วิธีวางแผน ภาษี เงินได้ มือใหม่ก็ทำได้ แถมมีเงินเหลือสิ้นปี

วางแผน ภาษี เงินได้ เรื่องง่ายๆ ที่อยากให้วางแผนกัน

ในช่วงมกราคม – มีนาคมของทุกปี ผู้มีรายได้ต่างก็ต้องทำเรื่องจ่าย ภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา ยิ่งมีรายได้มากขึ้นก็ต้องยิ่งวางแผนมากขึ้นเพราะนั่นหมายถึงการที่ถ้าคุณต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติมมากขึ้นซึ่งความเป็นจริงคุณสามารถจ่ายภาษีน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็นได้ ดังนั้นหากมีการวางแผนการยื่นจ่ายภาษีตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้เราไม่ต้องลำบากจ่ายเพิ่มเติมในภายหลังหรือสามารถขอคืนภาษีที่จ่ายไปเกินได้

ก่อนจะวางแผนภาษีเราต้องรู้ก่อนว่าเงินเดือนของเราอยู่ตรงไหนของฐานภาษี มีค่าเบี้ยประชุม ปันผล ค่านายหน้า และค่าอื่นๆ อีกหรือไม่เพื่อคำนวณเงินได้พึงประเมินซึ่งจะหักค่าใช้จ่ายได้ราวๆ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท แต่อาจจะมีบางอาชีพที่สามรรถสามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น เช่น อาชีพขายของชำ หักค่าใช้จ่ายได้สูงถึง 80% ร้านอาหาร ร้านตัดผม ร้านถ่ายรูป หักได้ 70% ของรายได้ทั้งปี 

ภาษี

หลังจากที่เรารู้เงินได้พึงประเมินแล้ว ต่อไปที่เราต้องวางแผนนั่นก็คือค่าลดหย่อน โดยค่าลดหย่อนของการจ่าย ภาษี บุคคลธรรมดามีดังนี้

ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและครอบครัว

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว : 60,000 บาท
  • หากคู่สมรสไม่มีเงินได้ : สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท
  • ถ้ามีลูก : สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท/ลูก 1 คน ซึ่งตรงนี้ไม่มีข้อจำกัดถ้ามีลูกหลายคน
  • หากต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ หรือพ่อแม่ของคู่สมรส : สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท/คนสูงสุด 4 คน รวมแล้ว 120,000 บาท 
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร : ใช้ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินปีละ 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อแม่ : 30,000 บาท/คน ซึ่งมีเกณท์ว่าพ่อแม่ต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท แต่ถ้ามีลูกหลายคนจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
  • ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ : 60,000 บาท/คน โดยที่ต้องเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฎหมายและผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมาย รวมถึงมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี

การลงทุน-ประกัน

  • เงินสมทบกองทุนประกันสังคม : สามารถเอามาใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง
  • ซื้อประกันชีวิต : ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • ซื้อประกันสุขภาพ :ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท
  • เงินสะสม กองทุน กบข. กองทุน สงเคราะห์ครูเอกชน ไม่เกิน 500,000 บาท
  • เงินสะสม กองทุนการออมแห่งชาติ ไม่เกิน 13,200 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ใช้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF ใช้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกิน 200,000 บาท

เงินบริจาค

  • เงินบริจาคให้พรรคการเมือง : ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
  • เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา กีฬา โรงพยาบาลรัฐ : ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ และค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคทั่วไป : ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ และค่าลดหย่อน ข้อนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการบริจาคให้ วัด มูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศล สถานสงเคราะห์ ต่างๆ

อสังหาริมทรัพย์

  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท

จะเห็นได้ว่าหากมีการวางแผนการยื่นจ่ายภาษีดีๆ เราสามารถลดการจ่ายภาษีบางอย่างไปได้เยอะเลย และในแต่ละปีภาครัฐก็จะมีแคมเปญมาให้เราสามารถใช้ลดหย่อยภาษีได้ตัวอย่างเช่น “ช้อปดีมีคืน” ที่ไม่ต้องลงทะเบียนหรือสมัครอะไร เพียงแค่ซื้อสินค้าหรือบริการตามเงื่อนไขและอย่าลืมขอใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ จะสามารถใช้ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท 

ถึงตรงนี้หลายคนน่าจะพอคำนวณคร่าวๆ ได้แล้วว่าหากลดหย่อนด้วยวิธีของตัวเองตามกำลังทรัพย์ของตัวเองแล้วนั้นจะสามารถลดหย่อยได้มากน้อยแค่ไหน ต่อไปก็ต้องเตรียมเอกสารให้พร้อมและยื่นภาษีได้เลย โดยที่การยื่นภาษีนั้นจะมีหลายช่องทางดังนี้

  • ยื่นภาษีแบบออนไลน์ ผ่านระบบเว็บไซต์ E-filing ของกรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่พิเศษคือ สามารถขอรับเงินคืนจากการลดหย่อนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์ได้  การยื่นวิธีนี้จะยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2565
  • ยื่นที่กรมสรรพากร หมดเขต 31 มี.ค.65
  • ยื่นภาษีที่สถาบันการเงินทั้งในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด 

หากเราต้องชำระภาษีเพิ่มเติมตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป สามารถผ่อนชำระได้ โดยให้ผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวด โดยที่ไม่มีดอกเบี้ย ห้ามจ่ายล่าช้าโดยเด็ดขาดเพราะแทนที่เราจะได้ลดหย่อนภาษีกลายเป็นโดนค่าปรับถึง 1.5% / เดือนเลยทีเดียว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา