บุกสำนักงานใหญ่ Rakuten คุยเรื่องเคล็ดลับการทำงานในแดนซามูไรกับ 4 คนไทยในญี่ปุ่น

ชื่อของ Rakuten คนไทยที่เป็นสาย e-Commerce ต้องคุ้นเคยดีเพราะเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Tarad.com เว็บ e-Commerce อันดับต้นๆ ในประเทศไทย ก่อนจะเปลี่ยนนโยบายถอนทัพกลับไป แต่ Rakuten ในประเทศญี่ปุ่น ยังคงความยิ่งใหญ่ ให้บริการแทบทุกอย่างบนโลกออนไลน์และดิจิทัลในดินแดนแห่งดอกซากุระ

แม้ Rakuten จะเป็นบริษัทที่ใหญ่มากแล้ว แต่ก็ยังคงขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นคือ ทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถจากทั่วโลก รวมถึงคนไทย ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ทำงานอยู่ที่นั่น และในโอกาสนี้ Brand Inside ก็ได้เดินทางไปเยือนถึงสำนักงานใหญ่ อาคาร Rakuten Crimson House พร้อมกับพูดคุยถึงการทำงานในต่างแดน

ความหลากหลาย (Diversity) คือหัวใจของเทคโนโลยี

เริ่มต้น ทีมงาน BI ได้สัมภาษณ์ Francois Bergeron ผู้จัดการทีมสรรหาบุคลากร ของ Rakuten มาบอกเล่าถึงแนวทางในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานว่า สิ่งที่ Rakuten มองหาคือความหลากหลาย (Diversity) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในบริษัทเทคโนโลยี ดังนั้นเชื้อชาติจึงไม่ใช่ปัจจัยหลัก ขอเพียงเป็นคนที่มีความสามารถ นั่นคือสิ่งที่ Rakuten ต้องการ

Francois Bergeron ผู้จัดการทีมสรรหาบุคลากร ของ Rakuten

ที่นี่มากกว่า 70 ธุรกิจในเครือ ทั้งฝ่ายไอทีเทคโนโลยี, ฝ่ายการขาย, ฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งความหลากหลายของคนในองค์กร จะช่วยสร้างความหลากหลายและแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะ Rakuten จะตัดสินใจเลือกคนเข้ามาทำงาน ก็ต้องเป็นคนที่สามารถปรับตัวได้ดีกับวัฒนธรรมองค์กรที่มีความหลากหลายด้วย เพราะ ถ้าคุณกำลังจะมาทำงานที่ญี่ปุ่น แปลว่าคุณกำลังออกจากประเทศบ้านเกิดของตัวเอง มาสู่สิ่งที่เรียกว่า Global Environment

“ที่ Rakuten ไม่ใช่ Japanese Traditional และไม่ใช่ Western Style แต่เป็น Global Environment เกิดจากการหลอมรวมของคนที่แตกต่างกัน ดังนั้น ถ้าคุณคือคนที่มีความสามารถ และสามารถปรับตัวกับความหลากหลายได้ ที่นี่ยินดีต้อนรับ”

เริ่มต้นคุยกับ 4 คนไทยใน Rakuten

หลังจากคุยเรื่องนโยบายในการรับสมัครคนแล้ว ก็ต้องคุยกับตัวแทนคนไทย 4 คนที่ได้มาทำงานที่ Rakuten เพื่อเป็นแนวทางให้กับใครที่สนใจอยากมาทำงานไกลในต่างแดนบ้าง ประกอบด้วย อมรศักดิ์ เจียรมณีงาม (น้ำพุ) ดูแลด้าน social platform, ญาณรักข์ วรรณสาย (ณาณ) ดูแล Security คุมแฮคเกอร์กว่า 20 คนจากทั่วโลก, วรจรัส มัญชุนากร (เต้) ทำงานสาย Business (ซึ่งคนที่ไม่ใช่สายไอทีจะต้องสนใจ) และ ณัฐภูมิ อมรพัชระ (ภูมิ) ทำงานด้าน front end engineer ให้เกียรติมานั่งพูดคุยกัน

สำหรับการทำงานใน Rakuten นั้น แน่นอนว่าด้วยบริษัทที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น ดังนั้นการสามารถ ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาญี่ปุ่นได้บ้าง จะทำให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่ในการทำงานที่นี่ใช้ภาษาอังกฤษตลอดเวลา เนื่องจากบุคลากรภายในมาจากทั่วโลก มีความหลากหลายสูงมาก แสดงให้เห็นว่านอกจากความสามารถในด้านการทำงานแล้ว ความสามารถในการเข้าสังคม การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม ก็สำคัญไม่แพ้กัน

และแม้ว่า Rakuten จะมีความเป็น Global Environment แต่พื้นฐานมาจากผู้ก่อตั้งที่เป็นคนญี่ปุ่น ดังนั้นความเข้มงวดในการทำงานสไตล์คนญี่ปุ่น ก็จะมีอยู่เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจหากขั้นตอนการทำงานจะมี Double Checklist เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีในการทำงาน

จากซ้ายไปขวา: วรจรัส มัญชุนากร (เต้), ณัฐภูมิ อมรพัชระ (ภูมิ), ญาณรักข์ วรรณสาย (ณาณ), และ อมรศักดิ์ เจียรมณีงาม (น้ำพุ)

วัฒนธรรม Rakuten สร้างสังคมการทำงานร่วมกัน

กล่าวได้ว่าที่ Rakuten มีวัฒนธรรมการทำงานเป็นของตัวเอง ทั้ง 4 คนเล่าให้ฟังว่า แต่ละทีมจะมีการทำงานเฉพาะของตัวเอง แต่ทุกวันอังคารตอนเช้า จะเป็นการประชุมรวมของทั้งบริษัท เรียกว่า Asakai โดยมี Hiroshi Mikitani, CEO ของ Rakuten มาพูดถึงทิศทาง ความคืบหน้าของโครงการต่างๆ และเรื่องที่เกี่ยวกับบริษัทในภาพรวม และเปิดโอกาสให้พนักงานได้ถามได้โดยตรง และยังมีการรายงานการดำเนินงานของบริษัทในเครือที่อยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศด้วย

เป็นการสร้างความชัดเจน และเข้าใจร่วมกันของพนักงานในบริษัท ยังแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสของ Rakuten ด้วย

อีกทั้งยังมีระบบ Lunch Meeting คือพนักงานทุกคนสามารถ “ชวน” พนักงานคนอื่นๆ ในแผนกตัวเอง หรือต่างแผนก ไปกินข้าวกลางวัน เพื่อทำความรู้จักกันได้ (อยากรู้จักสาวๆ คนไหน ก็ Invite ได้เลย)

นอกจากนี้ ถ้าเริ่มต้นทำงานไปแล้ว รู้สึกว่าไม่โอเค หรือเกิดสนใจงานด้านอื่นๆ สามารถติดต่อฝ่าย HR เพื่อขอให้มีการ rotation ไปแผนกอื่นๆ เพื่อเรียนรู้งานได้ในแผนกที่แตกต่างกันไป เอื้อให้ทุกคนได้มีโอกาสพัฒนาตัวเอง และมีความก้าวหน้าในการทำงานได้ดีขึ้น

ฝากทิ้งท้าย คำแนะนำสำหรับคนที่อยากมาทำงานญี่ปุ่น

สำหรับคนที่อยากมาทำงาน หาประสบการณ์ พัฒนาตัวเอง ที่แดนปลาดิบ ซึ่งทั้ง 4 คนมองว่า เป็นประเทศที่น่าอยู่ อาหารอร่อย คนก็น่ารักคล้ายประเทศไทย และมีความปลอดภัยสูง ถ้าอยากมาทำงานไม่ยาก แค่ต้องเก่งภาษาอังกฤษมากๆ เพราะใช้ในการทำงานตลอด ถ้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำในญี่ปุ่น โอกาสได้งานยิ่งสูง จากนั้นก็แค่เปิด http://global.rakuten.com/corp/careers/ ดูตำแหน่งงานที่สนใจและสมัครมาได้เลย

ความท้าทายอย่างยิ่งของการทำงานที่ญี่ปุ่น คือ เป็นตลาดขนาดใหญ่ของเอเชียมีเรื่องให้เรียนรู้เยอะ ถ้าสามารถทำงานกับลูกค้าญี่ปุ่น ซึ่งมีความละเอียดในการทำงานแล้ว ต่อไปไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหน ก็สามารถผ่านไปได้อย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา