หลังกรมการขนส่งฯ มึแนวโน้มให้ปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่มิเตอร์ 8% แต่ผู้ขับที่ได้สิทธิ์นี้ต้องอยู่ในโครงการ Taxi OK ที่มีเพียง 13,000 คัน เล่นเอาฝั่งสมาคมผู้ขับแท็กซี่โกรธเกรี้ยว พร้อมขู่ว่าจะคิดราคาเหมารายเดือนแทน
คุ้มคนขับ แต่น่าจะไม่คุ้มกับผู้โดยสาร
ตอนนี้แท็กซี่ที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ มีเกือบ 1 แสนคัน อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า แท็กซี่ที่อยู่ในโครงการ Taxi OK ของกรมการขนส่งทางบกอยู่ที่ 13,000 คัน ส่วนรถคันอื่นก็ไม่สามารถได้สิทธิ์ขึ้นราคาที่ทางกรมการขนส่งฯ อยู่ระหว่างพิจารณาขึ้นค่าโดยสารอีก 8% เพื่อชดเชยให้กับการวิ่งในช่วงเวลารถติด
แต่การที่กลุ่มสมาคมผู้ขับขี่แท็กซี่กลับออกมาสวนกลับนโยบายนี้ด้วยการหารือกับ My Taxi หนึ่งในแอปพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่ที่เปิดให้ผู้บริโภคทั่วไปมาสมาชิกเป็นรายเดือนราคา 10,200 บาท เพื่อใช้แท็กซี่เดินทางได้ทั่วกรุงเทพฯ กับปริมณฑลได้ไม่จำกัด นอกจากนี้แท็กซี่ที่ร่วมเครือข่ายยังได้สิทธิ์จำหน่ายน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพไปจำหน่ายด้วย
ซึ่งจริงๆ แล้วพอลองมาคำนวนดู ถ้าเป็นคนที่ต้องนั่งแท็กซี่ไปทำงานทุกวัน เฉลี่ยเที่ยวละ 200 บาท ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยคุ้ม เพราะเมื่อคูณจำนวนวันต่อเดือนดูแล้วก็น่าจะจ่ายราว 8,000 บาท ประกอบกับทางเลือกในการขึ้นแท็กซี่นอกเครือข่าย (ไมใช่ทุกคันจะอยู่ใน My Taxi) รวมถึงแอปพลิเคชั่นบริการร่วมเดินทางก็มีให้เลือกมากมาย
จะมีอะไรอยู่เบื้องหลังดีลครั้งนี้หรือไม่
ขณะเดียวกันเมื่ออ้างอิงจากคำพูดของ วรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ ที่พูดว่า “บริการ My Taxi นั้น ผู้ขับแท็กซี่จะไม่ได้กดมิเตอร์เพื่อคำนวนค่าโดยสาร แต่จะเป็นการเหมาจ่ายเป็นแต่ละเดือนไป และผู้ขับที่สมัครสมาชิกกับเราจะได้น้ำผลไม้ 6 ขวด และอาหารเสริมที่ทางกลุ่มจำหน่ายอยู่ตอนนี้”
เมื่อเป็นอย่างนี้มันอาจจะเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้ขับแท็กซี่มาสมาชิกร่วมเครือข่าย My Taxi เพื่อได้น้ำผลไม้ และอาหารเสริม คล้ายกับกรณีของแอปพลิเคชั่นบริการร่วมเดินทางก่อนหน้านี้ ที่เชื้อเชิญให้ผู้ขับแท็กซี่ลงทุนในรูปแบบ ICO เพื่อได้สิทธิ์รับส่งผู้โดยสาร และได้ค่าตอบแทนเป็นเหรียญในแอปพลิเคชั่นนี้แทน
ดังนั้นคงต้องดูกันดีๆ ว่าตัวดีลดังกล่าวจะมีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะมันดูค่อนข้างไม่ชัดเจนทั้งในมุมผู้ขับแท็กซี่เอง รวมถึงฝั่งผู้โดยสารที่ยังไม่รู้ว่าการสมัครสมาชิกนั้นจะใช้ได้นานแค่ไหน และตัวงานบริการจะเหมือนเดิมหรือไม่ถ้าเทียบกับการไปส่งรถ, ไปเติมแก๊ส หรืออื่นๆ ที่ยังพบเจอได้ในปัจจุบัน
ทางเลือกคนกรุงฯ ที่มีมากกว่าแค่แท็กซี่
เชื่อว่าคนเมืองน่าจะรู้จักรูปแบบการเดินทางในชีวิตประจำวันที่มากกว่าแท็กซี่แล้ว ดังนั้นการขู่ให้มาสมัครสมาชิก 10,200 บาท รวมถึงไม่กดมิเตอร์อีกแล้วก็คงไม่กระทบกับผู้ใช้ชีวิตในเมืองมากนัก เพราะนอกจากรถไฟฟ้าทั้งบนดินใต้ดินแล้ว แอปพลิเคชั่นบริการร่วมเดินทางก็มีให้เลือกหลากหลาย
โดยเฉพาะกับ Grab ที่ทำตลาดทั้งรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซค์ ประกอบกับ Get! ก็กำลังจะเข้ามาทำตลาดในไทยโดยเริ่มจากรถมอเตอร์ไซค์ก่อน นอกจากนี้ก็ยังมีบริการรถมอเตอร์ไซค์รายอื่นๆ ที่ทำตลาดอยู่เช่นกันรอตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวกรุงฯ อยู่ด้วย
สุดท้ายแล้วส่วนตัวเชื่อว่า ถ้ากลุ่มสมาคมแท็กซี่ออกบริการนี้ขึ้นมาจริงๆ ก็คงไม่มีผู้ใช้ชาวกรุงฯ สมัครใช้งานเท่าไรนัก เพราะคงไม่อยากได้ประสบการณ์ หรือภาพจำเดิมๆ ของแท็กซี่แน่ๆ ประกอบกับค่าใช้จ่ายหลักหมื่นบาทนั้น ก็ดูค่อนข้างสูงจนเกินไปสำหรับมนุษย์เงินเดือนบางคน
สรุป
My Taxi อาจเป็นแอปพลิเคชั่นรายล่าสุดของกลุ่มบริการแท็กซี่ที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือไปไม่ได้ดังหวัง คล้ายกับกรณีของ All Thai Taxi ที่ส่วนใหญ่การใช้งานก็น่าจะมาจากการโบกมากกว่า ดังนั้นคงต้องติดตามต่อไปว่า My Taxi จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แล้วแท็กซี่เหล่านั้นจะตัดสินใจไม่กดมิเตอร์ได้นานแค่ไหน
อ้างอิง // ข่าวสด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา