เปิดแผน “เถ้าแก่น้อยแลนด์” จากอาณาจักรสาหร่าย สู่ร้านของฝาก One Stop Shopping

นอกจากสินค้าในกลุ่มขนมแล้ว เถ้าแก่น้อยยังมีในส่วนรีเทลที่เป็นร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์สำหรับจำหน่ายสินค้าในเครือ โดยล่าสุดได้เพิ่มฟอร์แมตเถ้าแก่น้อย พลัส ขยับสู่ร้านขายของฝากแบบ One Stop Shopping

จากโชว์รูมสินค้า กลายเป็นร้านของฝากนักท่องเที่ยว

ในการสร้างแบรนด์ยุคนี้การที่จะนำแบรนด์วางขายตามช่องทางค้าปลีกอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ หลายแบรนด์ลุกขึ้นมาสร้างช่องทางการขายเป็นของตัวเองทั้งสิ้น อย่างเถ้าแก่น้อย ได้ปั้นร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์เพื่อหวังเป็นอีกหนึ่งช่องทางขายให้เข้าถึงผู้บริโภค

เถ้าแก่น้อยแลนด์ได้เริ่มต้นเมื่อปี 2553 หรือ 8 ปีที่แล้ว เปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ โดยที่ต๊อบ อิทธิพัทธ์ได้บอกว่าจุดเริ่มต้นตอนนั้นต้องการเปิดเป็นโชว์รูมให้คนไทยได้เห็นสินค้าของเถ้าแก่น้อยมากขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มมีเทรนด์นักท่องเที่ยวมาประเทศไทยแล้วซื้อของไทยกลับไป ก็เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวซื้อเถ้าแก่น้อยกลับไปด้วย

จุดเปลี่ยนที่สำคัญอยู่ที่การเปิดสาขาที่เทอมินัล 21” เมื่อปี 2555 ต็อบบอกว่าถือเป็นการเปิดในช่วงที่เหมาะสมมากเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเยอะมีเทรนด์คนมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้นเพราะหลังจากเกิดวิกฤตน้ำท่วมไปแล้ว

จึงทำให้เถ้าแก่น้อยทำการปรับกลยุทธ์ในการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพระาได้เห็นดีมานด์คนซื้อเถ้าแก่น้อยมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทเติบโตมาตลอดทุกปี

ในร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ได้จำหน่ายสินค้าในเครือของเถ้าแก่น้อย ขนมต่างๆ เวย์โปรตีน รวมถึงของฝากอื่นๆ ที่มีคนฝากขายด้วย จับโลเคชั่นตามสถานที่ท่องเที่ยว หรือจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะ

ผุดเถ้าแก่น้อย พลัส อัพเกรดสินค้า Non-food

หลังจากเปิดเถ้าแก่น้อยแลนด์มาได้ครบ 8 ปีแล้ว ในปีนี้ก็ถึงเวลาที่อัพเกรดโมเดลใหม่เถ้าแก่น้อยแลนด์ พลัสที่มีขนาดใหญ่กว่า สินค้าเยอะกว่า เป็นร้านของฝากคอนเซ็ปต์ One Stop Shopping ชนิดที่ว่านักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วได้ของครบทุกอย่าง ประเดิมสาขาแรกที่เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์

อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า

คอนเซ็ปต์ของเถ้าแก่น้อยแลนด์ พลัส จะมีของทุกอย่างไม่ใช่แค่ขนมของเถ้าแก่น้อย แต่จะมีของที่ระลึกอื่นๆ ที่คนจีนต้องการ เช่น สมุนไพร เฮลท์แคร์ สกินแคร์ สินค้าเพื่อสุขภาพ เพราะตั้งแต่เปิดมาจะเห็น Pain Point ของลูกค้าว่าพอมาซื้อของที่ร้าน แล้วจะต้องไปซื้อของที่ระลึกอื่นๆ ต่อที่อื่น เลยต้องการทำให้ร้านเป็น One Stop Service เลย

ต๊อบบอกว่าปกติลูกค้าจะใช้เวลาในการช้อปปิ้งในร้านเฉลี่ย 20-30 นาที แต่อยากให้ใช้เวลานานมากกว่า 30 นาที เลยต้องsาคอนเทนต์อื่นๆ มาเติมให้หลากหลาย มีการศึกษาพฤติกรรมลูกค้าว่าชอบอะไร Journey ของลุกค้าส่วนใหญ่จะซื้อขนมแล้วต้องซื้อสกินแคร์ ยาดม สมุนไพรอื่นๆ

รวมถึงการหาอะไรทานเพิ่มเติมด้วยในสาขาต่อๆ ไปอาจจะมีโซนปรุงอาหารสดๆ ภายในร้าน มีมุมนั่งพักนั่งทานเล้กๆให้ใช้เวลาในร้านมากขึ้น

เถ้าแก่น้อยแลนด์ พลัสจะมีพื้นที่ร้านเฉลี่ย 150-300 ตารางเมตร ใช้งบลงทุนเฉลี่ย 5-10 ล้านบาท/สาขา ในขณะที่เถ้าแก่น้อยแลนด์สาขาปกติจะมีพื้นที่ขนาด 50-150 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 2-3 ล้านบาท และยังมีโมเดลเถ้าแก่น้อยแลนด์ มินิมีพื้นที่ขนาด 20-50 ตารางเมตร แต่มีเพียง 2 สาขาเท่านั้น

จำนวนสินค้าภายในร้านก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากเดิมมี 1,000 รายการ ได้เพิ่มอีก 1,000 รายการ แบ่งสัดส่วนสินค้าเป็นกลุ่มอาหาร 60% และ Non-food 40% และภายในร้านเป็นสินค้าของเถ้าแก่น้อย 20%

การมีสินค้าเพิ่มมากขึ้นทำให้ลุกค้าใช้จ่ายมากขึ้นเช่นกัน มีการเติบโต 20% หรือมีการใช้จ่าย 600 บาท/บิล ตั้งเป้า 800-1,000 บาท/บิล

ใน 4 ปีต้องมี 100 สาขา

ปัจจุบันมีเถ้าแก่น้อยแลนด์รวม 20 สาขา และมีเถ้าแก่น้อยแลนด์ พลัส 1 สาขา เป้าหมายคืออยากมี 100 สาขาภายใน 4 ปี แบ่งเป็นโมเดลเถ้าแก่น้อยแลนด์พลัส 40 สาขา เถ้าแก่น้อยแลนด์ 30 สาขา และเถ้าแก่น้อยแลนด์ มินิ 30 สาขา

โดยโจทย์ใหญ่คืออยากเปิดสาขาให้ครอบคลุมในประเทศไทย และจะเจาะพื้นที่สนามบินเพิ่มมากขึ้น เป็นร้านขายของที่ระลึกที่ครอบคลุมทุกจุดในประเทศไทย

ในปี 2560 เถ้าแก่น้อยมีรายได้รวม 5,200 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ต่างประทเศ 60% ในประเทศ 40% ส่วนเถ้าแก่น้อยแลนด์มีรายได้ 300 ล้านบาท ตั้งเป้าใน 4 ปีมีรายได้ 1,000 ล้านบาท

สรุป

ในช่วงหลายปีที่ผานมาเถ้าแก่น้อยมีการปรับตัวอย่างหนักทั้งในเรื่องสินค้าที่มีการแตกไลน์ไปยังกลุ่มอื่นมากขึ้นเพราะตลาดขนมไม่ค่อยเติบโตการบุกตลาดรีเทลก็ถือว่าสนใจไม่น้อยโดยเฉพาะการเจาะตลาดท่องเที่ยวเพราะเป็นตลาดที่มีการเติบโตขึ้นทุกปี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา