ครั้งแรกกับการเปิดตัว และพาชมโรงงานผลิตสุรา “ตะวันแดง” ท้าชิงตลาดสุรา 1.5 แสนล้านบาท

พูดถึงเรื่องราวของสุรา หรือ เหล้า หลายคนอาจมีมุมมองที่ไม่ดีนัก แต่ถ้าว่ากันด้วยเรื่องเศรษฐกิจและการตลาดแล้ว สุรา คาดว่ามีมูลค่าตลาดกว่า 1.5 แสนล้านบาท (เป็นรองเบียร์ที่มีระดับ 2 แสนล้านบาท) และทำให้หลายต่อหลายคนอยากกระโดดเข้ามาร่วมวงด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย และยึดหัวหาดโดยเจ้าตลาดเดิม การเปิดสินค้าใหม่จึงเป็นเรื่องยาก

ว่าแล้วกลุ่มผู้บริหารคาราบาวแดง นำโดย เสถียร เศรษฐสิทธิ์ และหุ้นส่วนสำคัญที่จับมือกันทำธุรกิจมาเกือบะ 20 ปี จึงตัดสินใจเริ่มต้น บริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้น 3,000 ล้านบาท เพื่อบอกให้รู้ว่าบริษัทนี้มีแนวคิดริเริ่มมานานแล้ว แต่เพิ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนในปี 2017 และนี่คือ จุดเริ่มต้นของ โรงงานผลิตสุรา ตะวันแดง

เสถียร เศรษฐสิทธิ์

เริ่มจากเหล้าขาว ก่อนขยายผลไปเหล้าชนิดอื่น

เสถียร บอกว่า ตะวันแดง เป็นโรงงานสุราเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท เตรียมเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทในปีหน้า มีใบอนุญาตผลิตสุรา รองรับกำลังการผลิตเต็มที่ได้ 150,000 ลิตรต่อวัน หรือบรรจุได้กว่า 5 แสนขวด แต่ในปีนี้ยังเดินหน้าการผลิตที่ 80,000 ลิตรต่อวัน

เป้าหมายแรกคือ การผลิตสุราขาว หรือ เหล้าขาว ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด มียอดขายสูงที่สุด ปริมาณการบริโภคสูงสุด และจำหน่ายได้ทั่วประเทศ (คาดการณ์ว่ามีมูลค่าตลาดประมาณ 80,000 ล้านบาท)

และตะวันแดงจะเป็นแบรนด์ที่สองในตลาดเหล้าขาว

เสถียร เล่าว่า ที่ผ่านมาปัจจัยสำคัญของการทำตลาดเหล้าขาวคือ ต้องสามารถผลิตได้เพียงพอความต้องการ และกระจายสินค้าออกไปทั่วประเทศ ต้องอาศัยพลังของช่องทางการจำหน่ายที่สูงมากซึ่งตะวันแดงสามารถทำได้ผ่านบริษัทในเครือคาราบาวกรุ๊ป

ถ้าขายแค่บางพื้นที่ เหมือนเหล้าชุมชน สุดท้ายจะโดนเจ้าตลาดเข้าทำตลาดแข่งขัน สุดท้ายเหล้าชุมชนขายไม่ได้ก็ต้องปิดตัวไป

ปัจจุบัน ตะวันแดงกระจายสินค้ามา 2 เดือนครอบคลุม 40% ของร้านค้ากว่า 2 แสนแห่งที่คาราบาวกรุ๊ปเข้าถึง และจะขยายให้ครบ 80-90% ในปีนี้ ก่อนจะขยายเป็น 3 แสนร้านค้าในปีนี้ เพราะนี่คือ ปัจจัยสำคัญ

ราคาที่ถูกกว่าคือ จุดขายสำคัญ

เหล้าขาวที่ตะวันแดง มีครบทั้ง 4 ดีกรี คือ 28 30 35 และ 40 ซึ่งแตกต่างกันที่ความแรง และแต่ละดีกรีจะใช้ตีตลาดตามภูมิภาคที่แตกต่างกัน 28 30 และ 35 จะเน้นอยู่ในภาคกลาง ส่วน 40 ดีกรีจะอยู่ที่ภาคอีสาน ภาคเหนือและภาคใต้ ตามรสนิยมของผู้บริโภค

จุดเด่นที่ ตะวันแดง มั่นใจมาก อันดับแรกคือ ราคาสินค้า ที่ถูกกว่าคู่แข่ง 10-20% แปลว่าผู้บริโภคจะซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งถือเป็นสิ่งจูงใจที่สำคัญมาก อีกประการคือ ร้านค้าจะได้กำไรต่อขวดมากกว่า ดึงดูดให้ร้านค้าอยากขายสินค้า

อีกประการคือ รสชาติของสินค้า ที่มั่นใจว่าดีกว่า และการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในอาเซียน ใช้คอมพิวเตอร์ในการควบคุมการผลิตทั้งหมด เมื่อรวมกับศูนย์กระจายสินค้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงมั่นใจว่าในปีนี้ จะมียอดขายประมาณ 10% ของตลาด

และปีหน้า จะเริ่มต้นผลิตสุราชนิดอื่นๆ คาดว่าจะครบทุกประเภทภายใน 3 ปี

เปิดโรงผลิตสุรา ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายปีกว่าจะถึงวันนี้

เสถียร บอกว่า การจะทำโรงผลิตสุราในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นอกจากเรื่องความละเอียดอ่อนทางสังคมแล้ว สิ่งที่ตะวันแดง เน้นมากที่สุดคือ ทุกอย่างต้องถูกกฎหมาย และไม่มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงใช้เวลาในการทำประชาพิจารณ์กว่า 3 ปี รวมถึงการตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการตั้งโรงงาน

แต่ก่อนหน้านั้นใช้เวลาประมาณ 9 ปี ในการหาที่ดินที่เหมาะสมในการตั้งโรงงาน เพราะตามกฎหมาย ต้องเป็นที่ดินแปลงใหญ่แปลงเดียวติดกันทั้งหมด และยังมีรายละเอียดอีกมาก เช่น การต่อท่อส่งน้ำจากแม่น้ำท่าจีน ความยาว 14 กิโลเมตร มาที่บ่อเก็บน้ำของโรงงาน ซึ่งใช้เวลาเป็นปีกว่าจะสำเร็จ

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะจะเป็นศูนย์กลางการผลิตสุราส่งออกมากที่สุดของภูมิภาคนี้ แข่งกับเวียดนาม วัตถุดิบในไทยพร้อมมาก เช่น กากน้ำตาล, มันสำปะหลัง ข้าว และ ข้าวโพด กระบวนการผลิตที่ทันสมัย และต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า”

การก้าวเข้ามาในธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่ายสุรา ตะวันแดง ไม่ได้มองแค่ตลาดในประเทศแน่นอน หลังจากที่ขยายตลาดให้ครบในประเทศแล้ว เป้าหมายคือ การจับมือกับพันธมิตรเพื่อบุกต่างประเทศ

พาเดินดูกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ

บ่อน้ำขนาดประมาณ 5 แสนลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เพียงพอกับการผลิต เป็นน้ำที่ต่อท่อมาจากแม่น้ำท่าจีน เมื่อผ่านกระบวนการกรองให้สะอาด จะนำไปหมักยีสต์ และกรั่น เพื่อให้ได้สุราตามดีกรีที่ต้องการตามเวลาที่กำหนด จากนั้น จึงส่งเข้าสู่กระบวนการบรรจุ

สำหรับขั้นตอนควบคุมการผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ จะมีการเก็บข้อมูล และคำนวณตลอดเวลาว่า สุราชนิดไหนมีการผลิตและบรรจุมากน้อยเท่าใด เพื่อคาดการณ์และปรับระดับการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้อย่างแม่นยำ

สำหรับกระบวนการผลิต คาราบาวกรุ๊ป มีโรงงานผลิตขวดแก้ว ซึ่งขวดแก้วที่ใช้สำหรับ ตะวันแดง จะเป็นขวดสุราใหม่ทั้งหมด ไม่มีการใช้ซ้ำ (แปลว่าต้องรีไซเคิลผลิตใหม่ทุกครั้ง) เพื่อความสะอาดมั่นใจของผู้บริโภค กระบวนการบรรจุใช้เครื่องจักรทั้งหมด จนใส่บรรจุภัณฑ์พร้อมส่ง ราคาขาย 65 – 100 บาท ตามระดับดีกรี

สรุป

เป็นการเดินหมากธุรกิจที่ไม่ธรรมดาของ กลุ่มผู้ถือหุ้นคาราบาวกรุ๊ป ที่รู้ว่า ตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศ จำกัดทั้งราคา 10 บาท และยังอยู่ระหว่างรอขยายตลาดต่างประเทศ การแตกไลน์ธุรกิจทำกาแฟพร้อมดื่มไปก่อนหน้านี้ และครั้งนี้เปิดบริษัทใหม่ทำโรงงานผลิตและจำหน่ายสุรา ถือเป็นก้าวสำคัญ ยิ่งใช้กลยุทธ์ราคา ซึ่งน่าจะเป็นไม้เด็ดที่สุด ที่จะตีตลาดผู้บริโภคสุราได้ เชื่อว่า “เจ้าตลาดเดิม” คงไม่อยู่นิ่งเฉยแน่นอน

ข้อดีของการแข่งขันคือ ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ และประเทศชาติก็สามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ทุกคนต้องไม่ลืมคือ การบริโภคสุรา ไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพและสังคมแต่อย่างใด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา