ทำไมมหาเศรษฐีทั่วโลกชอบสร้างมูลนิธิ ชอบบริจาค แต่ไม่อยากเสียภาษีสูงๆ | TAX THE RICH ep.2

บทความโดย: รัตณษร อุ่นจิตร และเพ็ญพิชชา ขุนสุทน

  • ถึงเวลาแล้วหรือยังที่มหาเศรษฐี จะจ่ายภาษีในอัตราที่ ‘เท่าเทียม’ กับคนทั่วไป | TAX THE RICH ep.1

TAX THE RICH

คนรวยกับการบริจาค

บทบาทของคนรวยที่เห็นได้บ่อยคือการบริจาคเงินช่วยเหลือสังคม อย่างในช่วงโควิดก็มีการบริจาคของมหาเศรษฐีทั่วโลก และส่วนใหญ่มักจะมีองค์กรการกุศลเป็นของตัวเอง ตัวอย่างมูลนิธิของบรรดามหาเศรษฐี เช่น 

  • Jeff Bezos มีมูลนิธิ Bezos Family foundation
  • Elon Musk กับ Musk Foundation
  • Bill Gates ที่มี Bill and Melinda Gates Foundation ( Warren Buffett พึ่งประกาศลาออกจากตำแหน่ง Trustee ของมูลนิธิ)
  • มหาเศรษฐีฝั่งเอเชียอย่าง Jack Ma มี Jack Ma Foundation

ในไทยเองก็มีมูลนิธิพุทธรักษา ของครอบครัวเจียรวนนท์ มูลนิธิวิชัย ศรีวัฒนประภา ที่เมื่อก่อนใช้ชื่อว่ามูลนิธิ คิงเพาเวอร์ หรือจะเป็นการบริจาคของพิมรี่พายหลายแสนบาทให้กับเด็กในอำเภออมก๋อยจนกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในสังคมไทยช่วงที่ผ่านมา

เศรษฐีอเมริกันครองแชมป์บริจาคเยอะที่สุด

ในบรรดาเหล่าผู้ใจบุญ ผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดในโลกคือ “บรรดาเศรษฐีในสหรัฐ” ตามมาด้วย “เศรษฐีอังกฤษ”

ดูจากสถิติ ลำพังเพียงมูลนิธิบิลเกตส์เพียงเจ้าเดียวก็บริจาคไปแล้ว 5 พันล้านปอนด์เมื่อปี 2018 (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากกว่างบบริจาคของหลายประเทศ

เงินเกือบ 1 ใน 5 ที่บริจาคให้คนยากไร้ ส่วนใหญ่บริจาคเพื่อสนับสนุนศิลปะ ทีมนักกีฬา และกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมอื่นๆ

  • คำถามคือ ทำไมมหาเศรษฐีเหล่านี้ถึงชื่นชอบการบริจาคกันมากเสียเหลือเกิน?

คำตอบ: เพราะเงินบริจาคก็เป็นประโยชน์กับผู้บริจาคด้วยเช่นกัน

เว็บไซต์ The Guardian ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความใจบุญว่า ถึงที่สุดแล้ว การบริจารก็ถือเป็นประโยชน์กับคนรวยได้เช่นกัน

จากข้อมูลพบว่า เงินบริจาคก้อนใหญ่ที่สุดในการสนับสนุนการศึกษาในอังกฤษปี 2019 กลับถูกบริจาคให้มหาวิทยาลัยและโรงเรียนของชนชั้นนำซึ่งเป็นสถาบันที่ลูกหลานผู้บริจาคศึกษาอยู่ 

ในอังกฤษช่วงปี 2007 – 2017 เงินบริจาคมากกว่า 2 ใน 3 ถูกบริจาคให้กับระดับอุดมศึกษา และครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินได้บริจาคให้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Oxford และ Cambridge 

นอกจากนี้ การทำบุญมักเป็นการแสดงออกถึงอำนาจเสมอ เพราะการให้มักจะขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลของบรรดาเศรษฐี ซึ่งบางครั้งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับการจัดลำดับความสำคัญทางสังคม

จนมักเกิดคำถามว่า สุดท้ายแล้วการบริจาคนั้น ลึกๆ แล้วเป็นการตอบสนองความต้องการของคนรวยเองหรือไม่? หรือที่หลายคนอาจจะพูดว่า การบริจาคก็เป็นเพียงการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมของคนรวยนั่นเอง … ไม่มากก็น้อย

ภาพจาก pixabay.com

การบริจาคมีอะไรมากกว่าใจบุญ: ลดหย่อนภาษี เลี่ยงภาษี และช่องโหว่ทางกฎหมาย

ในสหรัฐอเมริกา งานวิจัยชี้ว่าคนที่ยิ่งรวยมากขึ้นจะยิ่งพยายามหลีกเลี่ยงภาษีจากการบอกรายได้ที่ไม่ครบมากขึ้น

งานวิจัยของ Internal Revenue Serivice (IRS) ชี้ว่า คนที่มีรายได้ตั้งแต่ฐานรากของสังคม 90% มีเพียงแค่ 5-10% เท่านั้นที่ส่งภาษีไม่ครบ ในขณะที่คนที่มีรายได้สูง 10% บนของสังคม มีมากถึง 20% ที่กรอกรายได้ภาษีไม่ครบ

โดยคนกลุ่ม 5% ที่ส่งรายได้ไม่ครบ เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้มากกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 6.4 ล้านบาท) และเป็นที่มาของ 1 ใน 3 ของเงินที่กรมภาษีต้องเก็บต่อปี การรายงานรายได้ที่ไม่ครบทำให้รายได้ของรัฐบาลได้รับผลกระทบชัดเจน

ในหลายประเทศทั่วโลก มักจะยอมให้ทั้งบุคคลทั่วไปและนิติบุคคลลดหย่อนภาษีได้ด้วยการบริจาคให้การกุศล แต่ถึงที่สุดแล้ว เงินที่ควรจะนำไปใช้พัฒนาสังคม บางทีก็เป็นแค่การเลี่ยงภาษีของคนรวยเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น

  • การบริจาคที่ดินให้กรมดูแลสภาพแวดล้อมในสหรัฐ หรือที่เรียกว่า Conservation Easement ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในสหรัฐ เรื่องการรายงานมูลค่าที่ดินที่สูงเกินความเป็นจริงเพื่อลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็กำลังโดนตรวจสอบเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟในหัวข้อนี้เช่นเดียวกัน

ในอีกด้านหนึ่ง ยังมีอีกหลายวิธีที่ช่วยคนรวยในการเลี่ยงภาษี เช่น

  • การเปิดบัญชีธนาคารที่ต่างประเทศเพื่อเลี่ยงการรายงานรายได้ ซึ่งสถาบันการเงินบางรายที่ช่วยลูกค้าเลี่ยงภาษีก็โดนรัฐบาลสหรัฐตรวจสอบและจับกุมอย่างเคร่งครัด

ทางด้านคนรวยที่เป็นเจ้าของบริษัทก็อาจจะใช้วิธีเลี่ยงภาษีอื่นๆ ที่ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย เช่น

  • การลงทุนในหุ้นซึ่งไม่โดนเก็บภาษีรายปีแทน
  • การใช้บริษัทลูกกลบรายได้ที่ควรได้ ซึ่งการลงทุนผ่านบริษัทจะเสียภาษีน้อยกว่าภาษีรายได้ ด้วยภาษีนิติบุคคลที่ 21% และภาษีรายได้สูงกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐที่ 37%

สรุป

ถึงแม้ว่าจะมีเงินบริจาคจำนวนมากในสังคมทุกปี แต่การที่เงินไม่ได้ถูกจัดสรรไปอย่างเท่าเทียมอาจจะยิ่งเป็นการเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำ และยังคงต้องตั้งคำถามกับประเด็นการบริจาคเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเป็นคนดีของสังคม

ที่มา: The Guardian, Washington Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา