TABBA เรียกร้องรัฐบาลแก้ไขมาตรา 32 โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลายเรื่องคลุมเครือ ไม่ชัดเจน

สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เรียกร้องรัฐบาลต้องทบทวน-แก้ไขมาตรา 32 เกี่ยวกับโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในประเด็นที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือ ไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์ต่อผู้ชี้เบาะแสและเจ้าหน้าที่

ธนากร คุปตจิตต์ - นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA
ธนากร คุปตจิตต์ – นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA

สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายมาตรา 32 เกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในประเด็นที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือ ไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์ต่อผู้ชี้เบาะแสและเจ้าหน้าที่ เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ พร้อมขอให้ยกเลิกกฎหมายห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่งประกาศไปล่าสุด ซึ่งกฎหมายดังกล่าวล้วนส่งผลเสียและกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม เป็นการซ้ำเติมความบอบช้ำจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและจากการระบาดของ COVID-19 ให้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย วิเคราะห์ถึงปัญหาของมาตรา 32 ว่า มาตราดังกล่าวมีความล้าสมัยเนื่องจากถูกบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2551 ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไป มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ โดยอาศัยการตีความและดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่มีมาตรฐานชัดเจน เปิดช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

ขณะเดียวกันมาตรา 32 ยังคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการสื่อสารและการแสดงความคิดเห็น ขณะที่เรื่องประเด็นเรื่องค่าปรับนั้นก็กำหนดไว้สูงอย่างไม่สมเหตุสมผลตั้งแต่ 5 หมื่นบาท – 5 แสนบาท รวมถึงเรื่องสินบนรางวัลที่เจ้าหน้าที่และผู้แจ้งเบาะแสจะได้ส่วนแบ่งพร้อมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานถึง 80% ของจำนวนค่าปรับ แต่เงินเข้ากระทรวงการคลังเพียง 20% ของค่าปรับเท่านั้น และตัวสินบนรางวัลอาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่ชอบธรรมในกระบวนการยุติธรรม

นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ได้ยกตัวอย่างหลายๆ ผู้ประกอบการเช่น โยษิตา บุญเรือง ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไวน์ OTOP ได้ทำแผ่นพับแสดงถึงแหล่งที่มาผลิตไวน์ที่นำไวน์ของกลุ่มไปเข้าประกวด รวมไปถึงการแนะนำให้ดื่มไวน์คู่กับอาหารต่างๆ รวมไปถึงองุ่ที่นำมาผลิต แต่เจ้าหน้าที่ได้ขอดูแผ่นพับก่อนที่จะเธอถูกจับ แม้จะได้รับการลดหย่อนโทษปรับเหลือ 50,000 บาท พร้อมรอลงอาญา 2 ปี ในภายหลัง แต่ความเดือดร้อนในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และต่อชุมชน ตลอดจนเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบ

ทางด้านผู้ประกอบการบางรายก็เป็นธุรกิจรายเล็กๆ เช่น ร้านลาบลุงยาว ที่เป็นข่าวโด่งดังถึงข้อกฎหมายนี้ ขณะเดียวกันคดีที่ผู้ประกอบการรายหลายๆ ที่โดนมาตรา 32 เองก็โดนเล่นงานจากความคลุมเครือของกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ธนากร ยังได้กล่าวถึงเรื่องของการขายแอลกอฮอล์บนช่องทางออนไลน์ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้คือ 7 ธันวาคม คือการห้าม เหตุผลในการออกประกาศคือเพื่อเป็นการป้องกันเยาวชนจากการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเขาเองมองว่าตัวของรัฐสามารถควบคุมการขายบนช่องทางออนไลน์ได้ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วหลายๆ เว็บไซต์ต้องกรอกชื่ออายุ หรือแม้แต่ตรวจสอบข้อมูลผู้ซื้อ การทำธุรกรรมซื้อขาย ตลอดจนการจัดส่งสินค้าย้อนหลังได้ ห้ามขายออนไลน์-ส่งมอบในช่วงเวลาไหน ฯลฯ

นอกจากนี้การห้ามซื้อขายออนไลน์เองก็ถือว่าขัดกับรัฐส่งเสริมให้ไม่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งๆ ที่รัฐบาลสามารถควบคุม COVID-19 ได้ดี และการขายบนช่องทางออนไลน์นั้นช่วยให้ประชาชนสามารถอยู่ในบ้าน โดยไม่ต้องออกมาซื้อสินค้าในที่พลุกพล่าน

ธนากร ยังชี้ว่ารัฐเองควรที่จะให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเยาวชนยังสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากช่องทางอื่นได้ แม้ไม่มีการจำหน่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์ และยังได้กล่าวเสริมว่า “ผู้ประกอบการยินดีจะปฏิบัติตามกฎหมาย หากกฎหมายนั้นเป็นธรรม ชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยจะเห็นได้ว่าเราให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการปฏิบัติตามนโยบายในช่วงวิกฤตของการแพร่ระบาดช่วง COVID-19 แต่กฎหมายดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม เกินความจำเป็น ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ และส่งผลเสียต่อหลายฝ่าย”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ