ฝันไกลแบบ “เถ้าแก่น้อย” กับการปั้นร้าน Taokaenoi Land สู่ห้าง Don Quijote เมืองไทย

ใครเคยไปเที่ยวญี่ปุ่นคงมีแวะเสียตังที่ห้าง Don Quijote หรือ “ดองกี้” กันบ้าง เพราะเป็นที่รวมของฝากมากมายเอาไว้ และตอนนี้ “เถ้าแก่น้อย” ก็อยากทำร้านขายของฝากแบบนั้นบ้าง เพื่อตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ

ร้าน Taokaenoi Land // ภาพจากเว็บไซต์เถ้าแก่น้อย

อีกช่องทางสำคัญในการทำตลาด

“เถ้าแก่น้อย” เป็นอีกแบรนด์ขนมขบเคี้ยวที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็น Snack ของไทยไม่กี่แบรนด์ที่ไปบุกตลาดต่างประเทศได้เต็มรูปแบบ แต่รู้หรือไม่ว่ายอดขายที่ขนมสาหร่ายแบรนด์นี้ทำได้ 5,200 ล้านบาท นั้นมาจากต่างประเทศ 60% ส่วนในประเทศอยู่ที่ 40%

แต่ใช่ว่ายอดในประเทศจะมาจากผู้บริโภคชาวไทย เพราะเกือบทั้งหมดมาจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจับจ่ายในไทย ไม่ว่าจะซื้อเพื่อรับประทานเลย หรือนำกลับไปเป็นของฝากเมื่อกลับประเทศแล้ว ซึ่ง Taokaenoi Land หรือธุรกิจร้านค้าปลีกของเถ้าแก่น้อยที่ปัจจุบันมีอยู่ 13 สาขาทั่วประเทศ ก็เป็นอีกเป้าหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวเช่นกัน

อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง

ดังนั้นเมื่อ Demand กับ Supply มาเจอกันพอดี ทำให้ “ต๊อบ-อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง ตัดสินใจเดินเกมใหม่ด้วยการปรับรูปแบบธุรกิจของร้าน Taokeanoi Land เสียใหม่ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของฝากลดราคา หรือ Souvenir Discount Store เต็มรูปแบบ

ปรับใหม่สู่ Don Quijote เมืองไทย

“ปกติเราลงสาขา Taokaenoi Land ไปตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ แต่หลังจากนี้เราจะรอแค่ห้างเปิดใหม่ไม่ได้แล้ว โดยเราจะเดินโมเดลคล้ายๆ แบรนด์ Naraya นั่นคือการเปิดสาขา Stand Alone ขนาด 250 ตร.ม. ขยายจากเดิมที่อยู่ 50 ตร.ม. เพิ่มเงินลงทุนต่อสาขาจาก 1 ล้านเป็น 10 ล้าน โดยปีนี้จะเห็นแน่ๆ 1 สาขา แต่ที่ยังบอกไม่ได้”

ร้าน Don Quijote // ภาพโดย LERK [CC BY-SA 4.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0) or CC BY-SA 2.1 jp (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.1/jp/deed.en)], via Wikimedia Commons

สำหรับร้าน Taokaenoi Land ในตอนนี้นอกจากขนมสาหร่ายแบรนด์เถ้าแก่น้อยรสชาติต่างๆ ยังมีสินค้าอื่นๆ เช่นของฝากที่รับของคนอื่นมาขาย และขนมอื่นๆ ที่จ้างผลิตแล้วแปะแบรนด์เถ้าแก่น้อยเอง เช่นผลไม้อบแห้ง ซึ่งจำหน่ายได้ค่อนข้างดีกับนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย และเป็นกลุ่มสินค้าที่จำหน่ายได้ดีที่สุดในร้านอีกด้วย

ส่วนโฉมใหม่ของร้านดังกล่าวที่จะทยอยเปิดอีก 7 สาขาภายในปีนี้จะเพิ่มความหลากหลายของสินค้า จากเดิมที่เป็นสินค้าที่ไม่ใช่ Food เพียง 5% ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 40% เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เป็นร้านขายของฝากเหมือนกับ Don Quijote ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่แตกต่างด้วยเฮาส์แบรนด์ที่มีให้เลือกหลากหลายกว่า

ขนมเถ้าแก่น้อยรสชาติหมึกย่างสไปซี่ทรงเครื่อง

บุกตลาดสหรัฐฯ ชิงแชร์ 200 ล้านเหรียญ

ขณะเดียวกัน “เถ้าแก่น้อย” ยังประกาศซื้อกิจการโรงงานผลิตขนมสาหร่ายที่สหรัฐอเมริกาเป็นมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อบุกตลาดที่นั่นเต็มรูปแบบ เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดขนมขบเคี้ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยมูลค่ากว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ และขนมสาหร่ายก็มีมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แถมผู้เล่นในในตลาดยังไม่เยอะมาก

“เราเข้าไปบุกตลาดสหรัฐฯ เพราะเชื่อว่ามันมีโอกาส และน่าจะใหญ่กว่าจีนที่เราประสบความสำเร็จมาแล้ว ซึ่งการบุกนี้ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างรายได้ 10,000 ล้านบาทตามแผนภายในปี 2567 นอกจากการขยายตลาดครบ 100 ประเทศ (ปัจจุบันส่งออก 50 ประเทศ) และปั้นสินค้าอื่นๆ ขายในไทยเพิ่มเติม”

ทั้งนี้ในปี 2561 บริษัทตั้งเป้าเติบโตในเรื่องยอดขายที่ 12-15% เช่นเดียวกับปีก่อน ด้านกำไรน่าจะดีกว่าเดิม หลังผลผลิตสาหร่ายจากพาร์ทเนอร์ในประเทศจีนทำได้ดีขึ้น โดยล่าสุดใช้เงิน 40 ล้านบาทเพื่อดีง “นิชคุณ” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในแคมเปญการตลาดล่าสุด เพื่อรักษาเบอร์หนึ่งสาหร่ายปรุงรสในตลาดไทยด้วยสัดส่วน 72%

สรุป

ตลาดสาหร่ายปรุงรสในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 2,900 ล้านบาท เติบโตเรื่อยๆ ไม่ถึง 10% จึงไม่แปลกที่ “เถ้าแก่น้อย” ต้องเดินหน้าหาช่องทางรายได้ใหม่ๆ เพราะแค่อยู่ในประเทศอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว และส่วนตัวเชื่อว่าเทรนด์สุขภาพน่าจะมีส่วนทำให้การบริโภคสาหร่ายเป็นขนมขบเคี้ยวแทนวัตถุดิบอื่นๆ น่าจะกลายเป็นกระแสในอนาคตด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา