[วิเคราะห์] เมื่อสรรพากรเริ่มเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ประชาชนต้องเตรียมตัวอย่างไร?

ข่าวล่าสุดเมื่อกรมสรรพากรจะสั่งเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 15% ไม่ว่าจะได้ดอกเบี้ยมาเท่าไร ว่าแต่ทำไมสรรพากรต้องเร่งเก็บภาษีรายย่อยในช่วงนี้ และใครจะได้รับผลกระทบบ้าง

ภาพจาก Shutterstock

เมื่อกรมสรรพากร (ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง) ประกาศว่า จะปรับเกณฑ์การเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากจากเดิมหากประชาชน 1คนได้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาทไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 15% แต่หลังจาก 15 พ.ค.2562 นี้ จะเก็บภาษี 15% ของดอกเบี้ยเงินฝากจากประชาชนตั้งแต่บาทแรก โดยมีข้อยกเว้นไม่เก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก (เฉพาะคนที่ได้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาท) หากยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากในกับกรมสรรพากร

ทั้งนี้หากมีเงินฝาก 1.4 ล้านบาท และได้รับดอกเบี้ย 1.7%ต่อปี จะได้ดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาท หรือดอกเบี้ยออมทรัพย์ธรรมดาหากฝากเงิน 4 ล้านบาท และได้ดอกเบี้ย 0.5%ต่อปี จะได้ดอกเบี้ยเงินฝากเกินเกณฑ์

ปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร บอกว่า ตามกฎหมายไทยคือหนึ่งคนไม่ว่าจะมีกี่บัญชี ถ้ารวมแล้วได้รับดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทสามารถยกเว้นไม่เสียภาษีได้ แต่สาเหตุที่กรมสรรพากรต้องปรับเกณฑ์เก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากใหม่เพราะปัจจุบันระบบธนาคารยังไม่เชื่อมโยงข้อมูลกันทั้งหมด ทำให้ข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนและเกิดปัญหาคนเปิดหลายบัญชี หลายสาขาธนาคารเพื่อกระจายเงินฝากไม่ให้เสียภาษี

“ที่ผ่านมามีคนที่ฝากเงินกับธนาคารเมื่อบัญชีนั้นกำลังจะได้ดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท ก็จะปิดบัญชีเก่าแล้วเปิดบัญชีใหม่ เพื่อให้ดอกเบี้ยที่ได้มาไม่ได้เสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งการหลบเลี่ยงแบบนี้ถือว่าผิดกฎหมาย”

ภาพจาก Pixabay

ใครได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีนี้บ้าง?

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) บอกว่าการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากน่าจะไม่กระทบคนส่วนใหญ่เพราะในประเทศไทยปัจจุบันคนที่มีเงินฝากต่ำกว่า 50,000 บาท มีอยู่ประมาณ 79.66 ล้านบัญชี แต่จะส่งผลกระทบต่อคนที่มีเงินฝากในบัญชีธนาคารจำนวนมาก

“เรามองว่าการออกเกณฑ์ใหม่ของกรมสรรพากรทำเพื่ออุดช่องโหว่ทางกฎหมาย เช่น การฝากเงินได้ดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต้องเสียภาษี จะเวียนเปิดบัญชีใหม่เหมือนก่อนหน้านี้ไม่ได้แล้ว ดังนั้นหลังจากนี้ส่ิงที่จะเกิดขึ้นคือ ธนาคารจะส่งหนังสือแสดงความจำนงให้ยินยอมส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝาก (ของลูกค้า) ให้สรรพากร” 

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ประเทศไทยปัจจุบันมีบัญชีรายย่อยที่มีเงินฝากตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 1.1 ล้านบัญชี จากจำนวนบัญชีทั้งหมดที่ 91 ล้านบัญชี

ทั้งนี้การเปลี่ยนเกณฑ์เก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก อาจก่อให้เกิดพฤติกรรม Search for yelid (แสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น) อย่างต่อเนื่อง และอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ทั้งคนหันไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจ ที่ผ่านมาในไทยมีปัญหาจากแชร์ลูกโซ่ Forex หรือการลงทุนที่ผลตอบแทนสูง แต่ผู้ลงทุนไม่เข้าใจความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศได้ (ปัญหาที่ธปท.กังวลมาตลอด)

ภาพจาก Shutterstock

ปีนี้สรรพากรจะออกกฎหมายเก็บภาษีประชาชนเรื่องใดบ้าง?

วันที่ 21 มี.ค. 2562 กรมสรรพากรออกประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ต้องส่งข้อมูลประชาชนที่ทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ให้สรรพากรเพื่อตรวจสอบนำสู่การเก็บภาษี ใน 2 เงื่อนไข ได้แก่

  1. ฝากเงินหรือรับโอนรวมกันปีละ 3,000 ครั้ง (หรือถ้าคิดแบบเฉลี่ยจะตกวันละ 8.2 ครั้ง ในกรณีที่ใช้ทุกวัน ทั้งปี)
  2. ฝากเงินหรือรับโอนรวมกันปีละ 400 ครั้ง (มีการปรับเปลี่ยนในที่ประชุม สนช. จากยอดเดิมคือ 200 ครั้ง) แต่ยอดรวมยังคงเดิม คือเริ่มต้นที่ 2,000,000 บาทขึ้นไป

ทั้งนี้มองว่ากรมสรรพากรออกกฎหมายเร็วเกินไป จากปัจจุบันที่ไทยพยายามก้าวเข้าสู่สังคมไม่ใช้เงินสด (Cashless Society) และประชาชนบางเพิ่งจะคุ้นเคยกับระบบพร้อมเพย์ หรือการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งบังคับให้ธนาคารส่งข้อมูลธุรกรรมลูกค้าให้กรมสรรพากรอาจทำให้ประชาชนทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลลดลง

และก่อนปลายปี 2562 นี้ (ช่วงเดือนก.ย.- ต.ค.) คาดว่ากรมสรรพากรจะออกเกณฑ์เก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ กรมสรรพากรคาดว่าจะเก็บรายได้ส่วนนี้ถึง 1,500-1,600 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อกองทุนรวมเข้าซื้อพันธบัตร หรือหุ้นกู้ และได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่กองทุนจะได้รับ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ซื้อกองทุนตราสารหนี้จะได้รับผลตอบแทนลดลง

เกณฑ์ใหม่ที่ออกมาอาจส่งผลกระทบให้การซื้อขายในตลาดกองทุนตราสารหนี้ลดลง จากปัจจุบันขนาดกองทุนรวมตราสารหนี้อยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท (นับรวมกองทุน FIF แล้ว) ขนาดพันธบัตรทั้งหมดอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้การออกเกณฑ์เก็บภาษีของกรมสรรพากรควรมองภาพรวมของประเทศไทย หากการเก็บภาษีจากประชาชนหลักพันล้านบาท แต่ต้องนำเงินของรัฐบาลไปอุดหนุนแก้ไขปัญหาอื่นๆ เพิ่มอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อประเทศไทย

สรุป

เมื่อกรมสรรพากรจะเว้นภาษีให้ประชาชนที่ได้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาทต้องเปิดเผยข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้ประชาชน แต่หลายคนยังกังขาว่าการให้ข้อมูลกับกรมสรรพากรจะมีประโยชน์จริงหรือ ขณะเดียวกันการประกาศเก็บภาษีของสรรพากรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ภาษีที่ดิน ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก และอีกสารพัด ชวนให้ประชาชนบางส่วนมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดีจนกรมสรรพากรต้องมารีดเงินจากประชาชนเพิ่มขึ้น?

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ, 1, ธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา