เจาะแนวคิดกลุ่มธุรกิจ TCP จัดการน้ำยุค Climate Crisis วางแผน ปรับตัวรับวิกฤต ทางรอดของธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

เรามีน้ำใช้ทุกวันไม่เคยขาด ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ แต่เวลานี้เรากำลังเผชิญกลับวิกฤตน้ำที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง และค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น

และทุกคนต้องเจอกับผลกระทบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเรามาใช้เวลาที่ยังมีอยู่ตอนนี้ เร่ิมต้นรับมือกับวิกฤตน้ำไปด้วยกัน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ค้นพบความจริงเรื่องนี้ วิกฤตที่น่าเป็นห่วง

เริ่มต้นด้วยคำว่าวิกฤตน้ำ สำหรับคนไทยอาจจะรู้สึกว่าไกลตัว เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าทุกคนสังเกตให้ดี ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราพบกับวิกฤตน้ำหลายครั้ง น้ำท่วม ภัยแล้ง อากาศร้อนจัด และร้อนขึ้นทุกปี การเปลี่ยนแปลงของฤดู ทำให้ช่วงเวลาที่เป็นฤดูฝนสั้นลง และแน่นอนว่าฤดูร้อนกินเวลายาวนานขึ้น

ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นทันที สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ เปลี่ยน แต่ก็ทำให้เรารู้สึกได้

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวในงาน The Standard Economic Forum 2024 เรื่อง Water Resilience: Guiding Thailand’s Businesses Through the Climate Crisis Era โดยระบุว่า มีรายงานจากอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) บอกว่า ปี 2023 ที่ผ่านมา แหล่งน้ำในโลกเกิดความแห้งแล้งสูงที่สุดในรอบ 30 ปี สูญเสียธารน้ำแข็งกว่า 600 กิกะตัน เป็นปริมาณสูงที่สุดในรอบ 50 ปี นี่คือสัญญาณเตือนว่าเราต้องปรับตัว

นอกจากนี้ ถ้าวัดตามปริมาณการใช้น้ำแล้ว ทั่วโลกมีการใช้น้ำ 70% ไปกับภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์และการอุปโภคบริโภค ดังนั้น ถ้ามีปัญหาเรื่องน้ำเกิดขึ้น จะเกิดผลกระทบกับประชากรหลายพันล้านคนทั่วโลกทันที

น้ำไม่ได้มีเยอะ แต่ปัญหาน้ำมีเยอะจริง

สราวุฒิ บอกว่า หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเรามีวิกฤตเรื่องน้ำ ในเมื่อพื้นที่ 3 ใน 4 ของโลกนี้คือน้ำ แต่หลายคนลืมไปว่านั่นคือการมองจากส่วนของพื้นผิวเท่านั้น ถ้ารวมน้ำทั้งโลกเข้ามาไว้ด้วยกัน จะเห็นว่าปริมาณน้ำทั้งโลกไม่ได้เยอะเลย และหากพิจารณาแยกย่อยไปอีกจะพบว่า 97% ของน้ำในโลกนี้คือ น้ำเค็ม หรือทะเลและมหาสมุทร

ขณะที่น้ำจืด ได้แก่ น้ำใต้ดิน น้ำแข็ง แม่น้ำลำธาร คือ 3% ที่เหลือ แต่ น้ำจืดที่มนุษย์สามารถเข้าถึงได้และนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง หรือที่เรียกว่า Fresh Water มีประมาณ 1% เท่านั้น

แสดงว่าน้ำในโลกใบนี้ไม่ได้เยอะอย่างที่คิด

ปริมาณน้ำมีน้อย แต่ปัญหาเกี่ยวกับน้ำกลับมีเยอะมาก ตั้งแต่การตัดไม้ทำลายป่า เพื่อขยายพื้นที่อยู่อาศัยและขยายพื้นที่ทำเกษตรกรรม ปศุสัตว์ มีผลกับการผลิตน้ำ เพราะเมื่อต้นไม้หายไป มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ น้ำใต้ดินก็น้อยลง พื้นดินก็แห้งแล้งมากขึ้น และสารพัดปัญหาตามมาอีกมาก

ทั้งหมดคือ วิกฤตเรื่องน้ำที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?

เลียนแบบธรรมชาติ เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัว

ในต่างประเทศมีการศึกษาเรื่องนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในวิธีที่น่าสนใจ และเห็นผลลัพธ์ที่ดี คือ Nature-Based Solution หรือ NBS คือ การใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อให้ธรรมชาติพื้นตัวได้ด้วยตัวเอง บางครั้งการแก้ปัญหาที่ดี เราต้องช่วยให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเอง

สราวุฒิ บอกว่า ตัวอย่างที่ประเทศอังกฤษในอดีตมากกว่า 200 ปีที่แล้วมีแม่น้ำเป็นสายน้ำคดเคี้ยว แต่ในช่วง 60 ปีมานี้มีการปรับแม่น้ำให้เป็นเส้นตรง เพื่อให้ได้ผลที่ดีกับการเกษตรกรรมและปศุสัตว์ แต่ผลที่ได้รับคือ วิกฤตที่ไม่คาดคิด คือ ปัญหาน้ำท่วม เพราะน้ำไหลแรงและเร็ว ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและความหลากหลายของสายน้ำหายไป นกไม่มาหากิน ปลาหายไปจากลำธาร โดยเฉพาะ ปลาแซลมอน ที่เคยขึ้นมาวางไข่ ก็หายไปเลย

การแก้ปัญหาเริ่มต้นในปี 2016 จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ นักนิเวศวิทยา ประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานภาครัฐ ได้ทำการทดลองปรับปรุงให้สายน้ำกลับมาคดเคี้ยวเหมือนเดิม และในปี 2019 ก็ได้ผลลัพธ์คือ สายน้ำกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เกิดระบบนิเวศ ปลาแซลมอนกลับมาวางไข่ อ่างเก็บน้ำที่ปลายแม่น้ำมีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น เพราะความคดเคี้ยวดักตะกอนไว้ระหว่างทาง

นี่คือบทเรียนที่มีค่ามากสำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำและการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำที่เกิดขึ้น

3 กรณีศึกษาการปรับตัวเพื่อรับมือปัญหาน้ำ

สำหรับการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำที่เกิดขึ้นอาจแบ่งได้ 3 ทาง

  1. Metropolitan Outer Area Underground Discharge Channel คือการสร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ใต้ดิน ไว้รองรับน้ำที่เกิดจากฝนตกมากเกินไปในบางเวลา โดยสามารถส่งน้ำลงไปเก็บไว้ได้เพียงแต่ใช้การลงทุนที่สูงมาก ถือเป็นการแก้ปัญหาแบบตรงไปตรงมาที่สุด เช่น การเกิดอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่สเปน เกิดจากฝนตกหนักเป็นเวลา 8 ชั่วโมง มีปริมาณน้ำเท่ากับฝนที่ตกเฉลี่ยทั้งปี เชื่อว่าถ้ามีอุโมงค์ขนาดใหญ่ จะสามารถช่วยผ่อนความรุนแรงลงได้
  2. Emergency Alerts System เมื่อภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากปัญหาโลกรวน เราไม่สามารถหลีกหนี ไม่สามารถป้องกันได้ ไม่ว่าจะพยายามอย่างไร เชื่อว่ายังจะมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ดังนั้นการมีระบบเตือนภัยที่ทันสมัยและทันท่วงที จะช่วยบรรเทาความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
  3. Sponge City เป็นการนำแนวคิด NbS มาปรับใช้ โดยออกแบบเมืองให้เป็นเหมือนฟองน้ำ หรือ Sponge City มีพื้นที่ที่สามารถดูดซับน้ำไว้ได้ หากเกิดฝนตกหนักและมีน้ำปริมาณมาก เช่น กรุงเทพมหานคร มี สวนป่าเบญจกิตติให้พักผ่อนหย่อนใจ และยังถูกออกแบบมาให้สามารถรองรับน้ำจากฝนตกในปริมาณมากได้ด้วย

สราวุฒิ บอกว่ากลุ่มธุรกิจ TCP ก็นำแนวทาง NbS มาปรับใช้กับชุมชนพื้นที่ใกล้โรงงานที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยร่วมมือกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และชุมชนในพื้นที่ ทำการฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำต่างๆ ในจังหวัดให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศที่ดีเหมือนในอดีต

เจาะกลยุทธ์ Water Resilience และถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มธุรกิจ TCP

ข้อมูลจาก World Bank ระบุว่า หากภาคธุรกิจยังทำธุรกิจแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จะเกิดความตกต่ำของ GDP คิดเป็นความเสียหายกว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้นทุนการปรับตัวในอนาคตจะสูงขึ้น 5 เท่าเทียบกับปัจจุบัน

กลุ่มธุรกิจ TCP จึงจัดงาน Sustainability Forum เป็นประจำทุกปี เพื่อหารือและระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน ซึ่งปีนี้ น้ำ เป็นประเด็นหลักที่มีการหารือกัน มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น การจัดการน้ำ เศรษฐศาสตร์และส่ิงแวดล้อม ความยั่งยืน มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ได้พบข้อเท็จจริงที่น่าตกใจไม่น้อย

อันดับแรกคือ ประเทศไทยติดอันดับ 4 ของโลก ที่ใช้ปริมาณน้ำต่อหัวประชากรมากที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมด้วย ขณะที่สภาพภูมิอากาศของไทย จากการวิจัยของสถาบันป๋วยอึ๊งภากรณ์ พบว่าไทยมีแนวโน้มร้อนขึ้นเรื่อยๆ ฤดูร้อนจะยาวนานขึ้น รูปแบบการตกของฝนจะเปลี่ยนไป และจะเกิดพายุฝนบ่อยขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อย แต่ในทางกลับกันคือ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาจะน้อยลงเรื่อยๆ

ประเด็นนี้ทำให้กลุ่มธุรกิจ TCP มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนเรื่องน้ำอย่างมากจึงตั้งเป้า Net Water Positive ให้สำเร็จภายในปี 2030

คืนน้ำ คืนความสมบูรณ์ เพื่อธรรมชาติที่ดีขึ้น

Net Water Positive คือ การคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตและน้ำที่ใช้ในการทำธุรกิจ โดยแบ่งได้ดังนี้

  1. การบริหารจัดการน้ำภายในโรงงาน ให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยทำ Water Security สร้างความยั่งยืนเรื่องน้ำ ให้มีน้ำใช้ตลอดเวลา ซึ่ง เฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้งบริษัท มีวิสัยทัศน์และวางผังโรงงานไว้ตั้งแต่แรก โดยครึ่งหนึ่งของพื้นที่เป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำ กักเก็บน้ำเวลาฝนตกได้ 3.3 ล้านลูกบากศ์เมตร เพื่อให้เพียงพอกับการผลิตทั้งปี
  2. จัดทำระบบบำบัดน้ำเสียบำบัด 100% Wastewater Treatment สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ในระบบใหม่ในโรงงานได้ 100% ไม่ได้ปล่อยน้ำเสียออกไปข้างนอก
  3. พัฒนาด้วยเทคโนโลยี โดยใช้ระบบ Smart Manufacturing เพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงที่สุด เกิดผลเสียจากการผลิตน้อยที่สุด ผลลัพธ์ที่ออกมาเกินความคาดหวัง จากปี 2019 ถึงปัจจุบันลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตไปได้ 24%

และยังมีการทำงานเรื่องน้ำนอกกระบวนการผลิต คือ โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ตอบเป้าหมาย Net Water Positive ทั้งน้ำบนดินและน้ำใต้ดิน บน 3 ลุ่มน้ำสำคัญ คือ ลุ่มน้ำยม, ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง ต้องอาศัยภาคีที่เข้มแข็ง สำคัญที่สุดคือ ชุมชน ที่ร่วมมืออย่างดีมาก รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ได้แก่ มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน), องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และ สถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หากนับผลลัพธ์ที่ได้ ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน สามารถคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติแล้ว 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำงานใน 21 จังหวัด รวม 513 โครงการ สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชนไม่ต่ำกว่า 40,000 ครอบครัว

ก้าวต่อไป ผลักดันเรื่องน้ำระดับสากล

ถ้าประเมินผลภายในประเทศไทย กลุ่มธุรกิจ TCP ถือว่าบรรลุเป้าหมาย Net Water Positive แล้ว สามารถคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติได้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต แต่ยังไม่หยุดพัฒนา โดยก้าวต่อไปตั้งเป้าที่โรงงานของ ในต่างประเทศ ให้ทำ Net Water Positive ด้วย เป็นการยกระดับการจัดการทรัพยากรน้ำไปสู่ระดับสากล และยังต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำเข้ามาดูการทำงานของกลุ่มธุรกิจ TCP ทั้งเพื่อแนะนำ รวมถึงรับรองการทำงานว่าเป็นไปตามหลักสากลอย่างแท้จริง

โดยปีนี้เป็นปีแรกที่กลุ่มธุรกิจ TCP เข้าร่วม AWS หรือ Alliance for Water Stewardship องค์กรระดับโลกที่ทำเรื่องน้ำ มีสมาชิกมากมายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม ความคาดหวังคือ AWS เข้ามารับรองกระบวนการที่กลุ่มธุรกิจ TCP ทำทั้งหมดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

บทสรุป 4 ขั้นตอน เพื่อเริ่มต้นสู่ความยั่งยืน

สราวุฒิ สรุปในตอนท้ายว่า สิ่งที่กลุ่มธุรกิจ TCP เรียนรู้จากการทำเรื่องความยั่งยืน และต้องการแบ่งปันส่งต่อให้กับองค์กรธุรกิจอื่นๆ มี 4 ขั้นตอน

  1. Set Clear Goals ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เป็นเป้าหมายขององค์กรที่สามารถทำได้จริง
  2. Plan and Take Action วางแผน และลงมือปฏิบัติ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกัน
  3. The Journey is Long ต้องเตือนตัวเองและทีมงานว่า การทำงานด้านความยั่งยืน เป็นการเดินทางไกล อาจไม่เห็นผลลัพธ์แต่ต้องทำต่อไป ต้องทำ วัดผลและประเมินผลตลอด
  4. Constant Self-Improvement ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา การทำงานด้านความยั่งยืน ต้องมีองค์ความรู้ในทุกมิติ ยิ่งทำมากยิ่งเรียนรู้มาก ต้องเปิดใจรับสิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ทุกคนต้องยอมรับก่อนว่า วิกฤตเรื่องน้ำเป็นเรื่องจริง เราทุกคนจะโดนผลกระทบแน่นอน ถ้าต้องการลดผลกระทบ ต้องกล้าหาญที่จะลงมือทำตั้งแต่วันนี้ อยากให้ทุกคนร่วมเดินทางไปด้วยกัน ทำงานด้านความยั่งยืนของน้ำไปด้วยกัน สิ่งที่ทำวันนี้อาจจะไม่เห็นผลในระยะเวลาอันสั้น แต่เชื่อเถอะว่า สุดท้าย สิ่งที่เราทำจะมีผลกระทบเชิงบวกต่อลูกหลานของเรา ต่อคนที่เรารักและคนรุ่นต่อไป

มาร่วมกันทำวันนี้เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา