์มของ Tencent หมด และบริษัทกำลังเริ่มมองหาวิธีสร้างรายได้จากทุกช่องทางเท่าที่เป็นไปได้ นั่นแปลว่า Tencent ยังมีโอกาสเติบโตในเรื่องรายได้ขึ้นอีกมาก

Tencent เพิ่งประกาศจับมือกับ Starbucks ในจีน เพื่อให้จ่ายเงินค่ากาแฟด้วย WeChat ได้ และการออกนอกสหรัฐอเมริกา ก็เพิ่งมีข่าวว่าคาสิโน Ceasars Palace ในลาสเวกัส ก็รองรับการจ่ายเงินด้วย WeChat เช่นกัน

Ma Huateng ชายผู้อยู่เบื้องหลัง Tencent

ผู้อ่าน Brand Inside อาจสงสัยว่าเบื้องหลังความสำเร็จของ Tencent คือใครกันแน่? คำตอบคือ Ma Huateng หรือชื่อภาษาอังกฤษ Pony Ma ผู้ก่อตั้งอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของโลกไอทีจีน

ในขณะที่โลกเห็นหน้า Jack Ma แห่ง Alibaba อยู่เสมอ ตัวของ Pony Ma (ทั้งสองคนใช้แซ่ “หม่า” เหมือนกัน) กลับแทบไม่เคยปรากฏตัวต่อสาธารณะ

Ma Huateng (ภาพจาก TechCrunch)

ปัจจุบัน Pony Ma มีอายุ 45 ปี เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเสิ่นเจิ้น ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และทำงานเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ ก่อนจะเริ่มกิจการ Tencent ในปี 1998 ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นอีก 4 คน (ตอนนั้นเขามีอายุเพียง 27 ปี)

ปัจจุบัน Pony Ma เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 46 ของโลกตามการจัดอันดับของ Forbes ในปี 2016 (Jack Ma อยู่อันกับ 33) แต่ชีวิตของเขากลับปิดลับต่อสาธารณะ และหันไปสนใจงานด้านการกุศลมากกว่าไลฟ์สไตล์หรูหราฟุ่มเฟือย

Tencent กับประเทศไทย เข้ามาทำตลาดเต็มตัวในปี 2017

Tencent เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยนานพอสมควรแล้ว เริ่มจากการเข้ามาซื้อหุ้นบางส่วนของ Sanook.com พอร์ทัลอันดับหนึ่งของไทย ก่อนจะซื้อหุ้นทั้งหมดในเวลาต่อมา

ที่ผ่านมา Tencent เลือกทำตลาดในชื่อแบรนด์ Sanook นำหน้า และมีผลิตภัณฑ์ที่เข้าทำตลาดประเทศไทยอย่าง WeChat และ Joox ซึ่งตัวหลังก็ประสบความสำเร็จไม่น้อยในหมู่คนฟังเพลงออนไลน์รุ่นใหม่

ล่าสุด Tencent ตัดสินใจรุกตลาดไทยเต็มตัวด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Sanook มาเป็น Tencent Thailand (บริษัท เทนเซ็นต์ ประเทศไทย จำกัด) ต้องรอดูว่าปีหน้า 2017 บริษัทจะรุกตลาดไทยมากขึ้นอีกแค่ไหน

ข้อมูลจาก Tencent, Quartz

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา