จากกรณีอิมแพ็ค อารีน่า: เช็กภาษีที่ดิน ปลูกกล้วยเยอะแค่ไหน จึงเข้าข่าย ใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร

ส่อง ภาษี ที่ดิน ที่แต่ประเภทมีอัตราภาษีเท่าไหร่ ปลูกพืชเยอะแค่ไหนเรียกที่ดินเกษตร ตอบให้ชัดหลังเกิดกรณี อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี เนรมิตที่ดินเป็นสวนกล้วย

ภาษี ที่ดิน

เมื่อวานนี้ อิมแพ็ค อารีน่า ประกาศผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ว่าได้มีการแปลงพื้นที่ริมทะเลสาบเมืองทองธานี ฝั่งตรงข้ามดับเบิ้ลเลค คอนโดมิเนียมซึ่งเดิมทีเป็นพื้นที่รกร้าง ให้กลายเป็นสวนกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมขนาดใหญ่ 50 ไร่ โดยปลูกกล้วยกว่า 10,000 ต้น 

ทางเพจระบุว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ “เป็นความประสงค์ของซีอีโอ คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ ที่ต้องการนำที่ดินเปล่า 50 ไร่ริมทะเลสาบเมืองทองธานี มาสร้างประโยชน์ทำโครงการเกษตรปลูกต้นกล้วย เพื่อเป็นวัตถุดิบสนับสนุนครัวอิมแพ็คและแบ่งปันช่วยเหลือสังคม รวมถึงการสร้างพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เมืองทองธานีน่าอยู่”

โดยโครงการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการเกลี่ยหน้าดิน จากนั้นเลือกกล้าพันธุ์กล้วยจาก จ. นครนายก 2 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ กล้วยน้ำว้าและกล้วยหอม ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีต้นทุนน้อย ดูแลง่าย โตไว ออกผลผลิตได้เร็ว มาปลูก และทีมอิมแพ็คช่วยกันดูแลรดน้ำ ตัดหญ้า

ข้อกังวลเรื่องการใช้ที่ดิน และ ภาษี

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากกลับแสดงความคิดเห็นตั้งคำถามเรื่องของการใช้ที่ดิน เนื่องจากหากลองย้อนไปดู พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จะพบว่าที่ดินเกษตรกรรมจะมีการเสียภาษีน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับที่ดินชนิดอื่น

โดยตามพ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่ดินแต่ละชนิด มีอัตราภาษีที่ต้องจ่าย ดังนี้

  • ที่ดินเกษตรกรรม 0.01-0.1%
  • ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย 0.02-0.1%
  • ที่ดินพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม 0.3-0.7%
  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ 0.3-0.7%

คำถามต่อมาก็คือ แล้วต้องมีการใช้ที่ดินแบบไหน จึงจะเข้าข่ายว่าที่ดินผืนนั้นคือที่ดินเกษตรกรรม?

หากลองดู ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม จะพบว่ามีการระบุเอาไว้ชัดว่าที่ดินเกษตรกรรมคือที่ดินที่ถูกนำไปใช้ในการประกอบเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่น ได้ตามอัตราขั้นต่ำที่กำหนดเอาไว้ในประกาศกระทรวง

พูดง่ายๆ คือ หากทำเกษตรได้ตามอัตราที่กำหนด เจ้าของที่ดินก็จะสามารถจ่ายภาษีที่ดินในอัตราสำหรับที่ดินเกษตรซึ่งต่ำที่สุดในบรรดาภาษีที่ดินทั้งหมด

โดยในกรณีของการปลูกกล้วยหอม กล้วยไข่ และกล้วยน้ำว่า มีการระบุเอาไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีการปลูกมากกว่า 200 ต้น/ไร่ จึงจะเข้าข่ายว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม 

แล้วการทำเกษตรอื่นๆ มีเกณฑ์อย่างไร?

สำหรับ พืชอื่นๆ มีการกำหนดขั้นต่ำเอาไว้แตกต่างกันไป เช่น

  • กาแฟอราบิก้า 533 ต้น/ไร่
  • เงาะ 20 ต้น/ไร่
  • ฝรั่ง 45 ต้น/ไร่
  • มะขามหวาน 25 ต้น/ไร่
  • มะนาว 50 ต้น/ไร่
  • ยางพารา 80 ต้น/ไร่

นอกจากนี้ การเลี้ยงสัตว์ ก็มีการกำหนดพื้นที่คอกหรือโรงเรือนขั้นต่ำต่อตัวเอาไว้ เช่น

  • โค 7 ตร.ม./ตัว
  • สุกรพ่อพันธ์ (คอกเดี่ยว) 7.5 ตร.ม./ตัว
  • สัตว์ปีกเลี้ยงปล่อย 4 ตร.ม./ตัว

ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ถือว่าการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม

  1. พื้นที่บ่อดิน บ่อปูน กระชังบก บ่อพลาสติก โรงเพาะฟัก หรือพื้นที่ที่ใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในลักษณะอื่นใด ที่ผู้ขุด ผู้สร้าง ผู้จัดทำ เจ้าของ หรือผู้ครอบครอง มีความมุ่งหมายโดยตรงที่ใช้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
  2. ที่ดินที่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องที่มีกิจกรรมใช้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น บ่อพักน้ำ บ่อบำบัด คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ คูน้ำ คันดินขอบบ่อ ถนน และให้รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ที่มา – IMPACT Arena, Exhibition and Convention Center, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา