แบรนด์ TAKEO KIKUCHI อาจจะไม่คุ้นหูคนไทยมากนัก แต่นี่คือแบรนด์เสื้อผ้าชายที่ติดอันดับท็อปจากญี่ปุ่น ออกแบบโดยดีไซเนอร์ ทาเคโอะ คิคูชิ (ชื่อเดียวกับแบรนด์) ด้วยยอดขาย 13,000 ล้านเยนต่อปี มีครอบคลุมทุกสไตล์ ถ้าย้อนกลับไปแล้ว TAKEO KIKUCHI ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 ถึงปัจจุบันมีอยู่ 126 สาขาในญี่ปุ่น และอีก 5 สาขาในไต้หวัน และด้วยการมองเห็นว่า แฟชั่นการแต่งตัวของผู้ชายในประเทศไทย เริ่มมีการยอมรับมากขึ้น จึงได้ขยับธุรกิจเข้ามาเปิดในประเทศไทย
TAKEO KIKUCHI อยู่ภายใต้บริษัท เวิลด์ มีทั้งเครื่องแต่งกาย รองเท้า กระเป๋า และเครื่องประดับ แต่สินค้าหลักคือ ชุดสูท ที่ผ่านการออกแบบอย่างดี เลือกวัตถุดิบที่พิถีพิถัน และใช้เทคโนโลยีการผลิตจากญี่ปุ่น ซึ่งภายในบริษัท เวิลด์ ยังมีแบรนด์อื่นๆ อีกกว่า 100 แบรนด์
การเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย TAKEO KIKUCHI ได้ร่วมลงทุนกับเครือสหพัฒน์ ตั้งบริษัทร่วมทุน เวิลด์ สหแฟชั่น เพื่อทำตลาดแบรนด์ TAKEO KIKUCHI รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ในอนาคต เพราะเห็นว่า เครือสหพัฒน์ มีความชำนาญในตลาดนี้ และมีโอกาสขยายไปทำตลาดประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
บุญยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ บอกว่า ปีนี้เศรษฐกิจไม่ดี จึงเหมาะมากในการเริ่มลงทุนเพราะจะมีคู่แข่งน้อย และไม่ต้องคาดหวังกับการเติบโตและเป้าทางธุรกิจมากนัก แต่จะเน้นค่อยๆ สร้างการรับรู้ และสร้างฐานลูกค้า โดยมีแผนที่จะเปิดช็อปในช่วงต้นปี 60 เริ่มจากการนำเข้าเสื้อผ้าจากญี่ปุ่น พร้อมกับศึกษาและพัฒนาเสื้อผ้าในประเทศไทยไปด้วยกัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 – 3,000 บาท ตั้งเป้าที่จะเปิดร้านประมาณ 6-8 สาขาต่อปี
เมื่อมองตลาดสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นผู้ชาย ซึ่งยังมีการเติบโตอยู่ เทียบกับตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นโดยรวมที่ไม่มีการเติบโต พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้ชายใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น และมีการเลือกใส่เสื้อผ้าที่เป็นแฟชั่น แต่ในตลาดตอนนี้มีแบรนด์จากยุโรปเป็นส่วนใหญ่ โดยในเซ็กเม้นท์นี้ยังไม่มีแบรนด์จากญี่ปุ่น จึงเป็นโอกาสของ TAKEO KIKUCHI
ยิ่งเมื่อเทียบกับเสื้อผ้าแฟชั่นผู้หญิงแล้ว ผู้หญิงจะมีความหลากหลายของแบรนด์ แต่ผู้ชายจะเปลี่ยนแบรด์ยาก ดังนั้นการทำตลาดจะยากกว่า ต้องค่อยๆ ทำตลาด จะได้ผลดีในระยะยาว ซึ่ง เครือสหพัฒน์จะเน้นทำตลาดในประเทศไทยก่อน และมีแผนสำหรับขยายไปประเทศอื่นๆ ในอาเซียน รวมถึงการขายผ่านช่องทาง e-Commerce
บทสรุป
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นผู้ชายในประเทศไทย โจทย์แรกต้องสร้างการรับรู้ให้ได้ก่อน แบรนด์ TAKEO KIKUCHI ชื่อค่อนข้างยาวและไม่คุ้นหู อีกทั้งต้องแข่งกับคู่แข่งในตลาดที่มีอยู่ไม่น้อย ต้องรอดูการเดินเกมของเครือสหพัฒน์ ว่าจะช่วยสร้างแบรนด์และสร้างยอดขายได้มากน้อยแค่ไหน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา