ช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่เป็นข้อสงสัยว่า บริษัทเอกชนบางรายมีอำนาจเหนือตลาด จนผู้บริโภค, ร้านค้ารายย่อย หรือคู่แข่งทางธุรกิจ ต่างติติง สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ว่าเป็นเสือกระดาษ
เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ เกิดการควบรวมกิจการหลายครั้งที่หลายคนมองว่า ถ้ารวมกันย่อมควบคุมกลไกการตลาดได้แน่นอน
ทำให้ สขค. ไปชุบตัวใหม่ ไล่ตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปลี่ยนตัวย่อภาษาอังกฤษ รวมถึงตราสัญลักษณ์ขององค์กร แถมยังส่งแผนใหม่ที่ยืนยันว่า จะควบคุมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
แผนดังกล่าวจะทำให้ กขค. รักษาแผลที่ถูกหลายภาคส่วนโจมตีว่าเป็นเป็นเพียง เสือกระดาษ หรือไม่ และรายละเอียดของแผนนี้เป็นอย่างไร Brand Inside ได้รวบรวมมาให้แล้ว
เปิดแผน กขค. เน้นหนักแพลตฟอร์มดิจิทัล
สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เล่าให้ฟังว่า นโยบายการกำกับดูแลการแข่งขันในปี พ.ศ. 2565 จะประกอบด้วย 3 เรื่องคือ
- การกำกับดูแลการแข่งขันในธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) ทุกรูปแบบ
- การกำกับดูแลการรวมธุรกิจ (M&A) โดยเฉพาะการควบรวมธุรกิจด้านเทคโนโลยี
- การส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs สามารถแข่งขันได้มากขึ้น
“ในปี 2564 อีคอมเมิร์ซมีมูลค่าทางธุรกิจมากถึง 4 ล้านล้านบาท อาทิ การจำหน่ายสินค้าหรือบริการ (E-Market Place) การขนส่งสินค้า (E-Logistic) การให้บริการรับสั่งและจัดส่งอาหาร (Food Delivery) และธุรกิจจองโรงแรมที่พัก (OTA) ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่จากต่างประเทศ”
โดยเฉพาะกับอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ กขค. มองว่า การมองเพียงขอบเขตรายได้ หรือยอดขาย อาจไม่ใช่ตัวแปรในการตัดสินเรื่องมีอำนาจเหนือตลาด ทางสำนักงานจึงต้องพัฒนากติกาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และคุ้มครองผู้บริโภคได้จริง
ควบคุมการควบรวมธุรกิจให้ไม่เกิดการผูกขาด
ส่วนนโยบายควบการควบรวมธุรกิจไม่ให้เกิดการผูกขาด เบื้องต้นมาจาก ปี 2564 มีมูลค่าการควบรวมกิจการเพิ่มขึ้น 3.4 เท่าตัว คิดเป็นมูลค่าควบรวมธุรกิจถึง 2.1 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มที่มีสัดส่วนในการควบรวมธุรกิจสูงสุดคือ ธุรกิจบริการ รองลงมาคือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
“การควบรวมกิจการแสดงให้เห็นถึงวิกฤตโรคระบาดสร้างผลกระทบให้ SME รายย่อยดำเนินกิจการต่อไม่ไหว รวมถึงรายใหญ่เองที่มองว่าการร่วมมือกันน่าจะดีกว่าการแข่งกัน โดย กขค. ชี้ว่ามีทั้งหมด 46 จาก 65 อุตสาหกรรมที่ต้องระมัดระวังเรื่องการควบรวมเป็นพิเศษ”
ทั้งนี้ กขค. มีการปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และแนวปฏิบัติทางการค้าและกฎระเบียบต่างๆ และเสริมสร้างความร่วมมือในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้ากับหน่วยงานต่างประเทศ รวมถึงจัดตั้ง ศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจเชิงลึก เพื่อให้การแข่งขันทางการค้าไทยมีแนวทางการพัฒนาที่ดีขึ้น
ไม่เป็นแล้วเสือกระดาษ ขอเป็นเสือจริง ๆ
สกนธ์ ยืนยันว่า กขค. หลังจากนี้จะไม่เป็นเพียงเสือกระดาษ แต่จะเป็นหน่วยงานที่ควบคุมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมได้จริง ผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ และเปลี่ยนตัวเองด้วยนโยบาย กับภาพลักษณ์ใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วน
“กฎหมายแข่งกันทางการค้าเหมือนกันทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องการบังคับใช้ เพราะต้องใช้ข้อมูล, ตัวแปร และมิติทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการทำธุรกิจ ยิ่งตอนนี้มันมองลำบากว่าการมีอำนาจเหนือตลาดต้องมาจากอะไร การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็เข้ามาช่วยองค์กรเราได้”
สำหรับกรณีที่สังคมสนใจ เช่น การควบรวมกิจการระหว่าง ทรู กับ ดีแทค ทาง กขค. ไม่ได้อยู่นิ่ง แต่มีการประสานงานกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช. ซึ่งทางนั้นอยู่ระหว่างใช้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และอุตสาหกรรมอยู่ ทำให้ กขค. ยังไม่สามารถก้าวล่วงได้
สรุป
มีหลากหลายกรณีที่ กขค. ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าไม่เป็นธรรม ทำให้การเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งนี้น่าจะถูกจับตาจากผู้บริโภค และองค์กรต่าง ๆ ว่า จะมีอะไรดีขึ้นหรือไม่ เพราะด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าจะมีการควบรวมกิจการเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น และอาจเกิดการมีอำนาจเหนือตลาดเกิดขึ้นอีกก็เป็นได้
อ้างอิง // กขค.
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา