กลุ่มองค์กรผู้บริโภค ปลุก กสทช. เร่งลงโทษบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่ไม่แก้ไขปัญหา เบอร์โทร-SMS ลวงโลกที่มีมากถึง 6.4 ล้านหมายเลขในปีที่ผ่านมา
กลุ่มองค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายป้องกันข่าวลวง ปลุก กสทช. ตื่นจากหลับ ขอให้เร่งลงโทษบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ โทษฐานเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาเบอร์โทรและข้อความเอสเอ็มเอส (SMS) หลอกลวงที่มีมากถึง 6.4 ล้านหมายเลขในปีที่ผ่านมา
สร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคที่หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก พร้อมเรียกร้องให้พัฒนาระบบป้องกันเบอร์ลวงโลก หลังผู้บริโภคสุดทนต้องโหลดแอปฯ บล็อคเบอร์แบบตามมีตามเกิด กลัวตกเป็นเหยื่อเจ้าหนี้มโน
องค์กรผู้บริโภคชี้ กสทช. เลิกเป็นเสือกระดาษ จัดการเบอร์ลวงโลกจริงจัง
นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยถึงปัญหาการร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับภัยคุกคามทางออนไลน์ว่า “ในปีที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งมาในหลากหลายรูปแบบทั้ง SMS (บริการส่งข้อความทางโทรศัพท์) และการส่งลิ้งค์ให้ดาวน์โหลดเพื่อรับเงินหรือสิทธิพิเศษต่างๆ การให้เงินกู้ออนไลน์ การพนันออนไลน์ การชักชวนให้ชมภาพอนาจาร ลิ้งค์รับสมัครงาน ฯลฯ”
“เราต้องตั้งคำถามว่าแล้วใครจะเป็นผู้จัดการปัญหานี้ ทางมูลนิธิฯ ในฐานะหน่วยงานเครือข่ายภาคกลางของ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จึงได้จัดตั้ง ช่องทางร้องเรียนทางไลน์ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีนี้โดยเฉพาะ เพื่อรวบรวมผู้เสียหาย และยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังต่อไป” นฤมลเสริม
มูลนิธิชี้แจงว่า “หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเดินหน้าเพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหา กสทช. ก็ได้ประสานกับบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเพื่อดำเนินการบล็อก SMS ที่มีเนื้อหาหลอกลวงทั้งหมด ก็ไม่แน่ใจว่าการบล็อคดังกล่าวจะเป็นการบล็อคถาวรหรือไม่ และจากการตรวจสอบพบว่ายังเกิดปัญหา SMS หลอกลวงเหมือนเดิม ปัจจุบันมีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามากว่า 1,800 ราย จึงได้ยื่นเรื่องให้ กสทช. เอาผิดแก่บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่เข้าข่ายการเอาเปรียบผู้บริโภคเพราะไม่สามารถบล็อค SMS หลอกลวง ทำให้เกิดการส่งข้อความโดยไม่ได้รับอนุญาตสร้างความเดือนร้อนแก่ผู้บริโภคอย่างมาก”
ณ ปัจจุบันปัญหาที่ระบาดหนักคือการโทรศัพท์เข้ามาทวงหนี้ ข่มขู่คุกคาม รวมถึงผู้เสียหายหลายรายที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์กดลิ้งค์และกรอกประวัติส่วนตัวพร้อมทั้งอนุญาตเพื่อให้เข้าถึงเบอร์โทรศัพท์และข้อมูลในโทรศัพท์ทั้งหมดเพื่อแลกกับเงินกู้ที่ได้ไม่เต็มจำนวน หนำซ้ำพอดำเนินการกู้เรียบร้อยแล้ว ผู้กู้จะต้องโอนค่าธรรมเนียมก่อนที่จะได้รับเงินกู้ ก่อนที่กลุ่มมิจฉาชีพจะหายตัวไป ทำให้เกิดผู้เสียหายจำนวนมากและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นในทุกวัน แม้กระทั่งปัญหา SIM เถื่อน ที่รอรัฐเข้ามาจัดการปัญหานี้ด้วยเช่นกัน
“การบังคับใช้กฎหมายด้านการเอาเปรียบผู้บริโภคมีอยู่ชัดเจน แต่เรายังไม่เห็นการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค หากนำมาใช้อย่างจริงจัง เราเชื่อว่าปัญหาจะลดลง เพราะปัจจุบันผู้บริโภคจะต้องดูแลตนเองด้วยการโหลดแอปพลิเคชัน ทำไมผู้บริโภคต้องจัดการปัญหาด้วยตนเองในเมื่อรัฐมีอำนาจในการจัดการปัญหาเรื่องนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายโดยตรง รัฐต้องใช้ดาบที่มีในมือให้ศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบัน SIM เถื่อนก็มี จะจัดการปัญหาตรงนี้อย่างไร” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ ชี้แจง
เบอร์ลวงโลกในไทยพุ่ง 6.4 ล้านบัญชี
ปัจจุบัน ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ถือเป็นปัญหาหลักที่หลายประเทศกำลังเผชิญ อาทิ ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น โดยจะมีรูปแบบการหลอกลวงที่แตกต่างกันไป
สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นที่น่าตกใจอย่างมาก เพราะจากรายงานพบว่า ในปีที่ผ่านมามีหมายเลขโทรศัพท์ของมิจฉาชีพสูงถึง 6.4 ล้านหมายเลข และช่วงครึ่งปีหลังมีอัตราการโทรหลอกลวงเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี สร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคจำนวนมาก จนหลายคนต้องป้องกันปัญหาด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ช่วยแจ้งเตือนเบอร์มิจฉาชีพและหนึ่งในแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมคือ ฮูส์คอล (Whoscall)
สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช.และ ผู้ก่อตั้ง Cofact โคแฟคประเทศไทย โครงการป้องกันข่าวลวง กล่าวว่า เมื่อไม่สามารถคาดหวังการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังได้ ผู้บริโภคก็ต้องพึ่งตนเองด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ฮูส์คอล (Whoscall) เมื่อมีเบอร์โทรศัพท์หรือ SMS หลอกลวงเข้ามาแอปฯนี้ก็จะแจ้งเตือนว่าเป็นเบอร์มิจฉาชีพเพราะผู้เสียหายก่อนหน้า ได้ดำเนินการแจ้งไว้ในระบบทำให้สามารถป้องกันการถูกหลอกลวงได้
ทั้งนี้อยากให้ผู้บริโภคคอยดูแลตนเอง ต้องไม่เชื่อไว้ก่อนและดำเนินการตรวจสอบเพื่อหาความจริงจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ทั้งนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ก็ต้องตรวจสอบและบล็อคเบอร์อันตรายเหล่านั้นตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งในต่างประเทศได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ในออสเตรเลีย ได้ใช้ระบบ AI เพื่อตรวจจับ และประมวลผลการร้องเรียนจากผู้เสียหายเพื่อดำเนินการบล็อคตั้งแต่ต้นทาง
“แม้บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือหลายราย จะแก้ต่างว่าตนเป็นผู้ให้บริการด้านระบบสาธารณูปโภคเท่านั้น แต่ก็ได้เห็นหลายค่ายเช่นกันที่เริ่มมองเห็นทางตันของธุรกิจและประกาศขยายบริการสู่การเป็น เทคคอมพานี ที่สามารถผลิตแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ ก็อยากให้เริ่มจากการทำแอปฯ ที่ช่วยเตือนภัยและบล็อคเบอร์โทรของกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างมาก หรือหากไม่มีแผนขยายธุรกิจก็สามารถร่วมกับหน่วยการภาครัฐในการพัฒนาระบบเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาได้ ดังเช่นที่หลายประเทศได้ดำเนินการจนประสบผลสำเร็จ เพราะผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ ก็พร้อมจะรายงานปัญหาให้ทราบอยู่แล้ว
กองบังคับการไซเบอร์แนะ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน
พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ เที่ยงกมล รองผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2 ได้แนะนำผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากกลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ให้เข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐานใช้ในการดำเนินคดี “เราต้องสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนถึงโลกความเป็นจริงก่อนว่าไม่มีใครจะปล่อยกู้ให้ได้หากไม่มีหลักค้ำประกัน ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน ตรวจสอบข้อมูลเอาให้ชัดเอาให้ชัวร์ หากการกู้ยืมเราต้องเป็นฝ่ายนำเงินให้ผู้ปล่อยกู้ก่อน ก็ขอให้คิดเสมอว่าอาจเป็นพวกมิจฉาชีพ
พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ เที่ยงกมล เสนอแนะวิธีแก้ปัญหา “การหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพจะแบ่งเป็น 3 รูปแบบหลัก ประกอบด้วย
- แอปพลิเคชันหลอกลวง โดยภาครัฐต้องเร่งหาวิธีการเพื่อกำจัดแอปฯ เหล่านี้ให้เร็วที่สุด
- ส่วอยส์ หรือระบบเสียง กสทช. ต้องเข้ามาดำเนินการไม่ให้เบอร์โทรต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้
- ข้อความ SMS ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือต้องพัฒนาระบบในแบบ ทูเวย์ หรือ สองด้าน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถดำเนินการร้องเรียน ได้ทันที และส่งเบอร์เหล่านั้นไปยัง กสทช. เพื่อส่งต่อมายังกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อหาช่องทางจับกุมคนร้ายต่อไป
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) “ปัจจุบันผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือในไทยมีจำนวนไม่มากนัก และอาจจะมีแนวโน้มลดลงได้ในอนาคตหาก กสทช. ไม่เข้ามาดำเนินการ การที่ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยก็ยิ่งทำให้การตัดสินใจเปลี่ยนค่ายเป็นไปได้ยาก เมื่อมีความจำกัดทุกส่วน ประเด็นนี้ก็น่าจะเป็นประเด็นเร่งด่วนที่บอร์ด กสทช. ชุดใหม่ต้องพิจารณาดำเนินการ เพราะสามารถทำได้ภายใต้กติกาทุกอย่างที่ กสทช. มี ในเชิงภาพรวมได้สร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคอย่างมาก หาก กสทช. ไม่เร่งแก้ไขก็จะยิ่งสร้างความเสียหายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริโภคก็มีโอกาสถูกหลอกในด้านการเงินเพิ่มขึ้น เช่น การชักชวนให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ การชักชวนให้เล่น คริปโตฯ ซึ่งคาดว่าการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือการธนาคารจะมีให้เห็นและพัฒนารูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นแน่นอน” สารี อ๋องสมหวัง กล่าวเสริม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา