สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์สำหรับ Premier League ปีที่ผ่านมาคือ Leicester City สามารถคว้าแชมป์ได้ และนั่นทำให้ KING POWER เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา CEO ของ KING POWER บอกว่า ในแง่ของการลงทุนเข้าไปซื้อทีมฟุตบอล ยังไม่คืนทุน
ถ้า Leicester City สามารถอยู่ใน Premier League ต่อได้อีก 2-3 ฤดูกาล ตอนนั้นน่าจะเริ่มทำกำไรได้ ดังนั้นสิ่งที่เป็นธุรกิจหลักของ KING POWER คือ Duty Free และมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะต้องติด TOP5 ของโลกให้ได้ใน 5 ปี
ลงทุน 12,500 ล้านบาท ขยายธุรกิจ Duty Free
อัยยวัฒน์ บอกว่า การจะยกระดับให้ KING POWER ขึ้นเป็น TOP5 ของโลก จากปัจจุบันอยู่อันดับ 7 และยังทำยอดรายได้ต่อปีห่างจากที่ 6 อยู่เป็นหมื่นล้านบาท ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีทางเป็นไปได้ อันดับแรกต้องมองว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของ KING POWER คือ 1. คนจีน 2. คนไทย และ 3. คนต่างประเทศอื่นๆ ดังนั้นการลงทุนจากนี้ต้องเพื่อรับลูกค้าเหล่านี้เป็นหลัก
อันดับแรกคือ KING POWER ทั้ง 9 สาขา ต้องกระจายตัวอยู่ในทุกจุดที่มีนักท่องเที่ยว คือ สนามบิน และในเมืองซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวไป ต้องมีการ renovate พื้นที่ใหม่ให้ทันสมัย ดูหรูหรา ล่าสุดเตรียมปรับปรุงสาขาซอยรางน้ำใหม่ ใช้งบ 2,500 ล้านบาท เริ่มต้นปลายเดือน เม.ย. นี้ นอกจากความทันสมัยแล้ว จะมีแบรนด์สินค้าใหม่ๆ มาเพิ่ม 7-8 แบรนด์ด้วย รวมถึงแบรนด์สินค้าของไทยด้วย ขณะที่แผนขยายสาขาอื่นๆ เพิ่ม เช่น ที่ สนามบินอู่ตะเภา โดยอยู่ระหว่างรอทางทหารเรือเปิดสัมปทาน
รวมถึงการลงทุนพัฒนาระบบออนไลน์ ซึ่ง KING POWER มองว่า e-Commerce เป็นรูปแบบบริการสำหรับนักเดินทาง คือ ไม่มีเวลาไปเดินซื้อสามารถสั่งออนไลน์แล้วไปรับที่สนามบิน เพิ่มความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยว โดยระบบน่าจะเสร็จสมบูรณ์ประมาณปลายปีนี้
ฟิลิปปินส์ – พม่า เป้าหมายขยายสาขาต่างประเทศ
การจะยกระดับรายได้ของ KING POWER รายได้จากในประเทศยังเป็นส่วนหลัก โดยปีที่ผ่านมาของ KING POWER อยู่ที่ 75,000 ล้านบาท พลาดเป้าไปจากที่ตั้งไว้ 86,000 ล้านบาท ซึ่งผลกระทบหลักมาจากการจับกุมนักท่องเที่ยวจีน ทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่ง KING POWER มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ต้องทำให้ถูกกฎหมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่า KING POWER ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ก็กระทบจากเศรษฐกิจของคนไทยเอง และนักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ ม.ค. 60 เห็นว่ากระแสเริ่มกลับมาแล้ว
อีกส่วนคือ การขยายธุรกิจ Duty Free ออกต่างประเทศ โดยเป้าหมายหลักคือ ประเทศในอาเซียน โดยมีเป้าหมายแรกคือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีกฎหมายแล้วและมีการติดต่อเข้ามาให้ไปร่วมประมูลงาน โดยฟิลิปปินส์ มีกฎหมายอนุญาตให้แรงงานที่กลับบ้าน (ฟิลิปปินส์ส่งออกมาแรงงานจำนวนมาก เช่น กลุ่มแม่บ้าน) ซื้อสินค้าปลอดภาษีได้ 2,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 60,000 บาท เป็นเวลา 60 วัน ถือว่ามีโอกาสที่ KING POWER จะเข้าไปทำธุรกิจมากที่สุด
อีกประเทศคือ พม่า ที่ถือว่าเป็นตลาดน่าสนใจและกำลังเปิดประเทศ แต่ติดเรื่องกฎหมายยังไม่ชัดเจนอาจเป็นเป้าหมายต่อไป ส่วนประเทศในยุโรปไม่ใช่เป้าหมายเลย เพราะราคาสินค้าใน Duty Free กับในเมืองต่างกันน้อยมาก
ขอเวลา 5 ปีขึ้น TOP5 Duty Free ทั้งเรื่องรายได้ และภาพลักษณ์
ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย KING POWER น่าจะมีการเติบโตในปีนี้ประมาณ 20% เป็นรายได้ประมาณ 90,000 ล้านบาท และถ้ารักษาอัตราการเติบโตไว้ที่ 20% ได้เรื่อยๆ ใน 5 ปี น่าจะขึ้น TOP5 ของโลกได้
อัยยวัฒน์ บอกว่า ธุรกิจ Duty Free มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ตามกระแสของคนที่เดินทางกันมากขึ้น และโชคดีมากที่ไทยก็หนึ่งในเป้าหมายอันดับต้นๆ ของการเดินทางของนักท่องเที่ยว ยิ่งล่าสุด จีนมีปัญหากับเกาหลีใต้ ทำให้คนจีนเดินทางมาไทยมากขึ้น
นอกจากเรื่องรายได้แล้ว ส่วนที่สำคัญอีกส่วนคือ ภาพลักษณ์ของ KING POWER ที่ต้องเป็น Duty Free ที่นักท่องเที่ยวอยากมาเดิน อยากมาจับจ่ายใช้สอย สอดคล้องกับหลายส่วนที่มีการทำตลาด เช่น การเป็นแบรนด์สนับสนุนทีม Leicester City ก็มีส่วนช่วยสร้างแบรนด์ให้อย่างที่หาค่าไม่ได้ สร้างความน่าเชื่อถือ, การเข้าถือหุ้น AirAsia ทำให้เข้าถึงนักเดินทางได้มากขึ้น
สรุป
อัยยวัฒน์ บอกวา่ การทำธุรกิจ Duty Free ถ้ามีการเปิดประมูลสัมปทานรอบใหม่ต้องพร้อมเสมอ เช่น รอบหน้าถ้า AOT เปิดก็ต้องเข้าร่วมทันที เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงอาจจะได้บริหารพื้นที่ทั้งหมด หรือ บางส่วนก็ได้ เช่นที่สนามบินดอนเมือง KING POWER ก็ไม่ได้ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ แนวทางคือ ต้องลงทุนในแนวทางที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ Duty Free อย่างต่อเนื่อง เช่น การหาทำเลใหม่ทั้งในและต่างประเทศ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา