ช่วงวันครูบรรยากาศในโรงเรียนก็คึกคักเพราะมีกิจกรรมทำพานไหว้ครูเพื่อเคารพครูอาจารย์เพราะเด็กถูกอบอรมสั่งสอนกันมาว่าครูเป็นผู้มีพระคุณที่ช่วยให้ความรู้และสอนให้เป็นคนดี
“ครู” ขึ้นชื่อว่าเป็นบุคคลสำคัญจนต้องมีวันครู มีการจัดพานไปเคารพครูซึ่งพานนี้อาจมาจากเงินที่โรงเรียนมีให้ตามงบประมาณหรือไม่ก็จากการเรี่ยไรกันในห้องเรียนคนละ 30-50 บาท พานไหวครูพานหนึ่งก็ตกประมาณ 1,000 บาท รวมทั้งยังมีการคัดเลือกตัวแทนถือพาน ถึงขนาดที่ตัวแทนอาจจะต้องงดเรียนไปคาบหนึ่งหรือสองคาบเพื่อรังสรรค์พานขึ้นมาให้ครูด้วยซ้ำ
เเต่เบื้องหลังความสวยงามของกิจกรรม“ครู” ที่ถูกยกย่องว่าเป็น “พระคุณที่สาม” ยังคงต้องต่อสู้กับระบบที่ล้าหลังและเงินเดือนที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะครูอัตราจ้างของโรงเรียนขนาดเล็ก ที่อาจจะได้รับเงินเดือนสวนทางกับจรรยาบรรณทางอาชีพที่สูงส่ง โดยอาจจะเทียบเท่ากับพานไหว้ครูเพียงแค่ไม่กี่พาน
ทำไมต้องมีครูอัตราจ้าง
ครูอัตราจ้างไม่ได้จัดว่าเป็นข้าราชการครูเหมือนครูทั่วไปจึงไม่ได้เงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งตามเกณฑ์ปกติโดยได้รับเงินเดือนจากโรงเรียนหรือเขตการศึกษาที่ใช้งบประมาณนอกเหนือจากงบประมาณของภาครัฐ ส่วนใหญ่ถูกจ้างมาด้วยสัญญาจ้างปีต่อปี โดยทำหน้าที่ตั้งเเต่การสอนหนังสือ ไปจนถึงตามที่โรงเรียนมอบหมาย
ปัญหาเรื่องครูอัตราจ้างเป็นปัญหามาอย่างยาวนานในระบบการศึกษา ซึ่งมีโรงเรียนหลายแห่งโดยเฉพาะในต่างจังหวัดประกาศรับสมัครครูอัตราจ้าง มีตัวเลขเงินเดือนต่ำจนน่าตกใจเมื่อเทียบกับภาระหน้าที่งานที่ต้องทำ ตั้งแต่ 4,000 บาท ไปจนถึง 6,500 บาท ยากที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายพื้นฐานของมนุษย์คนหนึ่งได้ แถมยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี
สาเหตุที่การศึกษาไทยยังต้องมีครูอัตราจ้าง ทั้งที่มีครูบรรจุอยู่แล้ว มาจากการที่ครูมีไม่เพียงพอการจัดสรรครูทั่วประเทศ อีกสาเหตุมาจากภาระงานของครูที่มีมากเกินกว่าการสอน เพราะยังต้องทำประเมินคุณภาพ เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพ
KKP Research วิเคราะห์ปัญหาการขาดแคลนครูไว้ว่า ครูมีจำนวนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กที่ครูขาดแคลนกว่า 30,000 คน จากการจัดสรรจำนวนครูตามขนาดโรงเรียน ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีครูน้อยคน ครูคนหนึ่งก็ต้องรับภาระหนัก
เมื่อครูมีน้อย ภาระงานต่อคนก็ยิ่งมากขึ้น ไม่ใช่แค่เตรียมสอนการสอน และการดูแลนักเรียน แต่ยังมีการประเมินผลหลายอย่าง ทั้งการประเมินผลการเรียนของนักเรียนที่ต้องทำทุกภาคการศึกษา ตกปีการศึกษาละ 2 รอบเป็นอย่างน้อย ไปจนถึงการทำรายงานด้านอื่น ๆ ของนักเรียน เช่น รายงานการเยี่ยมบ้าน รายงานฐานะทางบ้าน รายงานการสำรวจปัญหาทางบ้านของนักเรียนนอกจากนั้นยังมีภาระหน้าที่ต่อโรงเรียน ต่อผู้บริหาร ต่อความก้าวหน้าในอาชีพของตัวเอง ทั้งรายงานประเมินของครูและสถานศึกษา นิทรรศการแสดงผลงาน จนถึงการช่วยกิจกรรมวันสำคัญของโรงเรียน
KKP Research วิเคราะห์ว่า เกณฑ์การพิจารณาขึ้นเงินเดือนกว่า 70% ของข้าราชการครูให้น้ำหนักที่จริยธรรมและผลการปฏิบัติงานมากกว่าคุณภาพการสอน แทนที่จะเป็นยิ่งสอนดี ยิ่งได้ขึ้นเงินเดือนเร็ว กลายเป็นว่าครูต้องไปอบรมหรือทำรายงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะให้เงินเดือนขึ้นแทน ต้องมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของโรงเรียนทำให้มีภาระมากขึ้นนำไปสู่การจ้างครูอัตราจ้างเข้ามาช่วยแบ่งเบา
ทำไมครูอัตราจ้างถึงเงินเดือนน้อยกว่าครูทั่วไป
ทำไมเงินเดือนครูอัตราจ้างถึงน้อยจนไม่น่าจะเพียงพอต่อการใช้ชีวิตสาเหตุมาจากที่มาของเงินเดือนของครูอัตราจ้างที่ไม่เหมือนกับข้าราชการครู
ข้าราชการครูมีเงินเดือนที่มาจากงบประมาณของภาครัฐที่กำหนดเป็นมาตรฐานไว้ในพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘ ขณะที่เงินเดือนของครูอัตราจ้างมาจากที่มา 2 แห่ง คือ งบประมาณของเขตที่จัดสรรให้กับโรงเรียน หรือไม่ก็ใช้งบประมาณของโรงเรียนนั้น ๆ จ้าง ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กที่มีงบประมาณไม่เพียงพอ ไม่สามารถให้เงินเดือนที่สมเหตุสมผลกับครูอัตราจ้างได้ ขณะที่ภาระงานก็ขึ้นอยู่กับทางโรงเรียนที่ว่าจ้างเป็นผู้กำหนดให้
นอกจากเงินเดือนอันน้อยนิด เนื่องจากครูอัตราจ้างไม่ได้เป็นพนักงานราชการเลยไม่มีสิทธิ์ในสวัสดิการเหมือนข้าราชการครูทั่วไป ด้านสุขภาพจะใช้สิทธิ์ประกันสังคมแทนสิทธิ์เบิกได้ รูปแบบสัญญาจ้างยังเป็นแบบปีต่อปี อัตราเงินเดือนไม่ขึ้น ไม่มีการเลื่อนตำแหน่งและมีสิทธิ์ถูกเลิกจ้างได้
ปัญหาครูอัตราจ้างสู่ภาพใหญ่ของการศึกษาไทย
ปัญหาการขาดแคลนครูและภาระงานที่มากเกินไปก็นำไปสู่ปัญหาการศึกษาไม่มีคุณภาพเพราะเวลาในการเตรียมสอนและการสอนถูกบดบังด้วยภาระงานอื่น ๆ
ครูอัตราจ้างที่จ้างเข้ามาเพื่อช่วยลดภาระของครูก็ไม่ได้เข้าสู่ระบบการเลื่อนตำแหน่งและขึ้นเงินเดือนอย่างเป็นมาตรฐาน ในระยะยาวก็ทำให้ผู้ที่มีศักยภาพสูงก็มองหางานอื่นแทนที่จะเป็นครูเพราะเงินเดือนไม่พอใช้ ไม่เหมาะสมกับความสามารถ
ผลกระทบตกสู่นักเรียน เด็กก็ไม่ได้เรียนสิ่งที่ควรเรียนและถูกปล่อยปะละเลย พอถึงคราวที่จะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องหันหน้าไปพึ่งพาสถานบันสอนพิเศษที่ต้องเสียเงิน ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้นอีก
ภาพสะท้อนของกระดุมเม็ดแรกที่ติดผิดอย่างเรื่องการจัดสรรครูก็ออกมาในรูปคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำลง หนึ่งในนั้นเห็นได้จากผลการประเมินคะแนนสมรรนะนักเรียนในแต่ละประเทศที่ประเมินตามมาตรฐานสากลของโลกหรือที่เรียกกันว่าคะแนน PISA ที่ในปีที่ผ่านมา คะแนนของเด็กไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 20 ปี จำนวนนักเรียนที่คะแนนต่ำกว่าคะแนนพื้นฐานเพิ่มขึ้น 19%
กรณีศึกษา: ชีวิตครูในฟินแลนด์
ลองเปรียบเทียบการศึกษาไทยกับของฟินแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่นักเรียนได้คะแนน PISA มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกและเป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีระบบการศึกษาดีที่สุดจากหลายเว็บไซต์
อย่างแรก ครูเป็นอาชีพที่มีบทบาทมากในระบบการศึกษาของฟินแลนด์เพราะหลักสูตรการศึกษามีความยืดหยุ่นมาก การศึกษาระดับพื้นฐานไม่มีการสอบที่เป็นมาตรฐานที่บังคับให้นักเรียนต้องสอบเหมือนกันทั่วประเทศ ทำให้โรงเรียนครูมีอิสระเต็มที่ในการออกแบบการเรียนการสอนและออกข้อสอบ ประกอบกับมีกฎว่าจะเป็นครูได้ต้องจบปริญญาโทด้านการศึกษาหรือสาขาที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างน้อย ทำให้ครูมีความเชี่ยวชาญมาก
เมื่อครูต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เงินเดือนมากตามไปด้วย เว็บไซต์ Glassdoor ประเมินเงินเดือนครูฟินแลนด์ไว้ที่ 3,000-5,000 ยูโรต่อเดือน หรือคิดเป็นเงือนไทยประมาณ 115,000-190,000 บาท
หลักสูตรการเรียนครูยังไม่ได้ครอบคลุมแค่เรื่องวิชาการ แต่ยังครอบคลุมวิธีการสอน วิธีดูแลเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ สอดรับกับกิจกรรมหลากหลายในโรงเรียน ไม่ใช่แค่การนั่งเรียนในห้องเรียน ปริมาณการบ้านก็น้อยมากทำให้เด็กในประเทศฟินแลนด์ไม่จำเป็นต้องเรียนพิเศษเพิ่มหรือเพิ่มภาระให้พ่อแม่ที่บ้าน
โรงเรียนในฟินแลนด์ยังกระจายตัวอยู่ในทุกชุมชนทำให้ไม่ว่านักเรียนจะมีฐานะครอบครัวเป็นอย่างไรก็สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้เหมือนกันหมด รวมทั้งการที่หลักสูตรมีความยืดหยุ่นแล้วแต่ครูและโรงเรียน ทำให้ครูไม่ต้องคอยรายงานกับภาครัฐ ไม่มีการควบคุมหรือการตรวจโรงเรียนจากองค์กรของรัฐบาล
ท่ามกลางความสงสัย ความไม่มั่นใจในคุณภาพของระบบการศึกษาไทย ครูไทยยังได้รับการเคารพในรูปแบบพานไหว้ครูที่สวยงาม อลังการ และการถูกยกย่องว่าเป็น “ผู้มีพระคุณ” ที่ให้ความรู้ แต่ในมิติที่ลึกกว่านั้น ครูอัตราจ้างยังถูกละเลยทั้งเรื่องเงินเดือนที่กระทบคุณภาพชีวิต เรื่องการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ทำงานด้วยมาตรฐานคนละแบบกับครูทั่วไป เมื่อเสาหลักของระบบการศึกษายังไม่มั่นคง เลยสะท้อนภาพออกมาผ่านคุณภาพการศึกษาของนักเรียนไทยที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล
ที่มา – KKP Research, กระทรวงศึกษาธิการ, Brand Inside, Station Thai, Polar Partners, Finland Toolbox, The Guardian
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา