กลุ่มธุรกิจ TCP ผุดโครงการใหญ่ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย มุ่งสู่การใช้น้ำอย่างยั่งยืน

กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตแบรนด์เครื่องดื่มที่คนไทยรู้จักดีอย่าง กระทิงแดง เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ และซันสแนค ในฐานะที่ทางบริษัทใช้น้ำเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเครื่องดื่ม

กลุ่มธุรกิจ TCP จึงเริ่มทำโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย เน้นเรื่องบริหารจัดการน้ำให้มีกินมีใช้อย่างยั่งยืนใน 2 ลุ่มน้ำสำคัญคือ ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำปราจีน ซึ่งครอบคลุม 6 จังหวัดคือ แพร่ สุโขทัย พิจิตร นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว

เป้าหมายของโครงการคือ พัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน ให้ชุมชนได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรอย่างเพียงพอพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน และทางกลุ่ม TCP ยังตั้งเป้าใหญ่ว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะสามารถพัฒนาแหล่งน้ำให้กับชุมชนได้มีน้ำใช้เพิ่มขึ้นกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ

ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำยมแต่ละปีจะมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยประมาณ 4,900 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้เพียง 400 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น สวนทางกับความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ที่สูงถึงปีละ 2,200 ล้านลูกบาศก์เมตร

ลุ่มน้ำยมจึงเป็นลุ่มน้ำที่ยังมีปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก เพราะไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำที่สามารถเก็บน้ำได้มากเพียงพอที่จะใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลุ่มธุกิจ TCP ไม่สามารถทำโครงการน้ำโดยลำพังได้ จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.)  พร้อมด้วยเครือข่ายชุมชนบ้านแม่ขมิง จ.แพร่ และจิตอาสาภายในของกลุ่มธุรกิจ TCP ทำ “แตต๊าง” หรือกิจกรรมปรับปรุงระบบส่งน้ำ อันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านล้านนา ที่ใช้ผันน้ำจากแหล่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม

มูลนิธิอุทกพัฒน์ จะเชี่ยวชาญทำงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริ ส่วนสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ จะเชี่ยวชาญในการผสมสานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ากับหลักสังคมศาสตร์ ถ่ายทอดให้ชุมชนได้เรียนรู้วิธีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งจากภาพถ่ายจากดาวเทียม โปรแกรมแผนที่ และเครื่องจับพิกัดจุด เพื่อนำมาจัดทำแผนที่น้ำของชุมชน รู้ระดับสูงต่ำของพื้นที่ แสดงเส้นทางท่อส่งน้ำตั้งแต่จุดตั้งต้นจนถึงพื้นที่เกษตรของสมาชิกผู้ใช้น้ำ รวมถึงวิเคราะห์สมดุลน้ำหาความสัมพันธ์ระหว่างน้ำฝน น้ำที่เก็บในอ่าง และความต้องการน้ำของพืชที่ปลูก เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ครบวงจรในแต่ละปี

ภาพรวมการทำงานของโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย เป็นรูปแบบของสามเหลี่ยมความร่วมมือ คือ

  • 1) หน่วยงานที่มีองค์ความรู้ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จให้กับโครงการ
  • 2) ชุมชน ที่พร้อมให้ความร่วมมือ จึงจะส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเองมีความยั่งยืน
  • 3) กลุ่มธุรกิจ TCP องค์กรที่พร้อมสนับสนุนและส่งต่อพลังความดี  โดยมีกลุ่มอาสาสมัครที่ภายในองค์กรจะมาช่วยกันเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการดูแลน้ำ

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ของเรานั้นใช้น้ำเป็นวัตถุดิบสำคัญ ดังนั้น เราจึงกำหนดนโยบายทั้งภายในและภายนอกในเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งสร้างกระบวนการทำงาน กระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมปลูกจิตสำนึกให้พนักงานเห็นความสำคัญของการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสุงสุด

ในขณะเดียวกัน เรายังมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายนอกที่เกี่ยวข้องกับน้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี จนเกิดเป็น โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย  ที่ได้ทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำที่หลากหลาย อาทิ อพ. สสน. และสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนให้กับแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำปราจีนบุรี ก่อนขยายไปสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ” นายสราวุฒิ กล่าวเสริม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา